Gov Lab แก้ปัญหา PM2.5 ภาคเหนือ นำร่อง ดอยสุเทพ-ปุย และ อำเภอแม่แจ่ม

Gov Lab แก้ปัญหา PM2.5 ภาคเหนือ นำร่อง ดอยสุเทพ-ปุย และ อำเภอแม่แจ่ม

สำนักงาน ก.พ.ร. และ สกสว. ร่วมเสนอแผน Government innovation Lap แก้วิกฤตมลพิษฝุ่น 'PM 2.5' นำร่องอำเภอแม่แจ่ม และดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ต้นแบบในการทำงาน ก่อนขยายผลต่อในพื้นที่ภาคเหนือ

สถานการณ์ปัญหาหมอกควันในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ที่ถูกจัดอันดับระดับโลก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศในช่วงฤดูแล้ง (มกราคม-เมษายน) ของทุกปี

 

ชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในการประชุม การขับเคลื่อนการเสริมสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ระบุว่า ปัญหาดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งมีเศษวัชพืช และเศษวัสดุการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง การเผาเพื่อหาของป่าในพื้นที่ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่มีเศษกิ่งไม้และใบไม้ร่วงสะสมเป็นเชื้อเพลิง

 

ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะและมีภูเขาล้อมรอบ จึงทำให้ความรุนแรงของปัญหาเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับจำนวนของหมอกควันที่ข้ามแดนมาจากประเทศตอนบนของภาคเหนือในประเทศไทย ส่งผลให้สถานการณ์ ‘ฝุ่นและพิษควันภาคเหนือ’ เป็นหนึ่งในปัญหาร้ายแรง

 

Gov Lab แก้ปัญหา PM2.5 ภาคเหนือ นำร่อง ดอยสุเทพ-ปุย และ อำเภอแม่แจ่ม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

นำร่อง ดอยสุเทพ-ปุย และ อำเภอแม่แจ่ม

ทั้งนี้ การประชุมสรุปแผนการขยายผลการพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนัก ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และภาคีเครือข่าย อย่างกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การ มหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้แทนภาคประชาสังคม

 

มีการนำเสนอการกำหนดพื้นที่ในการทำงานนำร่อง 2 พื้นที่ ก่อนขยายผลต่อ คือ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และ อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทีมีสาเหตุของการเกิดไฟป่าแตกต่างกัน

 

Gov Lab แก้ปัญหา PM2.5 ภาคเหนือ นำร่อง ดอยสุเทพ-ปุย และ อำเภอแม่แจ่ม

 

Gov Lab แก้ปัญหา PM2.5 ภาคเหนือ

 

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม เปิดเผยว่า คณะทำงานจะนำแนวทางห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ หรือ Government Innovation Lab หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Gov Lab มาประยุกต์ใช้ในการจัดการปัญหา

 

ซึ่งเป็นการนำแนวคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่เน้นผู้ใช้บริการเป็นสำคัญมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษฝุ่น PM 2.5 พร้อมทั้งอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อคิดค้นและสร้างนวัตกรรมงานบริการภาครัฐให้แก่ประชาชนผ่านกระบวนการทดสอบ ทดลองในห้องปฏิบัติการออกแบบ อันจะก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านการวางนโยบายสาธารณะ และการส่งมอบบริการให้แก่ประชาชน ใน 8 เรื่อง ประกอบด้วย

1.ระบบฐานข้อมูล (Geo-Informatic database) และ เครือข่าย ที่เปิดให้มีการใช้ข้อมูลร่วมกันในการตัดสินใจ และวางแผนในการจัดการ

2. ระบบบริหารจัดการไฟ เพื่อศึกษาสาเหตุการเผา การกำหนดกติกาเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่า การส่งเสริมการจัดการร่วม

3. ไฟพื้นที่เกษตร เพื่อวางระบบในการติดตาม ตรวจสอบย้อนกลับ และ การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ

4. พื้นที่สำนักงานคณะคณะกรรมการนโยบายที่ดิน เพื่อกำหนดเงื่อนไขการได้สิทธิ์การใช้ประโยชน์

5.ระบบติดตามความก้าวหน้าผลปฏิบัติการตามแผน เช่น ดาวเทียม Low Cost Sensor

6. ตัวชี้วัด ทั้งในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่

7 กลไกการบริหารจัดการที่ยั่งยืน ภายใต้คณะทำงานเพื่อดำเนินการ

8.ชุดความรู้และงานวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดการไฟ ไร่หมุนเวียน

 

ด้าน รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ กล่าวว่า สกสว. มีพันธกิจในการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศ รวมถึงบริหารระบบงบประมาณด้าน ววน. ผ่านการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. ในทุกมิติ

 

พร้อมที่จะนำข้อเสนอแนะถึงแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษฝุ่น PM 2.5 กลับไปทบทวน แผนงานย่อยรายประเด็น งานวิจัยและการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเร่งด่วนฝุ่นละออง PM 2.5 ภายใต้แผนงาน P24 แก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ ปีงบประมาณ 2566 เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป