แนวโน้มไข้เลือดออก-มาลาเรียสูงขึ้น แนะกำจัดยุงถูกวิธีเน้นที่ต้นเหตุ
กรมควบคุมโรค เผยแนวโน้มผู้ป่วยไข้เลือดออกและมาลาเรียสูงขึ้นในปี 2566 แนะนำให้กำจัดยุงอย่างถูกวิธีต้องเน้นที่ต้นเหตุ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีโดยไม่จำเป็น พร้อมแนะหากมีอาการป่วยไม่ซื้อยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) มารับประทานเอง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรคไข้เลือดออก และโรคมาลาเรีย ข้อมูลจากรายงานในปี 2565 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 45,145 ราย ซึ่งมากกว่าปี 2564 ถึง 4.5 เท่า อีกทั้งยังพบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกยืนยันถึง 31 ราย ส่วนโรคไข้มาลาเรีย ข้อมูลจากระบบมาลาเรียออนไลน์ในปี 2565 พบผู้ป่วยสะสม 10,174 ราย สูงกว่าปี 2564 ถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566 โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี ส่วนใหญ่พบเป็นชาวต่างชาติ และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย โรคไข้ปวดข้อยุงลายพบผู้ป่วยสะสม 1,370 ราย ถึงแม้จะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตแต่จำนวนผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายนั้นสูงกว่าปี 2564 ถึง 2 เท่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาพบผู้ป่วยสะสม 66 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 20 ราย นอกจากนี้ยังพบทารกศีรษะเล็ก 1 ราย และโรคเท้าช้างพบผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 4 ราย
นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยุงในประเทศไทยมีหลายชนิด ชนิดที่พบเป็นพาหะนำโรค ได้แก่ ยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า ยุงก้นปล่องพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย ยุงเสือพาหะนำโรคเท้าช้าง และยุงรำคาญ พาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ และโรคเท้าช้างบางประเภท ซึ่งยุงพาหะแต่ละชนิดมีชีวนิสัยและแหล่งเพาะพันธุ์ที่แตกต่างกัน วงจรชีวิตของยุงจะมี 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ลูกน้ำ ตัวโม่ง และตัวเต็มวัย โดยระยะตัวเต็มวัยเพศเมียเป็นระยะที่กินเลือด เพื่อใช้ในการพัฒนาไข่ของยุง จึงทำให้เกิดการแพร่โรคติดต่อนำโดยยุงได้ การป้องกันควบคุมโรคให้ประสบผลสำเร็จ จะต้องมีมาตรการทั้งในมิติของคน เชื้อโรค ยุงพาหะ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้หลายๆ วิธีการร่วมกัน
เช่น การลดแหล่งเพาะพันธุ์ โดยการจัดการสิ่งแวดล้อม การป้องกันไม่ให้ยุงกัด การใช้สารเคมีในการกำจัดยุง โดยเฉพาะในกรณีเกิดการระบาดของโรค และหากมีอาการป่วยหรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคติดต่อนำโดยยุงต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ซื้อยากินเองโดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย ยากต่อการรักษา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
แพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้สารเคมีในการป้องกันควบคุมยุงพาหะนำโรค เช่น การพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดยุงตัวเต็มวัย มีความจำเป็นในการหยุดการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้กระจายเป็นวงกว้าง และเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมีเชื้อไปกัดและแพร่โรคให้คนอื่นต่อไป ซึ่งการพ่นสารเคมี ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ทันท่วงที และได้มาตรฐาน ในขอบเขตการระบาดของโรค นอกจากนี้ ต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำเพื่อป้องกันยุงตัวใหม่เกิดขึ้น โดยการพ่นนั้นต้องเลือกใช้สารเคมีและความเข้มข้นตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่พ่นบ่อยครั้งโดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันการดื้อของยุงต่อสารเคมี ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการควบคุมโรคในอนาคต
และจากกระแสข่าวที่มีนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นนำเสนอรายงานวิจัยว่ายุงในพื้นที่ประเทศเวียดนาม และกัมพูชา มีการดื้อต่อสารเคมีในกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethroid) นั้น เป็นการศึกษาเพื่อเป็นการเตือนให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชีย ตระหนักในการติดตามเฝ้าระวังยุงในพื้นที่ว่ามีการดื้อต่อสารเคมีหรือไม่ และเสนอให้มีการสลับสับเปลี่ยนสารเคมีกำจัดแมลงในการควบคุมยุง ในส่วนกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ได้ศึกษาประสิทธิภาพของสารเคมีกลุ่มไพรีทรอยด์ ที่ใช้ในการกำจัดยุงลายบ้าน ด้วยวิธีการพ่นหมอกควันและพ่น ULV จำนวน 12 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก พิจิตร นครปฐม ฉะเชิงเทรา มหาสารคาม อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี พังงา สงขลา และกรุงเทพมหานคร พบว่าสารเคมียังมีประสิทธิภาพในการควบคุมยุงลายบ้านได้ดี สามารถฆ่ายุงลายบ้านได้มากกว่า 90% ทั้งนี้ ประเทศไทยได้แนะนำให้ใช้สารเคมีกำจัดแมลงสูตรผสมและใช้ความเข้มข้นตามมาตรฐาน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดยุงได้อยู่แล้ว หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422