'ซีเซียม-137อันตราย' เช็ก อาการเมื่อสัมผัส ช่องทางเข้ารับรักษา

'ซีเซียม-137อันตราย' เช็ก อาการเมื่อสัมผัส ช่องทางเข้ารับรักษา

กล่องเก็บสารกัมมันตรังสี 'ซีเซียม-137' หายไป จากโรงงานจ.ปราจีนบุรี ยังหาไม่เจอ อาการป่วยที่จะเกิดขึ้น หากสัมผัสสารตัวนี้

     กรณีท่อเก็บสารกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137 (Cesium-137, Cs-137)” หายไปจากโรงงานใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี อยู่ระหว่างการระดมค้นหากล่องซีเซียม-137 ตามร้านขายของเก่า โรงงานต่างๆ โดยจังหวัดมีการตั้งรางวัลให้แก่ผู้แจ้งเบาะแส 50,000 บาท

ลักษณะซีเซียม-137 ที่สูญหาย

          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีรายงานข้อมูลเบื้องต้นว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ที่สูญหาย มีลักษณะเป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก หากยังอยู่ในสภาพเดิมจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายได้หลุดออกจากเครื่องกำบัง

 วางระบบดูแลผู้ป่วยจากซีเซียม 137

     ได้สั่งการให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ โดยรวบรวมรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านกัมมันตรังสี อาทิ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์, ผู้เชี่ยวชาญด้านการคำนวณปริมาณรังสีจากแหล่งกำเนิดรังสีภายในร่างกาย การป้องกันอันตรายจากรังสี และรังสีกับสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุอันตราย จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
       รวมทั้งเตรียมการประสานโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และโรงพยาบาลรามาธิบดี กรณีรับส่งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรังสี นอกจากนี้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจได้รับผลกระทบด้วย

อาการเมื่อสัมผัสซีเซียม-137
        นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปกติซีเซียม-137 มีลักษณะเป็นของแข็ง คล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายได้เมื่อแตกออกจากที่ห่อหุ้มไว้  ถูกนำมาใช้งานต่างๆ เช่น ในอุปกรณ์วัดความชื้น วัดอัตราการไหลของเหลว วัดความหนาวัสดุ เป็นต้น โดยจะสลายตัวให้รังสีบีตาและแกมมา ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพได้โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสรังสีปริมาณมากแบบทั้งร่างกายทำให้เกิดความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน 

           แบ่งออกได้ 3 กลุ่มอาการ ระบบผลิตเลือด  ระบบทางเดินอาหาร และ ระบบประสาทกลาง   หรือกรณีที่ได้รับรังสีบางส่วนร่างกายหรือปริมาณไม่สูงทำให้เกิดอาการด้านผิวหนังจากรังสี

       มีปัจจัยที่สำคัญคือปริมาณรังสีที่ได้รับ  ระยะเวลาสัมผัส ระยะห่างจากแหล่งกำเนิดรังสี และ มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันรังสีหรือไม่ อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายได้หลุดออกจากเครื่องกำบัง การได้รับปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากซีเซียม-137 เป็นระยะเวลาสั้น ๆ จะไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายที่เห็นผลชัดเจนในทันทีแต่อย่างใด แต่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการเกิดโรคมะเร็งได้  

        หากมีการชำแหละส่วนกล่องโลหะอาจทำให้รังสีมีการการสัมผัสและการปนเปื้อนรังสีมากขึ้นได้ เมื่อสงสัยว่าสัมผัสปนเปื้อนรังสี การลดการปนเปื้อน ซึ่งทำได้ทั้งแบบแห้ง เช่น การปัดออก เปลี่ยนเสื้อผ้า  หรือแบบเปียก โดบการล้างด้วยน้ำ เพื่อเป็นปกป้องผู้สัมผัส บุคลกรทางการแพทย์และสถานที่
ช่องทางติดต่อสัมผัสซีเซียม-137

      นพ.กิติพงษ์ พนมยงค์  นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรม สาขาเวชกรรมทั่วไป หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์  กล่าวว่า หากผู้ใดมีอาการสงสัยจากการสัมผัสรังสี เช่น ผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย รวมทั้งการเข้าใกล้หรือสัมผัสวัตถุต้องสงสัย ให้รีบประสาน อสม.หรือ พบแพทย์ที่สถานพยาบาลพร้อมทั้งแจ้งความเสี่ยงสัมผัสต่อเจ้าหน้าที่ 
           โทร.สสจ.ปราจีนบุรี 037211626 ต่อ 102 หรือ ติดต่อสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์ รพ.นพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ โทร.025174333  ทั้งนี้ ผู้ใดที่พบเห็นวัตถุต้องสงสัย หรือวัสดุที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้นนี้ โปรดหลีกเลี่ยงการสัมผัสและเข้าไปอยู่ใกล้ชิดและรีบแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่สายด่วนแจ้งเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี โทร. 1296

ย้อนหลัง 1 เดือนไม่มีผู้ป่วยเข้าข่าย
      เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2566  นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า  ฝ่ายสาธารณสุข มีการเฝ้าระวังในโรงพยาบาลทุ่งแห่ง เพื่อคัดกรองผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยที่มีประวัติทำงานในโรงงานดังกล่าว ร้านขายของเก่า โรงหลอม และจาก ข้อมูลย้อนหลัง 1 เดือน ในรพ.และรพ.สต.ทุกแห่ง รวมถึงห้องพยาบาลของโรงงานดังกล่าว ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังติดตามต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนที่พบเห็นวัตถุคล้ายกับท่อเก็บสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่าเข้าใกล้ ที่สำคัญคือ ห้ามแกะกล่องออก

        “วันนี้(15มี.ค.)เรียกประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (อีโอซี) เตรียมพร้อม รพ. ทุกแห่งในจังหวัด กรณีการดูแลผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย เพื่อให้การดูแลทันท่วงที แต่หากจำเป็นต้องส่งต่อ ก็จะส่งต่อตามระบบที่ปลัดสธ.เตรียมไว้ คือ รพ.นพรัตนราชธานี และ รพ.รามาธิบดี ในกรุงเทพมหานคร”นพ.สุรินทร์กล่าว