นโยบายการศึกษารัฐบาลผสม เปลี่ยนการศึกษาไทยเป็นจริงหรือมโน?

นโยบายการศึกษารัฐบาลผสม เปลี่ยนการศึกษาไทยเป็นจริงหรือมโน?

ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลผสมเบื้องต้น 313 เสียง ประกอบด้วย 8 พรรค  ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล แม้ขณะนี้ยังไม่ได้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องใช้เสียงโหวตจากส.ส. และส.ว.เพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสองสภา หรือ 376 เสียง จาก 750 เสียง

Keypoint:

  • ปัญหาการศึกษาไทย เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่หลายๆ รัฐบาล พยายามหาทางออก เพราะยังคงติดอยู่กับกรอบหรือขนบเดิมๆ มากมายที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่วาทกรรม และกระบวนการเรียนรู้
  • ว่าที่รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคก้าวไกล ทั้งหมด 8 พรรคการเมือง มีการนำเสนอนโยบายการศึกษา โดยมุ่งพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษาไทย คืนครูสู่นักเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการศึกษาที่ทุกคนเข้าถึง
  • 5 ข้อที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งปรับหลักสูตร ดูแลโรงเรียนขนาดเล็ก ผู้บริหารต้องเข้าใจปัญหาการศึกษาอย่างแท้จริง เลิกแจกเงิน สร้างโลกการศึกษาให้สอดคล้องการทำงาน

ประเทศไทย ถูกจัดอันดับจาก ธนาคารโลก ว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางมานานกว่า 20 ปี ซึ่งถือว่าเป็นกับดักรายได้ปานกลาง หรือสถานการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจที่ประเทศซึ่งมีรายได้อยู่ในระดับหนึ่งและติดอยู่ในระดับนั้นเป็นเวลานาน ซึ่งการที่ประเทศไทยจะเติบโตเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้นั้น ทางภาครัฐและเอกชนต่างมีความเห็นว่าจะต้องมีการพัฒนา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี ฯลฯ โดยมีการศึกษาเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ 

นโยบายการศึกษารัฐบาลผสม เปลี่ยนการศึกษาไทยเป็นจริงหรือมโน?

หากต้องการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางจะต้องปฏิรูปการศึกษา โดยระบบการศึกษาจะต้องทำให้อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาในระดับนานาชาติดีขึ้น มีการผลิตนักเรียนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถพูดภาษาอังกฤษ ก็จะดึงดูดให้ภาคธุรกิจหันมาสนใจแรงงานที่มีความ สามารถแข่งขันในระดับสากล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

‘นโยบายการศึกษา’ ตลาดเกิดใหม่ จูงใจต่างชาติเลือกเรียนต่อมากสุด

5 ประเด็นการศึกษาที่พรรคการเมืองยังไม่ได้เสนอ แต่ว่าที่รัฐบาลใหม่ควรทำ

รู้จัก ‘AI จับโกง’ นโยบายปราบคอร์รัปชัน ของพรรคก้าวไกล

20 ปี 'กับดักรายได้ปานกลาง' ทำอย่างไร ไทยจะเจอทางออก

 

การศึกษาที่ดี คือ การศึกษาที่ทุกคนเข้าถึงได้

ตามนโยบายของ 'พรรคก้าวไกล' ซึ่งมุ่งสร้างประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิม ด้วย 'การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต' โดยมีเรื่องของเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดพรรคจะให้กับเด็กแรกเกิดทุกราย 3,000 บาท ขณะที่เด็กเล็กจะได้ 1,200 บาทต่อเดือน และทำทั้งระบบ เพื่อให้การเลี้ยงดูเด็กง่ายขึ้น เช่น การให้สิทธิลาคลอด 180 วัน การตั้งศูนย์ดูแลเด็กอ่อนของรัฐ ที่ไทยไม่เคยได้รับ

ว่ากันว่าวิธีดังกล่าวจะทำให้ครอบครัวสามารถดูแลลูกจนครบ 6 เดือน หลังจากนั้นก็มีบริการของรัฐคอยดูแลให้ โดยจะให้งบ อปท. ที่ต้องการสร้างศูนย์ดูแลเด็กเล็ก มีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับอาคารสำนักงานเพื่อให้จัดห้องสำหรับดูแลเด็กเล็ก สำหรับผู้สูงอายุ จะต้องแก้ระบบบำนาญให้ครอบคลุมคนทั้งประเทศ โดยให้เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะรัฐละเลยมาตลอด โดยจะให้แบบขั้นบันได ปีแรก 1,000 บาท เพื่อให้เวลาในการจัดทำงบประมาณด้วย

นโยบายการศึกษารัฐบาลผสม เปลี่ยนการศึกษาไทยเป็นจริงหรือมโน?

