WHO จับตา '4 สายพันธุ์โควิด-19' ในไทยก็เจอ
WHO จับตา 4 สายพันธุ์โควิด-19 กรมวิทย์อัปเดต ในไทย พบบางตัว แต่ยังไม่พบ XBB.1.5ที่เจอมากในสหรัฐ หลักในไทยยังเป็นโอมิครอนBN.1.3 ส่วนผลสุ่มตรวจคนออกจากไทยไป 4 ประเทศอัตราลดลง จีนมากสุด 4 %
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2566 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าว อัปเดตสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ พบสายพันธุ์ BA.2.75 เป็นส่วนใหญ่ คิดเป็น 87.2% เหลือ BA.4/5อยู่เล็กน้อยไม่ถึง 10 % และเป็นตัวอื่นๆอีก 4 %
ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังให้ความสำคัญกับการติดตามโอมิครอน 4 สายพันธุ์จากพื้นฐานของข้อมูลการเพิ่มความชุกหรือความได้เปรียบด้านอัตราการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ และการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการได้เปรียบในการก่อโรค
โดยในช่วงเดือน ม.ค.2566 จากฐานข้อมูลสากล GISAID พบว่า 4 กลุ่มที่พบมากกว่าสายพันธุ์อื่น คือ
- BF.7 ทั้งโลกมีประมาณ 4.6% ทั้งโลก ซึ่งเคยเจอในประเทศไทยเล็กน้อย
- BQ.1 และลูกหลาน ทั้งโลก 46.9% ลูกหลานที่พบมากสุดคือ BQ.1.1 ประมาณ 28.9%
- BA.2.75 และลูกหลาน ภาพรวมทั้งโลกเหลือประมาณ 13.9% ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลในประเทศไทย
- XBB และลูกหลาน รวมถึง XBB.1.5 อยู่ที่ประมาณ 16.3%
สำหรับ สายพันธุ์ CH.1.1 ที่น่าสนใจเนื่องจากอาจจะหลบภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB)ได้พอสมควร หรือใช้กับมันไม่ค่อยได้ผล ซึ่งเกิดมานานแล้ว ตั้งแต่ ก.ค. 2565 และเจอมากขึ้นในตอนนี้ 67 ประเทศ รวมถึง ประเทศไทยด้วย โดยตัวนี้เป็นลูกหลานของ BA.2.75 มีตำแหน่งที่กลายพันธุ์เพิ่มที่ตำแหน่ง R346T , K444T , L452R , F486S
“แม้สายพันธุ์นี้ ในเชิงหลบภูมิคุ้มกันสูง แต่การไปจับกับเซลล์ไม่ได้มาก ส่วน XBB.1.5 ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีมาก ค่อนข้างสูงในแง่หลบภูมิแต่น้อยกว่า CH.1.1 แต่จับเซลล์ได้ดีกว่า ขณะที่ในไทย BA.2.75ที่มีลูกหลานเป็น BN.1 พบ 70-80% สูงสุดของ BA.2.75 ทั้งหมดในไทย จับเซลล์ได้ดีกว่า แต่หลบภูมิน้อยกว่าเล็กน้อย ดังนั้น 2 ตัวนี้สูสี โอกาสที่จะเห็น XBB.1.5 หรือ CH.1.1 ที่เข้ามาเบียด BN.1อย่างรวดเร็วในไทยอาจจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น LAAB ที่ไทยใช้ยัง ไม่ได้กระทบมาก สามารถใช้ LAAB ได้ต่อไป " นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้มี 4 ประเทศที่คนเดินทางเข้าไปไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใดต้องตรวจ RT-PCR ก่อน คือ จีน อินเดีย เนปาล และเมียนมา ซึ่งจากการตรวจคนที่จะเดินทางออกจากประเทศไทยไป 4 ประเทศดังกล่าวจะต้องตรวจโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. - 3 ก.พ. 2566 ขณะนี้ตรวจ 2,022 ราย คนไทยติดเชื้อ 1.79% คนจีนเฉลี่ย 4.2% อินเดียไม่ค่อยเจอ แต่ตรวจน้อยกว่าชาติอื่น และสัญชาติอื่นๆ อีก 3.43% โดยทั้งหมดจะมาตรวจสายพันธุ์แต่ต้องใช้เวลาในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว
“แนวโน้มเป็นสัปดาห์ อัตราที่พบลดลงเกือบทั้งหมด อย่างสัญชาติอื่นๆ จากสัปดาห์แรกเคย 10 กว่า% ลดลงเหลือ 1% กว่าๆ สัญชาติจีนจาก 7% เหลือ 2% กว่า ไทยก็ลดลงสัปดาห์สุดท้ายไม่เจอด้วยซ้ำ สถานการณ์โดยรวมไม่น่าจะมีปัญหา และหากเป็นคนจีนที่จะเดินทางกลับไปแล้วตรวจว่าติด หากมาอยู่ระยะสั้นๆ ก็อาจจะติดมาจากบ้านเขาแล้วมาตรวจเจอตอนกลับบ้าน หากอยู่ยาว เช่น เกิน 10 วันก็อาจจะรับเชื้อในไทย ซึ่งไม่ได้แปลกเพราะคนไทยยังมีการติดเชื้ออยู่”นพ.ศุภกิจกล่าว
โดยสรุป XBB.1.5 ที่ระบาดมากในอเมริกา ซึ่วหลบภูมิได้ค่อนข้างสูง ยังไม่มีในประเทศไทย ในไทยยังเป็น BN.1 มากที่สุด โดยเฉพาะ BN.1.3 ส่วน CH.1.1 ที่หลบภูมิ แต่จับกับเซลล์ได้ไม่ดี ก็พบบ้าง สะสมประมาณ 200-300 ราย สถานการณ์ไม่ได้มากขึ้น ยังเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็งต่อไป หากมีปัญหาจะตรวจจับได้ และรายงานไปยัง GISAID เสมอเพื่อให้ข้อมูลสมบูรณ์ที่สุด
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนไทยฉีดวัคซีน อัตราความครอบคลุมค่อนข้างสูง หลายคนติดเชื้อไปแล้ว 1-2 ครั้ง ฉีดวัคซีนบวกติดเชื้อก็จะมีภูมิในระดับหนึ่ง คนไข้ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตลดลงชัดเจน ไม่ได้เป็นปัญหาเหมือนตอนกลางปี 2564 ที่มีเดลตา ทุกรายงานที่มีเป็นการรายงานเรื่องการแพร่ แต่ไม่มีเรื่องความรุนแรงอะไรที่เพิ่มจากโอมิครอน หรือมีการกลายพันธุ์จนรุนแรงขึ้น ตายเร็วขึ้น ยังไม่มีข้อมูลพวกนี้
"ไม่ได้รุนแรงขึ้น แต่อาจแพร่เร็วขึ้น ส่วนกรณีคนสูงอายุมากๆ ภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี ยังต้องระวัง เพราะทำให้มีอาการหนักได้ บางประเทศในยุโรปมีนโยบายว่า ถ้าแข็งแรงดีไม่ต้องฉีดบูสเตอร์ก็ได้ แต่เป็นประเทศส่วนน้อย อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีอะไร"นพ.ศุภกิจกล่าว