หน้าร้อนระวัง ‘ฮีทสโตรก' ยาไทยคลายร้อนผู้สูงอายุ

หน้าร้อนระวัง ‘ฮีทสโตรก' ยาไทยคลายร้อนผู้สูงอายุ

เนื่องในวันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันสงกรานต์ และวันผู้สูงอายุแห่งชาติ การส่งเสริมให้มีชมรมผู้สูงอายุเพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุ

Keypoint:

  • เฉลิมฉลองวันสงกรานต์ ระวังโรคฮีทสโตรกและฝุ่นPM2.5 โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงอายุ  เด็ก และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว
  • 7 เคล็ดลับในการดูแลสุขภาพช่วงหน้าร้อน นอนหลับพักผ่อน ดื่มน้ำ สวมใส่เสื้อผ้ากลับถึงบ้านอาบน้ำ ใส่แว่นตาป้องกันแสงแดด สวมหน้ากากอนามัย
  • ไปทุกที่อย่าลืมพกสมุนไพรรสหอม รสเย็นช่วยคลายร้อน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย คลื่นไส้ วิงเวียน ตาพร่าจะเป็นลม ใจสั่น 

ชมรมผู้สูงอายุ เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีความสุขโดยไม่เป็นภาระต้องพึ่งพิงของลูกหลาน มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เพื่อลดภาระด้านเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว

ทว่าจากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นร่วมกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ทำให้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ การดูแลตัวเองในหน้าร้อนและช่วงฝุ่น PM 2.5 สำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยป้องกันอันตรายและลดความเสี่ยงจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานได้

ปัจจุบันสังคมไทย มีประชากรผู้สูงอายุ จำนวน 12.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.9 และคาดว่า ในปี 2583 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super – Aged Society)  เมื่อภาวะอากาศร้อนจัดอาจเป็นเหตุให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกจนเกิดภาวะ‘โรคลมแดด’หรือ ฮีทสโตรก(Heat Stroke)ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในคนที่มีโรคประจำตัวเดิมอยู่แล้ว หรือกลุ่มคนที่มีภาวะสุขภาพเปราะบาง เช่น เด็กหรือผู้สูงอายุ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สงกรานต์ 2566 ซอฟต์พาวเวอร์แสนล้าน ฝ่าฝุ่นพิษ-ฮีทสโตรก

'สงกรานต์ 2566' ส่อง 10 อันดับ คนไทยค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดใดมากสุด?

 

 

กลุ่มบุคคลที่เสี่ยงต่อภาวะฮีทสโตรก

นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพอากาศของประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นและปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินมาตราฐานติดอับดับต้นๆ ของโลก ทำให้ประชาชนต้องหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเนื่องจากอายุที่มากขึ้นภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ลดลง ร่วมกับประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายลดลงจึงส่งผลอันตรายมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ

 ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรคที่ต้องรับประทานยาอยู่แล้วหลาย ๆ ตัวถ้าไปอยู่ในอุณหภูมิที่ร้อนมาก ๆ เป็นเวลานาน ๆ จะมีความเสี่ยงในการเป็นฮีทสโตรกสูงขึ้น และมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่านั่นเอง นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับกลุ่มคน ที่ทำงานกลางแจ้งที่สัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ เกษตรกร ตำรวจ ทหาร

หน้าร้อนระวัง ‘ฮีทสโตรก\' ยาไทยคลายร้อนผู้สูงอายุ

ตลอดจนนักกีฬา อาทิ การวิ่งมาราธอน ที่จะต้องสัมผัสอากาศที่ร้อนหรือความชื้นที่สูงทำให้ไม่สามารถขับเหงื่อได้ หรือ นักแข่งรถ อาจมีสาเหตุจากการใส่ชุดขับรถ ซึ่งเป็นผ้าแบบป้องกันไฟไหม้เพื่อรถระเบิด ซึ่งจะเป็นชุดที่ค่อนข้างเก็บอุณหภูมิมาก ทำให้ร้อนมากแล้วอยู่ในรถที่คับแคบ ก็จะทำให้เกิดภาวะที่จะเสี่ยงต่อภาวะฮีทสโตรกมากขึ้นกว่าบุคคลอื่น อย่างไรก็ตาม คนที่แข็งแรงดีก็สามารถเกิดฮีทสโตรกได้ ถ้าเรามีอุณหภูมิที่ร้อนมากๆ ในระยะเวลานานและไม่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี

อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีโรคประจำตัวและไม่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในอุณหภูมิที่ร้อนมากเป็นเวลานาน ๆ เป็นระยะเวลาที่นานเกิน 1 ชั่วโมงและหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าหนาซึ่งทำให้การระบายอากาศไม่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงไม่ให้เกิดอาการดังกล่าว

 

ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุหน้าร้อน

พญ.พัชรินทร์ ปิงเมืองแก้ว รองผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติม ข้อแนะนำการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในหน้าร้อนและฝุ่น PM 2.5 ดังนี้

1. พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานผักและผลไม้ที่มีสีส้มและเหลือง เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น มะเขือเทศราชินี แครอท ฟักทอง มะม่วงสุก เป็นต้น

2. การปรับอุณหภูมิของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วด้วยการดื่มน้ำ โดยปกติควรดื่มน้ำวันละประมาณ 6-8 แก้ว แต่ถ้าหากอยู่กลางแดดร้อนอาจดื่มได้มากกว่านี้

3. การป้องกันสายตาและผิวหนังจากแสงแดดจ้าในการทำกิจกรรมกลางแจ้งนาน ๆ เช่น สวมแว่นกันแดด สวมหมวก ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย เป็นต้น

4. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่าง ๆ กลางแจ้งหากเป็นวันที่ค่าของฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานพิจารณาให้ออกกำลังกายภายในอาคารแทน

5. ผู้สูงอายุที่มีโรคภูมิแพ้จมูก โพรงจมูกอักเสบ และหอบหืด ควรใช้ยาสูดทางปาก และยาพ่นจมูกต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ พิจารณาการล้างจมูกอาจช่วยลดทั้งฝุ่น PM 2.5 ในทางเดินหายใจส่วนบน และสารก่อภูมิแพ้ได้

6. ผู้สูงอายุที่มีโรคภูมิแพ้ผิวหนัง แนะนำใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิด และหลังกลับเข้ามาภายในอาคารแนะนำเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผม ชำระล้างร่างกายที่อาจนำพาฝุ่นเข้ามาภายในอาคาร

7. สวมหน้ากากอนามัยที่สามารถกรอง PM 2.5 ได้ ทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน 

ทั้งนี้ การให้ผู้สูงอายุได้สัมผัสแสงแดด ช่วงเช้าตรู่และช่วงเย็น ระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 10 - 15 นาที เพื่อให้ร่างกายผลิตวิตามิน D ซึ่งเป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้โดยการกระตุ้นจากรังสียูวีบี (UVB) จะมีส่วนช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย สามารถป้องกันโรค โดยเฉพาะภาวะกระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรงในวัยผู้สูงอายุได้

สมุนไพร ผลไม้รสเย็น คลายร้อน

นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยอากาศที่ร้อนจะส่งผลกระทบต่อธาตุไฟ และธาตุน้ำในร่างกาย ทำให้ธาตุไฟกำเริบ มักทำให้ มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ทางกระทรวงสาธารณสุข หรือ หลายๆหน่วยงาน จึงได้ออกคำแนะนำการดูแลสุขภาพไว้ดังนี้ เช่น ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่อยู่ในที่ชุมชน หรือ มีคนแออัด ดื่มน้ำเพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย ควรเลือกดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรที่มีรสเย็น เช่น น้ำต้มใบเตย น้ำย่านาง หรือ รับประทานผลไม้ที่มีรสเย็น เช่น แตงโม แตงไทย เป็นต้น

ดังนั้น การเดินทางในช่วงวันสงกรานต์ที่อุณหภูมิสูง และอาจเสี่ยงที่จะเกิดอาการฮีทสโตรกได้ทุกขณะ ประชาชนเองนอกจากต้องระมัดระวังตามคำแนะนำดังกล่าวแล้ว อาจมีตัวช่วยในการดูแลตัวเองด้วยการพกยาสมุนไพร เช่น ยาหอม ยาดมสมุนไพร พิมเสนน้ำ เพื่อช่วยคลายร้อน ยาหอมเทพจิตร ช่วยแก้อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย คืออาการที่รู้สึกใจหวิว คลื่นไส้ วิงเวียน ตาพร่าจะเป็นลม ใจสั่น

ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบเป็นสมุนไพรรสหอมเย็น เช่น ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง สมุนไพร รสหอมเย็นมีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย แก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นต้น ยาดมสมุนไพร บรรเทาอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ช่วยให้สดชื่นตื่นตัว

โดยมีส่วนประกอบสมุนไพรหลักๆ เป็นสมุนไพรกลุ่มที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น กระวาน กานพลู ดอกจันทน์ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก พิมเสนน้ำ มีส่วนประกอบหลักๆ คือ พิมเสน แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด บำรุงหัวใจ การบูร แก้เคล็ด ขัดยอก เกล็ดสะระแหน่หรือเมนทอลมีกลิ่นหอมเย็น สำหรับพิมเสนน้ำเมื่อสัมผัสผิวจะรู้สึกเย็น จึงควรระมัดระวังการระคายเคืองกับระบบทางเดินหายใจหรือเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจสอบถามการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคได้ที่ www.facebook.com/dtam.moph และ line @DTAM

