“PM2.5” ปัญหาเมืองใหญ่ จะแก้ได้ใช้เวลามากกว่า 15 ปี
ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเมืองใหญ่ทั่วโลกและแก้ไขได้ยาก เนื่องจากอุตสาหกรรมและการจาจรเป็นส่วนใหญ่ คาดว่าการแก้ปัญหาอาจสำเร็จได้ในปี 2578
ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาค่าความเข้มข้นของ ‘PM2.5’ ในบรรยากาศเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน ทั้งในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดในช่วงเดือนที่ผ่านมา และเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เช่น เดียวกับเมืองใหญ่หลายเมืองที่มีประชากรอยู่หนาแน่น เพราะมีการเติบโตของอุตสาหกรรม การใช้รถใช้ถนน การก่อสร้างต่างๆไม่ว่าจะเป็น มุมไบ, เดลี ประเทศอินเดีย,อู่ฮั่น เฉินตู, ฉงชิ่ง ประเทศจีน, อัสตานา ประเทศคาซัคสถาน, การาจี, ลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน และ ธากา ประเทศบังคลาเทศ ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาค่าความเข้มข้นของ “PM2.5” ในบรรยากาศเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย
โดยจากการรวบรวมข้อมูล DustBoy ในปี 2565 พบว่าจำนวนวันที่ PM2.5 เกินมาตรฐาน ของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ในหลายเขตของ กทม. สูงกว่า 40 – 70 วัน โดยเขตที่เกินมาตรฐานมากที่สุด คือเขตดินแดง เกินค่ามาตรฐานถึง 249 วัน ซึ่งอันตรายของ PM2.5 มีส่วนทำให้ผู้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 4,486 คนต่อปีในกทม. สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในกทม. คิดเป็นมูลค่าถึง 4.51 แสนล้านบาทต่อปีในปี 2562 และมีการคาดการณ์ว่าเมืองใหญ่จะเผชิญกับปัญหา ‘PM2.5’ ไปอีกอย่างต่อเนื่อง และปีนี้จะทวีความรุนแรงมากกว่าปีก่อน
ช่วงเดียวกันของทุกปีเมืองใหญ่หลายเมือง โดยเฉพาะคนกทม.เผชิญกับปัญหา “ซ้ำซาก”มาโดยตลอด แต่อย่างว่าการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ต้องอาศัยระยะเวลา แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและการแก้ปัญหาฝุ่น มีกฎหมาย Clean Air Act ซึ่งเป็นต้นแบบในหลายๆ ประเทศ ยังต้องใช้เวลากว่า 10-15 ปีในการแก้ไขปัญหา ขณะที่ประเทศไทยพอผ่านช่วงนี้ไปฝุ่นจางหาย ถึงปีหน้าฟ้าใหม่สถานการณ์จะวนลูปมาอีกครั้ง ภาพเก่าๆกลับมาปัญหาเหมือนเดิม
ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ออกมาระบุว่าให้ได้ทุนหน่วยงานทำงานวิจัยไม่ต่ำกว่า 18,227 ชิ้น หากมีการนำมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาฝุ่นได้อย่างยั่งยืนภายใน 15 ปี แต่ที่สำคัญต้องมีการออกกฏหมาย ปฏิบัติตาม และต้องทำอย่างต่อเนื่อง การแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5’ต้องอาศัยเวลา และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ภาคเอกชนต้องมีการลงทุนเพิ่มปรับระบบการผลิต เน้น‘อุตสาหกรรมสะอาด เพราะ 20% ของฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มาจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า หากปรับระบบบำบัดมลพิษอากาศจากโรงงานและโรงไฟฟ้าให้ลดการปลดปล่อยลงได้ จะลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ได้ 0.74 แสนล้านบาท ต่อปี
การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 “ต้องเป็นเมืองแห่งรถไฟฟ้า” โดย 59% ของฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มาจากการขนส่งและการจราจร การเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์ EV เพื่อลดการปลดปล่อยฝุ่นจากการจราจรได้ ซึ่งตามแผนคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ด EV จะเปลี่ยนไปใช้รถ EV 37 % ของรถทั้งหมดในปัจจุบัน ภายใน 14 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2578 จะลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ กทม. ได้ 2.36 แสนล้านบาท ต่อปี เทียบกับข้อมูลปี 62 ที่สำคัญหากภาคประชาชน เลือกบริโภคเลือกสินค้าสะอาด ก็จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันทำให้เกิดการแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่ง