อัปเดต เตรียมแถลงปมซีเซียม 137 วัสดุกัมมันตรังสีอันตรายหายจากโรงงานไฟฟ้า
(14 มี.ค.2566) มีรายงานว่าวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 (Cesium) ได้สูญหายไปจากโรงงานไฟฟ้า จ.ปราจีนบุรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีเตรียมแถลงข่าว 15.00 น.วันนี้
(14 มี.ค.2566) มีรายงานว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 (Cesium) ได้สูญหายไปจากโรงงานไฟฟ้า จ.ปราจีนบุรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีเตรียมแถลงข่าว 15.00 น.วันนี้ เตือนประชาชนผู้พบเห็นห้ามเข้าใกล้หรือจับเด็ดขาด
เบื้องต้น ผู้แทนบริษัทฯได้เข้าแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่พร้อมตั้งรางวัลนำจับไว้ 50,000 บาท สำหรับผู้ชี้เบาะแสจนนำไปสู่การติดตามวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 กลับคืนมาได้
ซีเซียม 137 คือ สารไอโซโทปของซีเซียมซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี ที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 55 มีครึ่งชีวิต 30 ปี สลายโดยปล่อยรังสีบีตาและรังสีแกมมา เป็นหนึ่งในผลผลิตการแบ่งแยกนิวเครียสและซีเซียม 137 ยังเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งโอกาสที่จะเป็นมะเร็งต้องได้รับสารปนเปื้อน เมื่อได้รับเข้าไปจะกระจายไปทั่ว ส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ ตับ และไขกระดูก
ประโยชน์จากซีเซียม
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้ในงานหรือเครื่องมือเฉพาะแต่ปริมาณรวมของการใช้ไม่มากนัก มีการใช้ในทางการแพทย์ มาตรวัดกระแสน้ำในท่อโรงงานอุตสาหกรรม และโรงงานนิวเคลียร์
1.ใช้ในการผลิต photoelectric cell เพราะเป็นธาตุที่ถูกอิออไนซ์โดยแสงได้ง่าย (เปลี่ยนเป็นอิออนบวกโดยแสงได้อย่างง่ายดาย)
2.ใช้ผลิต cesium vapor thermionic converter
3.ใช้ในระบบการผลิตพลังงานและ magnetohyhrodynamic
4.ใช้เป็นตัวเร่งสำหรับปฏิกิริยาไฮโดรพิเนชันและเชื้อเพลิงจรวด
5.ซิเซียมไฮดรอกไซด์ (CsOH) ใช้เป็นอิเลกโตรไลต์ของเซลล์สะสมไฟฟ้าแบบด่าง (alkaline stronge batteries)
6.ซีเซียมคาร์บอเนต (Cs2CO3) ใช้ทำแก้วที่ใช้งานเฉพาะ
อันตรายจากซีเซียม
โลหะซีเซียมเมื่อสัมผัสกับผิวหนังเกิดอาการไหม้อย่างรุนแรงเป็นพิษเมื่อเข้าสู่ร่างกาย สารประกอบของซีเซียมทั่วไปเป็นพิษไม่มากนัก แต่ที่เป็นพิษอย่างแรงก็มี เช่น CsCN และซีเซียมแกลเลียมซัลเฟต
สารนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะ และบางส่วนจะตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ ตับ ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมหรือพันธุกรรม
ความผิดปกติจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณรังสีและระยะเวลาที่ร่างกายได้รับ ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554 เรื่องมาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี กำหนดให้ "อาหารมีการปนเปื้อนซีเซียม-134 และซีเซียม-137 รวมกันไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม (Bq/kg) หรือ เบคเคอเรลต่อลิตร (Bq/l)"
กลุ่มอาการเฉียบพลันจากรังสี
- ปริมาณรังสีต้องมีขนาดสูงพอ คือมักต้องเกิน 0.7 เกรย์ (Gray) หรือ 70 แหรดส์ (Rads)
- แหล่งที่มาของรังสีเป็นจากภายนอก (จากภายในได้แต่ว่าพบน้อยมากๆ)
- รังสีชนิดนั้นต้องเป็นแบบทะลุทะลวงถึงอวัยวะภายใน ได้แก่ รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา นิวตรอน
- ส่วนของร่างกายเกือบทั้งหมด หรือทั้งหมดโดนรังสี มิใช่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง
- รังสีทั้งหมดได้ถูกปล่อยออกมาในเวลาสั้นๆ ส่วนใหญ่เป็นนาที
กลุ่มอาการกดไขกระดูก (ระบบเลือด) เกิดได้ตั้งแต่โดนรังสี 0.3 Gray หรือ 30 rads แต่มักมีอาการชัดเจน เมื่อได้เกิน 0.7 Gray หรือ 70 rads อาการแบ่งได้ 4 ระยะ
ระยะแรก (Prodroma stage) : คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงถึง 2 วันหลังโดนรังสี อาการเป็นได้นานเป็นนาทีถึงหลายๆ วัน
ระยะสอง (Latent stage) : เซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูกตายไปเรื่อยๆ ระยะนี้จะเป็นอยู่ตั้งแต่ สัปดาห์แรกถึง 6 สัปดาห์ผู้ป่วยอาจดูปกติหรือไม่มีอาการ
ระยะสาม (Manijfest illness stage) : เบื่ออาหาร มีไข้ อ่อนเพลีย ปริมาณเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือด ทั้งหมดลดระดับลงเรื่อยๆ ในเวลาหลายๆสัปดาห์ และจะเสียชีวิตในเวลา 2-3 เดือน ผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเลือดออกมากและไม่สามารถหยุดได้
ระยะฟื้นตัว (Recovery): ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากภาวะที่ไขกระดูกโดนกด โดยจะดีขึ้นได้จากตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ถึง 2 ปี ผู้ป่วยราวครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิตที่ 60 วัน หากได้รับรังสี 2.5-5 Gray
กลุ่มอาการทางเดินอาหาร (Gastrointestinal syndrome)
เกิดจากโดนรังสีเกิน 10 Gray (ส่วนน้อยเป็นได้ตั้งแต่ 6 Gray ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเสียชีวิตใน 2 สัปดาห์ จากการที่ระบบทางเดินอาหารและไขกระดูกโดนทำลายและไม่สามารถซ่อมแซมได้
ระยะแรก (Prodromal stage) : คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย เริ่มมีอาการภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังโดนรังสี
ระยะสอง (Latent stage): เซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูกและเยื่อบุทางเดินอาหารตายไปเรื่อยๆ ระยะนี้ผู้ป่วยอาจดูปกติหรือไม่มีอาการ ระยะนี้จะไม่เกิน 1 สัปดาห์
ระยะสาม (Manifest illness stage): เบื่ออาหาร มีไข้ อ่อนเพลีย ท้องเสีย ขาดน้ำ เกลือแร่ต่างๆ ผิดปกติ มักเสียชีวิตในเวลา 2 สัปดาห์ จากการติดเชื้อ ขาดน้ำ เกลือแร่ผิดปกติ
ระยะฟื้นตัว (Recovery) : เสียชีวิตทั้งหมดหากได้รังสีเกิน 10 Gray (LD 100 = 10 Gray)
กลุ่มอาการทางระบบหัวใจหลอดเลือดหรือระบบประสาท มักโดนรังสี > 50 Gray (บางคน > 20 Gray)
ระยะแรก (Prodromal stage): วุ่นวายไม่ค่อยรู้ตัว คลื่นไส้อาเจียนถ่ายเหลวอย่างมาก ผิวไหม้ เกิดในเวลาเป็นนาที
ระยะสอง (Latent stage): กลับมามีอาการปกติได้ แต่มักไม่กี่ชั่วโมง
ระยะสาม (Manijfest iliness stage): อาเจียนท้องเสียมากๆอีกครั้ง ร่วมกับมีชัก โคม่า มักเกิดภายใน 5-6 ชั่วโมงหลังโดนรังสี และมักเสียชีวิตใน 3 วัน
ระยะฟื้นตัว (Recovery) : ไม่มี
กลุ่มอาการด้านผิวหนังจากรังสี (Cutaneous Radiation Syndrome)
มักเกิดจากการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ผิวหนังหรือเสื้อผ้า บริเวณที่โดนรังสี จะเกิดการอักเสบ แดง มีการหลุดลอกผมหรือขนจะหลุดร่วง อาการแดงของผิวหนังอาจเกิดได้ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมงหลังโดนรังสี แล้วอาจเข้าสู่ช่วงที่ผิวหนังดูค่อนข้างปกติ
จากนั้น ผิวจะกลับมาแดงขึ้นมากๆอีก ร่วมกับมีถุงน้ำและแผลอักเสบ (ulcer) ต่อมาอาจจะดีขึ้น หรืออาจนำไปสู่ผิวหนังเสียหายถาวร เช่น ต่อมเหงื่อโดนทำลาย ผิวหนังตาย มีการอักเสบเรื้อรัง เกิดพังผืด หรือผิวหนังฝ่อ
ข้อมูลประกอบจาก ดร.ชัยวัฒน์ เจนวาณิชย์
ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
เพจ : Drama-addict