วิธีดูแล ฮีทสโตรก หรือ ลมแดด

พญ.อัณณาช์ เตรียมอนุรักษ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่าฮีทสโตรก หรือ ลมแดด เกิดจากร่างกายได้รับอุณภูมิความร้อนมากเกินไป ทำให้ผลส่งกระทบต่อสมองได้เช่น มีภาวะชัก หมดสติได้ เมื่อเกิดการชักหมดสติแล้วหากไม่ได้ให้สารน้ำ หรือไม่ได้ทำอุณหภูมิร่างกายให้ลดลงหรือเย็นลงทันที ก็จะสามารถทำให้คนไข้เสียชีวิตได้

หากเจอผู้ป่วยที่มีอาการฮีทสโตรก สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นได้โดย

1. ต้องพาคนไข้ออกมาจากอุณหภูมินั้นก่อน เช่น พามาอยู่ในที่ร่ม พยายามเปิดเสื้อผ้าออกให้มากที่สุด เพื่อให้ระบายความร้อนออกจากเสื้อผ้า 

2. พยายามหาน้ำ ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง มาประคบตามร่างกาย 

3. ถ้าคนไข้รู้สึกตัวให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ หรือว่าถ้ามีคนอยู่บริเวณนั้นที่ปฐมพยาบาลได้ เช่น มีรถพยาบาลก็ควรให้น้ำเกลือ เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลง เพราะอุณหภูมิร่างกายที่สูงมากเกินไป จะไปกระตุ้นทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและทำให้เสียชีวิตได้ คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจและมีภาวะฮีทสโตรกร่วมด้วยจึงเสี่ยงเสียชีวิตได้ 

หากเราจำเป็นต้องไปอยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงมากๆ คือ ต้องกินน้ำให้มากๆใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีหากต้องอยู่ในที่ที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน ควรพักในที่โล่งหรือที่มีอากาศระบายได้ดีในทุก 1 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดลมแดด ผู้ที่มีโรคประจำตัวและไม่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในอุณหภูมิที่ร้อนมากเป็นเวลานาน ๆ เป็นระยะเวลาที่นานเกิน 1 ชั่วโมงและหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าหนาซึ่งทำให้การระบายอากาศไม่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงไม่ให้เกิดอาการดังกล่าว

ฝุ่นPM 2.5กระทบสุขภาพ 

นพ. ตนุพล วิรุฬหการุญ  นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก กล่าวว่า   ค่าฝุ่น PM2.5 จำนวน 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวนในปี 2565 ควันพิษที่ประชาชนในกรุงเทพฯ สูดดมเข้าไปนั้นเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ราว 1,225 มวนตลอดทั้งปี หรือเฉลี่ยวันละ 3.36 มวน  เนื่องจากฝุ่น PM2.5 เป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กมาก สามารถเข้าแทรกซึมสู่ร่างกายของมนุษย์เข้าไปได้ลึกจนทะลุถุงลมปอด เข้าไปในกระแสเลือดโดยตรง และส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบหายใจและส่วนอื่น ๆ ได้มากมาย

ฝุ่นควันมลพิษต่าง ๆ สามารถกระตุ้นการสร้างสารตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “สารอนุมูลอิสระ หรือ Free radicals” จนเกิดภาวะ oxidative stress นำมาซึ่งการทำลาย DNA, ยับยั้งการซ่อมแซม DNA ชักนำให้เกิดความผิดปกติแก่ทารกในครรภ์ การกลายพันธุ์ และผลเสียอื่นได้

หากได้รับอนุมูลอิสระอย่างการสัมผัสมิลพิษทางอากาศมาก ก็จะส่งผลให้เทโลเมียร์ (Telomere) คือส่วนปลายสุดของโครโมโซม ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้รหัสพันธุกรรมถูกทำลายไปในระหว่างการแบ่งเซลล์หดสั้นลงมากกว่าปกติ เกิดความเสียหายต่อรหัสพันธุกรรมได้ และเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ตามมา

นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์กับการสร้างสารอักเสบที่เพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากขึ้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะเข้าไปทำลายเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในเด็กมีภูมิต้านทานลดลง เป็นหวัดบ่อยมากขึ้น มีภาวะภูมิแพ้ และเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต และร้ายแรงที่สุดคือ เป็นโรคมะเร็งในระยะยาวได้เช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งปอดที่ฆ่าชีวิตคนไทยไปกว่า 122,104 ราย ในปี 2563 ประกอบกับฝุ่นพิษนี้มีสารอินทรีย์ระเหยง่ายอย่างสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) จึงเป็นเหตุให้สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) จัดให้เป็นสารระเหยชนิดนี้เป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งสำหรับมนุษย์