โทรเวชกรรมถ้วนหน้า จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ?
แม้ว่ายังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องงบประมาณเกี่ยวกับ "โทรเวชกรรมถ้วนหน้า" แต่หากโครงการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จริงก็จะช่วยให้คนไทยเข้าถึงเรื่องสุขภาพได้ง่ายขึ้น
15 มี.ค. 2566 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. ที่มีใช้เวลาประชุมหารือนานกว่า 3 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติในการอนุมัติงบประมาณราว 3,850 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการโทรเวชกรรมถ้วนหน้า (Universal Telehealth Coverage : UTHC) หรือเทเลเฮลท์ตามโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง (Universal Service Obligation :USO) ตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานเพื่อมิติเชิงสังคม และมีส่วนของระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุขได้ โดยบอร์ดจะพิจารณาอีกครั้งวันที่ 29 มี.ค.
ตามเอกสาร กสทช. ระบุว่าโครงการนี้มีระยะเวลา 1 ปี วงเงิน 8,000 ล้านบาทประกอบด้วย 2 แผนยุทธศาสตร์ โดยแผน 1 วงเงิน 5,000 ล้านบาท เป็นการจัดให้มีบริการโทรคมนาคม พื้นฐานเพื่อมิติเชิงสังคม แบ่งเป็นระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุข 4,000 ล้านบาท ระบบโทรคมนาคมเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสในสังคม 1,000 ล้านบาท แผน 2 วงเงิน 3,000 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในภารกิจโทรคมนาคมพื้นฐาน แบ่งเป็นระบบโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ 2,000 ล้านบาท และระบบโทรคมนาคมเพื่อความมั่นคง 1,000 ล้านบาท
ซึ่งปัจจุบันระบบสุขภาพประเทศไทยมีความหลากหลาย ขาดมาตรฐานข้อมูลสุขภาพ โครงสร้างหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน การกำกับดูแลที่ไม่ชัดเจนเป็นแบบ Silo Base จึงมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาระบบให้มาเป็นแบบ Integrated Base มีระบบอภิบาลสุขภาพดิจิทัล (Digital Health Governance) กำกับดูแลที่ดีอย่างยั่งยืน โดยผลักดัน ส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร ทุกระดับ ปรับกรอบความคิด ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการ การบริหารจัดการและการกำกับดูแลของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีมาตรฐานระบบ ข้อมูลสุขภาพ รวมไปถึงการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมภารกิจด้าน สุขภาพดิจิทัล
หากโครงการโทรเวชกรรมถ้วนหน้า (Universal Telehealth Coverage: UTHC) เกิดขึ้นได้จริงตามหลักการที่กสทช. มุ่งหวังไว้จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกกิจกรรมและบริการสุขภาพ เกิดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สามารถนำไปวิเคราะห์ข้อมูลรองรับยุคใหม่ (Modern Analytics) เช่น แนวคิดการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ อัตโนมัติที่เรียกว่า Machine Learning ส่งผลให้เกิดนวัตกรรม และรูปแบบบริการใหม่ (Innovation and New Health Service Model) อาทิ บริการการแพทย์ทางไกลที่ทำได้โดยการใช้เพียง Smart Phone ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยโดยไม่มีเงื่อนไขหรือติดขัดด้วยข้อจำกัดทางกายภาพของสถานบริการ เกิดการบริการสุขภาพอย่างไร้พรมแดน
โดยปี 2566 สำนักงาน กสทช.จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างพัฒนาแพลตฟอร์มระบบบริการนอก สถานพยาบาล (Virtual Hospital Platform พัฒนาระบบ Primary Care Cloud Network สำหรับเขตสุขภาพ ช่วยยกระดับสาธารณสุขไทยได้ ช่วยคนไทย 66 ล้านคนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ที่มีสิทธิบัตรทอง 30 ล้านรายในจำนวนนี้มีผู้ป่วยติดเตียง 500,000 รายได้รับบริการโดยไม่ต้องเดินทางมาที่สถานพยาบาล จะเกิดขึ้นได้หรือไม่อีก 14 วันได้รู้กัน