สถาบันโรคผิวหนัง รุกตลาด 'โพรไบโอติกส์' หยิบงานวิจัย จากหิ้งสู่ห้าง
สถาบันโรคผิวหนัง จับมือ เภสัชฯ จุฬาฯ และ นิวทรีพรีม วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เล็งออกผลิตภัณฑ์แรกในด้านโภชนเภสัช อย่าง 'โพรไบโอติกส์' รับเทรนด์ที่กำลังมาแรงในขณะนี้
Key point :
- ปัจจุบัน คนให้หันมาให้ความสนใจป้องกันสุขภาพก่อนป่วยมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
- โพรไบโอติกส์ พรีไบโอติกส์ นับเป็นอีกหนึ่งเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง เพราะสุขภาพของลำไส้ ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของระบบภูมิคุ้มกันโดยรวมและผิวหนัง
- ล่าสุด สถาบันโรคผิวหนัง จับมือ เภสัชฯ จุฬาฯ และ นิวทรีพรีม หยิบงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง พัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกส์ ตอบโจทย์เทรนด์ที่กำลังมาแรงในขณะนี้
ข้อมูลของ EuroMonitor พบว่า ปี2559 ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินของประเทศไทย มีมูลค่า 53,810 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 74,247 ล้านบาท ในปี 2564 ขณะที่ปัจจุบัน มูลค่าราว 75,000 ล้านบาท ซึ่งยังมีโอกาสการเติบโตอยู่มาก ขณะที่มูลค่าตลาดเฉพาะ โพรไบโอติกส์ มีอยู่ประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เข้ามามีส่วนในสุขภาพคนไทยมานาน ตั้งแต่โควิด-19 ทำให้คนไทยมองว่าการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองมีความสำคัญมากกว่าการที่รอให้ป่วยแล้วไปหาหมอ เพราะฉะนั้น ประชาชนจึงพยายามค้นหาสิ่งที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ทำให้สุขภาพดีขึ้น แข็งแรงขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาทางการแพทย์มากเกินไป
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สถาบันโรคผิวหนัง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท นิวทรีพรีม จำกัด ในการส่งเสริมด้านวิชาการเพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยมุ่งเป้าผลิตภัณฑ์แรกในด้านโภชนเภสัช อย่างโพรไบโอติกส์ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในขณะนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พญ.อัญวีณ์ เกียรติอภิพงษ์ กรรมการบริหาร บริษัท นิวทรีพรีม จำกัด โดยอธิบายว่า โภชนเภสัช เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะกระแสของโพรไบโอติกส์ ซึ่งได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน และได้นำมาใช้ในหลายๆ หมวดหมู่ในมิติสุขภาพ และผิวหนังก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลโดยตรงและโดยอ้อม เพราะสุขภาพของลำไส้ ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของระบบภูมิคุ้มกันโดยรวม และผิวหนัง เป็นปราการด่านแรก ที่เป็นเกราะป้องกัน คุ้มกันร่างกายทั้งหมดจากสภาพแวดล้อมภายนอก
“ผิวหนัง โพรไบโอติกส์ และความสมดุลของลำไส้ จึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย ดังนั้น เทรนด์ทุกวันนี้ โพรไบโอติกส์ พรีไบโอติกส์ จึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ”
สำหรับการร่วมมือกันของทั้ง 3 องค์กรในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เริ่มจากผลงานวิจัยที่ทำมาแล้วในระยะหนึ่ง ซึ่งผลงานวิจัยเบื้องต้นได้ผลวิจัยที่ค่อนข้างดี และเตรียมพัฒนาขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จะตอบโจทย์สุขภาพผิวของคนไข้ รวมถึงปัญหาผิวพรรณของประชาชนทั่วไป การรักษาโรค ลดการใช้ยา ลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยเฉพาะยาในกลุ่มสเตียรอยด์
นอกจากนั้น ยังลดระยะเวลาในการรักษาให้สั้นลง ทำให้คนไข้สามารถกลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้น และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เบื้องต้นจำหน่ายในสถาบันโรคผิวหนัง และ บริษัท ไทธนบุรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในการประชาสัมพันธ์ ขยายช่องทางจัดจำหน่ายออกสู่ประชาชนต่อไป
หยิบงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง
ด้าน พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง เผยว่า สถาบันโรคผิวหนังมุ่งมั่นพัฒนางานด้านการวิจัย องค์ความรู้ เน้นพัฒนานวัตกรรมเป็นหนึ่งในพันธกิจหลัก เป้าหมายเพื่อเอางานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง เกิดประโยชน์เชิงพานิชย์ เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยการร่วมมือครั้งนี้ ทางวิชาการมี 3 ฝ่ายหลักๆ ซึ่งแต่ละองค์กรมีจุดเด่นของตัวเอง คือ สถาบันโรคผิวหนัง มีคนไข้จำนวนมาก มีการดูแลเรื่องของทางคลินิกค่อนข้างเยอะ ส่วนคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ มีงานวิจัยในห้องแล็บ และนิวทรีพรีม เป็นคนพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของสถาบันวิชาการ และ ไทธนบุรี ในการดูแลเรื่องช่องทางจัดจำหน่าย ทำให้ความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้ผลการวิจัยในห้องแล็บ พัฒนาสู่เชิงพานิชย์ และเข้าถึงผู้บริโภคได้เต็มที่
ผลิตผลในการร่วมมือครั้งนี้ จะตอบโจทย์เรื่องของการดูแลสุขภาพองค์รวม ต่อไปจะไม่เน้นการรักษาอย่างเดียว แต่เน้นการป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่ออกมา คือ ในกลุ่มไบโอติกส์ ที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพลำไส้ ผิวพรรณ และสุขภาพองค์รวม นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความรับรู้ว่าต่อไปต้องเน้นเรื่องของการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น ต่อให้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ก็ต้องเป็นสูงวัยที่กระฉับกระเฉง ยังมีเสน่ห์เหมือนเดิม และสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้เหมือนเดิม
อนึ่ง การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม คือ การส่งเสริมป้องกัน ฟื้นฟู ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการรักษาอย่างเดียว แต่เริ่มตั้งแต่การป้องกัน ซึ่งที่ผ่านมามีการรณรงค์ให้ทานอาหารให้มีประโยชน์ ออกกำลังกาย เป็นการบูรณาการในแนวคิดเสริมสร้าง มากกว่าซ่อมแซม ไม่ใช่รอให้แก่แล้วค่อยมารักษา แต่จะทำอย่างไรให้ชะลอวัย มีสุขภาพที่แข็งแรงไปได้อย่างยาวนาน
โภชนเภสัช จุดเริ่มต้นสุขภาพดี
ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเกี่ยวกับ โภชนเภสัช ว่า ลำไส้เป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพ ตอนนี้มีศาสตร์หลายศาสตร์ ไม่ว่าจะโรคเรื้อรัง โรคติดเชื้อ การที่มีสุขภาพลำไส้ที่ดี สามารถทำให้ทุกคนมีสุขภาพองค์รวมที่ดีขึ้น โดยทั่วไป เราจะกินยาเพื่อรักษาโรค ตอนนี้เปลี่ยนแนวคิด เอาอาหาร มาเป็นยา จะทำให้ผลข้างเคียงน้อยลง และไม่จำเป็นที่จะต้องกินสิ่งที่มีผลข้างเคียงรุนแรงต่อร่างกายอีกต่อไป อาหารที่เรากินทุกวัน ที่ดีต่อสุขภาพ สามารถเป็นยาที่บำรุงร่างกายโดยองค์รวมได้
คณะเภสัชศาสตร์ มุ่งหวังนำงานวิจัยที่มีอยู่ มาพัฒนาเป็นนวัตกรรม และที่สำคัญ คือ เราอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ก็จะไม่ทราบปัญหาของผู้ป่วย สถาบันโรคผิวหนัง จะเป็นจุดที่ทำให้เราทราบถึงปัญหาและคิดค้นนวัตกรรมตามความต้องการของผู้ป่วยได้ตรงจุด นวัตกรรมผูกโดยตรงกับ GDP หากมีนวัตกรรมเยอะ GDP ก็จะดีขึ้นด้วย เราหวังว่าประเทศไทยจะอยู่รอดจากการมีสินค้านวัตกรรมที่มีพื้นฐานมาจากงานวิจัย
“โดยผลิตภัณฑ์แรกที่พัฒนา คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เกิดจากโพรไบโอติกส์ ตอนนี้กระแสโพรไบโอติกส์กำลังมา ไม่ใช่แค่ไทย แต่เป็นทั่วโลก สุขภาพที่ดีเริ่มต้นที่ลำไส้ โดยสินค้าแรก คือ Anti-Aging ไม่ใช่เกี่ยวกับความงาม แต่ทำให้เซลล์ของร่างกายชะลอการชรา ทำให้เป็นสาวหนุ่มนานขึ้น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCD ก็จะเกิดขึ้นช้าลง ถัดมา คือ การบำรุงผิว โดยทั่วไป แสงแดดจาก PM2.5 เป็นอนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ของผิวหนัง ดังนั้น สินค้าตัวที่สองจะป้องกันการเสื่อมจากมลภาวะ จากการศึกษาในเซลล์ผิวหนังจริงๆ ซึ่งผลออกมาดีมาก คาดว่าจะแล้วเสร็จราว 2 เดือนหลังจากนี้” ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ กล่าว