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30  กล่าวถึง นโยบายการศึกษา ว่า พรรคก้าวไกล ต้องการพลิกแนวคิดเรื่องการศึกษา จากการศึกษาแบบอำนาจนิยม ที่สั่งให้เด็กต้องเป็นแบบที่ผู้ใหญ่เห็นว่าดีมาเป็นการศึกษาแบบโลกเสรี ที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กมีเสรีภาพในการเรียนรู้อย่างเสมอภาคและหลากหลาย

การศึกษาที่ดี คือการศึกษาที่ทุกคนเข้าถึงได้ไม่เหลื่อมล้ำ การศึกษาที่มีคุณภาพ ส่งเสริมทักษะที่จำเป็นต่ออนาคตและการใช้ชีวิต และการศึกษาที่ไม่สิ้นสุด ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่หัวใจสำคัญของนโยบายการศึกษาไทยก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล เน้นที่ประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาในการศึกษาไทยที่มีมายาวนาน

 

6 คุณสมบัติการศึกษาไทยในยุครัฐบาลก้าวไกล

“ทางออกไม่ใช่การเพิ่ม-เพิ่ม-เพิ่ม จนทำให้ความคาดหวังหรือภาระทั้งหมดไปตกอยู่ที่คุณครูและผู้เรียน แต่ต้องมีการลดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปด้วย เช่น ลดอัดฉีดเนื้อหา-เพิ่มพัฒนาทักษะ ลดจำนวนชั่วโมงเรียน-เพิ่มคุณภาพของสิ่งที่เรียน ลดการบ้านการสอบ-เพิ่มวิธีการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ลดเวลาครูที่ใช้ไปกับงานที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน-เพิ่มเวลาครูในห้องเรียน ลดกฎระเบียบอำนาจนิยมที่ละเมิดสิทธิ-เพิ่มมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยผู้เรียน ทั้งหมดเพื่อเปลี่ยนจากการทำมากได้น้อย มาเป็นการทำน้อยได้มาก” นายพิธา กล่าว

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวด้วยว่า นโยบายการศึกษาไทยก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกลที่ประกาศในวันนี้ จึงถูกออกแบบบนพื้นฐานว่านักเรียนหนึ่งคนที่เติบโตในประเทศไทย ต้องได้รับการศึกษาที่ประกอบด้วยอย่างน้อย 6 คุณสมบัติ ได้แก่

  1. การศึกษาที่ฟรีจริง
  2. การศึกษาที่ปลอดภัยไร้อำนาจนิยม
  3. การศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างคนให้ทันโลก
  4. การศึกษาที่คืนครูให้ห้องเรียน คืนคุณค่าให้วิชาชีพครู
  5. การศึกษาที่ไม่จำกัดอยู่ที่โรงเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 
  6. การศึกษาที่ใกล้ชิดผู้เรียน นักเรียน-ครู-ผู้ปกครองมีส่วนร่วม

นโยบายการศึกษารัฐบาลผสม เปลี่ยนการศึกษาไทยเป็นจริงหรือมโน?

สำหรับชุดนโยบาย 'การศึกษาไทยก้าวหน้า' ของพรรคก้าวไกล แบ่งเป็น 6 ด้าน มีทั้งหมด 20 นโยบาย ได้แก่

  •  'การศึกษาที่ฟรีจริง' ประกอบด้วย

1. เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง

2. ทุกโรงเรียนมีงบพอ

3. โรงเรียนโปร่งใส ปราศจากทุจริต

  • 'การศึกษาที่ปลอดภัย ไร้อำนาจนิยม' ประกอบด้วย

4. ส้วมสะอาด อาคารสถานที่ปลอดภัย ซึมเศร้ามีที่ปรึกษา

5. กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน

6. ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที

7. ยกเลิกตั้งแถว ใช้เวลาอัปเดตเหตุการณ์บ้านเมือง

  • 'การศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างคนให้ทันโลก' ประกอบด้วย

8. ออกแบบหลักสูตรใหม่ เน้นทักษะที่ได้ใช้จริง

9. ชั่วโมงเรียนดีมีคุณภาพ ลดคาบเรียน-การบ้าน-การสอบ

10. โรงเรียน 2 ภาษา นักเรียนพูดภาษาอังกฤษได้

11. เปิดข้อสอบ TCAS ย้อนหลังทั้งหมดพร้อมเฉลยทันที

  • 'การศึกษาที่คืนครูให้ห้องเรียน คืนคุณค่าให้วิชาชีพครู' ประกอบด้วย

12. คืนครูให้นักเรียน เลิกนอนเวร ลดงานเอกสาร ยกเลิกพิธีรีตองในการประเมิน-รับแขก

13. นักเรียนประเมินครู ครูประเมิน ผอ.

14. งบอบรมให้ครู-โรงเรียน ตัดสินใจเองว่าจะเรียนรู้อะไร

  • 'การศึกษาที่ไม่จำกัดอยู่ที่โรงเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต' ประกอบด้วย

15. คูปองเปิดโลก สูงสุด 2,000 บาทต่อปี สำหรับเรียนรู้นอกห้องเรียน

16. เรียนฟรีอาชีวะถึง ปวส. จบแล้วมีงานทำ

17. แพลตฟอร์มเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนฟรีไม่จำกัด รับรองคุณวุฒิพร้อมระบบจัดหางาน

  • 'การศึกษาที่ใกล้ชิดผู้เรียน นักเรียน-ครู-ผู้ปกครองมีส่วนร่วม' ประกอบด้วย

18. กระจายอำนาจให้โรงเรียน เติบโตได้ภายใต้ท้องถิ่น

19. บอร์ดโรงเรียน ต้องมีตัวแทนนักเรียน

20. สภาเยาวชน มาจากการเลือกตั้ง เสนอกฎหมายไปที่สภาฯได้

นโยบายการศึกษารัฐบาลผสม เปลี่ยนการศึกษาไทยเป็นจริงหรือมโน?

เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องแก้ปัญหาการศึกษาไทย 

ดร.สมเกียรติ  ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งดำเนินการในเรื่องของนโยบายด้านการศึกษามี 5 ข้อ ได้แก่ 

1.ควรเร่งปรับให้มีหลักสูตรแกนกลางใหม่ภายใน 3 ปี โดยออกแบบให้เป็นหลักสูตรที่อิงกับฐานสมรรถนะ 

การปฏิรูปการศึกษาไทย ใดๆ ไม่สามารถทำได้ถ้าไม่มีการปรับแก้หลักสูตรให้ทันสมัยพอ หลักสูตรการศึกษาของไทยที่ผ่านมาไม่ได้เน้นการสร้างสมรรถนะ อย่างการพัฒนาให้เยาวชนมีความสามารถในนำวิชาความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่มีไปใช้ประโยชน์จริงหรือต่อยอดในอนาคต

นอกจากนั้น การไม่ปรับโครงสร้างเวลาในการเรียนรู้ การเรียนรู้ส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยดัชนีชี้วัด หรือ KPI ซึ่งมีประมาณ 2,000 KPI ทำให้เวลาครูไปสอนต้องคอยเช็คว่าสอนครบทุกตัวชี้วัดหรือยัง เพราะฉะนั้นครูแทบไม่เหลือเวลาในการพัฒนารูปแบบการสอนใหม่ๆ ที่จะทำให้นักเรียนได้ทดลองจริงจากตัวอย่างจริงได้สำเร็จ

2. กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายและแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจำนวนประชากรที่เกิดในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีอัตราการเกิดปีละประมาณ 1 ล้านคน ล่าสุดในปี 2564 มีอัตราการเกิดราว 5.4 แสนคน ส่งผลให้โครงสร้างประชากรนักเรียนลดลง โดยนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลดลงจาก 7.2 ล้านคน ในปี 2556 เหลือเพียง 6.5 ล้านคน ในปี 2565 ทำให้โรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ลดขนาดเป็นโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นถึง 2,200 โรงเรียน การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยในการจัดการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการบริหารบุคลากร

“เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงศึกษาธิการหนักอกหนักใจอยู่ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมีต้นทุนบริหารจัดการสูง ขณะที่ครูก็มีไม่ครบชั้น ไม่ครบวิชา ถึงแม้จะมีความพยายามเกลี่ยครูจากโรงเรียนที่เกินมาโรงเรียนที่ขาดก็พบว่ายังขาดครูอีกประมาณ 22,000 คน”

ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (Small Protected School) ยังต้องคงไว้พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรให้เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าทำเช่นนี้ได้จะช่วยให้มีครูครบชั้น ครบวิชา และยกระดับการเรียนการสอนให้ดีขึ้นได้ แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการบริหารบุคลากรครูที่ต้องโยกย้ายอย่างเหมาะสม

3. กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ และประสานหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาอื่น ให้ทบทวนและยกเลิกโครงการ ที่ไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนในหลักสูตรใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

4. ประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษา

หากการไปโรงเรียนแล้วต้องอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมแห่ง ‘ความกลัว’ ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจ และทำให้ทักษะการคิดและการเรียนรู้ลดต่ำลง การจะปฏิรูปการศึกษาไทย ให้เด็กมีทักษะในการคิดขั้นสูง แปลว่าโรงเรียนต้องมีความปลอดภัย ซึ่งการออกคำสั่งหรือประกาศอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรอย่างถูกต้อง และสร้างระบบการร้องเรียนและตรวจสอบที่มีประสิทธิผล

 5. สร้างตัวอย่างให้ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการมีวัฒนธรรมแบบใหม่ในการทำงานที่เปิดกว้างในการรับฟังความเห็น กล้าทดลองสิ่งใหม่

นโยบายการศึกษารัฐบาลผสม เปลี่ยนการศึกษาไทยเป็นจริงหรือมโน?

ต้องเข้าใจปัญหาด้านการศึกษา เลิกแจกเงิน

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ใครที่อาสาเข้ามาดูแลด้านการศึกษา จำเป็นต้องทราบปัญหาด้านการศึกษาอย่างถ่องแท้และมีการศึกษาเรื่องนี้ลงไปถึงรากลึกของปัญหาที่มีความซับซ้อน เชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาอื่น ๆ มากมาย รวมถึงต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะปัญหาการศึกษาในหลายด้านเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

การดูแลเยาวชนทุกกลุ่มซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในสถานศึกษาแต่ต้องมองในมุมกว้างกว่านั้น ต้องมีนโยบายที่สามารถดูแลพวกเขาจากบ้านไปสู่เส้นทางการดำเนินชีวิต แต่ปัจจุบัน สิ่งที่เห็นจากนโยบายส่วนใหญ่ จะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ แจกเงิน ลดภาระครู แต่ยังไม่มีการส่งไม้ต่อว่าเด็กจะก้าวไปสู่ระดับการศึกษาขั้นสูงกว่าได้อย่างไร 

“เราเป็นประเทศที่ประกาศใช้นวัตกรรมนำหน้า ใช้เทคโนโลยีนำหน้า แต่การศึกษายังไม่ได้ยกระดับห่วงโซ่คุณค่า และห่วงโซ่อุปทานของการผลิตกำลังคน ที่ต้องทำให้คนหลุดจากระบบการศึกษาให้น้อยที่สุด และส่งต่อไปสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาให้มากที่สุด แต่ก็ยังมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษานับแสนราย  พรรคการเมืองอาจจะบอกว่าการแก้ปัญหาการศึกษาของทั้งประเทศให้เสร็จภายในช่วงอายุของรัฐบาลคือ 4 ปีเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่อย่างน้อยก็น่าจะได้เห็นคำมั่นสัญญาในการพยายามแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบ หรือให้สำเร็จในบางพื้นที่เพื่อถอดบทเรียนหรือสร้างเป็น Sandbox ขึ้น อาจจะเลือกพื้นที่หรือกลุ่มคนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาสูงก่อน ทำเต็มร้อยไม่ได้แต่ถ้าทำ 10 ในร้อยได้อย่างน้อยก็ช่วยคนได้ 10 คนจากในร้อยคนก่อน”

เปลี่ยนMindset สร้างโลกการศึกษาในอนาคต

ดร.เกียรติอนันต์ มองว่าการแก้ปัญหาการศึกษาให้สอดรับกับปัจจุบันมากที่สุดรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน Mindset หรือกรอบความคิดหรือทัศนคติในการแก้ปัญหา เพราะโลกในปัจจุบันหมุนเร็วมาก 

ดังนี้ โลกของการศึกษาต้องสอดรับกับโลกของตลาดแรงงาน ในเมื่อโลกของตลาดแรงงานมีระยะเวลาของการเตรียมการ 3-4 ปี โลกของการศึกษาต้อง 3-4 ปี นั่นคือ 1 เทอมของพรรคการเมือง อย่างแรกต้องรู้ว่าโลกที่อาชีพเปลี่ยนเร็ว การศึกษาต้องปรับตัวให้เร็วเท่าทันระยะเวลาในการจัดการ กระทรวงศึกษาและกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องเปลี่ยน Mindset ว่าไม่ใช่กระทรวงที่ทำเพื่อปัจจุบัน แต่ต้องเป็น Ministry of Future คือเป็นกระทรวงที่ทำเพื่ออนาคต เป็นกระทรวงที่ต้องมองไปตรงข้างหน้าว่า เด็กจบการศึกษาแล้วจะเจออะไรบ้าง แล้วย้อนกลับมาคิดให้ได้ว่าต้องเตรียมอะไรเพื่อพวกเขา 

ดร.เกียรติอนันต์ ระบุอีกว่า ปัจจุบันไม่สามารถจัดการศึกษาให้เตรียมคนเพื่ออาชีพได้เหมือนในอดีต แต่ต้องเตรียมสกิลหรือความสามารถเพื่อรับกับสถานการณ์ด้านอาชีพที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“วิธีการจัดทรัพยากรบุคคลจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด การเรียนเพื่ออาชีพนั้นไม่เพียงพอแล้ว ต้องเป็นการเรียนเพื่อให้มีทักษะและถ้าเรามีทักษะมากพอ เราก็สามารถไปหาอาชีพได้เอง เพราะฉะนั้น การเรียนโดยใช้สมรรถนะ การใช้ทักษะเป็นหลักจะสำคัญมาก พอเป็นแบบนี้ก็จะสอนแบบเดิมไม่ได้แล้ว ไม่ได้เป็นการเตรียมกำลังคนเฉพาะในสถานศึกษา ระบบการพัฒนาคนจะต้องมองว่าคนทุกคนจะต้องได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดเวลา ดังนั้นโมดูลในการดูแลคน จะต้องทำให้เขาเข้าออกในการเรียนรู้ในโลกของทำงานได้อย่างรวดเร็ว ย่อยจากการเรียนรู้ของเขาในส่วนที่ย่อยที่สุดและง่ายที่สุด ทำให้คนทุกช่วงวัยเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

นโยบายการศึกษารัฐบาลผสม เปลี่ยนการศึกษาไทยเป็นจริงหรือมโน?

อย่างไรก็ตาม องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (Unesco) ได้ศึกษาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21  เป็นรายงานชื่อว่า 'Learning : The Treasure Within' ในรายงานดังกล่าวมีสาระสำคัญตอนหนึ่งที่กล่าวถึง 'สี่เสาหลักทางการศึกษาง ซึ่งเป็นหลักในการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยการเรียนรู้ 4 แบบ นั่นคือ

การเรียนรู้เพื่อรู้ คือ การเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนากระบวนการคิด การแสวงหาความรู้และวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนเพื่อให้สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต โดยกระบวนการเรียนรู้เน้นการฝึกสติ สมาธิ ความจำ ความคิด ผสมผสานกับสภาพจริงและประสบการณ์ในการปฏิบัติ

การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้ คือ การเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาความสามารถและความชำนาญ รวมทั้งสมรรถนะทางด้านวิชาชีพ สามารถปฏิบัติงานเป็นหมู่คณะสามารถประยุกต์องค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติงานและอาชีพได้อย่างเหมาะสมกระบวนการเรียนรู้จะเป็นการบูรณาการระหว่างความรู้ภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติที่เป็นประสบการณ์ต่างๆ ทางสังคม

การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน คือ การเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างมีความสุข มีความตระหนักในการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มีความเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเข้าใจความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ของแต่ละบุคคลในสังคม

การเรียนรู้เพื่อชีวิต คือ การเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย และสติปัญญาให้ความสำคัญกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ภาษา และวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ศีลธรรม สามารถปรับตัวและปรับปรุงบุคลิกภาพของตน เข้าใจตนเองและผู้อื่น

ฉะนั้น ในส่วนของการดำเนินนโยบายการศึกษาที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็น พรรคก้าวไกล หรือพรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล คงต้องเร่งขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษา และเร่งแก้ปัญหาการศึกษา เพราะระบบการศึกษาเป็นแหล่งบ่มเพาะพัฒนาคน