‘ฝุ่นควันพิษ’ภาคเหนือ ปัญหาที่ ‘รัฐ’ ต้องเร่งจัดการ

‘ฝุ่นควันพิษ’ภาคเหนือ ปัญหาที่ ‘รัฐ’ ต้องเร่งจัดการ

‘ฝุ่นควันพิษ’ ภาคเหนือ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี รวมถึง ‘ฝุ่นควันพิษ’ประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เป็นเรื่องที่ 'รัฐ' ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน

กรีนพีซ ประเทศไทย ได้จัดนิทรรศการ Hazibition : ใต้ฝุ่นควัน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวสาเหตุปัญหา ฝุ่นควันพิษ ในภาคเหนือประเทศไทย วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการได้พูดคุยกับคนเหนือเรื่องหมอกควันพิษ ทุกคนพูดว่า เจอปัญหานี้มา 15-20 ปีแล้ว

ไม่ว่าภาครัฐ หรือประชาชน มักโทษว่า เกษตรกรหรือคนพื้นเมืองตัวการ เป็นคนเผา

เราจึงได้จัดนิทรรศการนี้ขึ้นมา เพื่อย้อนโยงให้เห็นว่า ปัญหาของฝุ่นควันพิษนี้มีความเกี่ยวข้องกับอะไร และมีนโยบายใดของภาครัฐที่อยู่เบื้องหลังบ้าง

‘ฝุ่นควันพิษ’ภาคเหนือ ปัญหาที่ ‘รัฐ’ ต้องเร่งจัดการ Cr. Kanok Shokjaratkul

จากรายงานของกรีนพีซในหลาย ๆ ปีที่ทำมาพบว่า ปัญหาฝุ่นควันพิษของภาคเหนือ หรืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีความเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

เราวิเคราะห์ข้อมูลผ่านภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดมีจุดเผาไหม้ มีจุดความร้อน แล้วก็มีพื้นที่ป่าที่ถูกเผาไหม้ 10.6 ล้านไร่ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด"

‘ฝุ่นควันพิษ’ภาคเหนือ ปัญหาที่ ‘รัฐ’ ต้องเร่งจัดการ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ปัญหา มาจากนโยบาย ?

รัตนศิริ กล่าวว่า จากการย้อนดูนโยบายของภาครัฐพบว่า จุดกำเนิดที่เกี่ยวข้องกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีมาตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2504 

"เนื้อเพลงผู้ใหญ่ลี ร้องออกมาชัดเจนว่า 'ทางการ' เขาสั่งมาว่า ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร ซึ่งตรงกับรัฐบาลเริ่มทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) ให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ เน้นการพัฒนาประเทศ เปลี่ยนระบบเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นเกษตรอุตสาหกรรม

ปี 2510 รัฐบาลส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออกด้วยการลดหย่อนภาษีให้กับการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร

ปี 2518 บริษัทเอกชนนำระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย ลงทุนเลี้ยงไก่ด้วยระบบฟาร์มระดับอุตสาหกรรมครบวงจร

‘ฝุ่นควันพิษ’ภาคเหนือ ปัญหาที่ ‘รัฐ’ ต้องเร่งจัดการ Cr. Kanok Shokjaratkul

ปี 2530 รัฐมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฐานะพืชเศรษฐกิจของประเทศ

ปี 2543 การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ภาคเหนือ เริ่มขยายตัว เกิดปรากฎการณ์ข้าวโพดรุกป่าอย่างแพร่หลาย ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา

ปี 2545 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายผลักดันระบบเกษตรพันธสัญญามาแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2547)

ปี 2547 เกิดโครงการ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง (Ayeyawaddy-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) นำเกษตรพันธสัญญาไปใช้ในประเทศลาวและเมียนมา ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหลือร้อยละ 0

‘ฝุ่นควันพิษ’ภาคเหนือ ปัญหาที่ ‘รัฐ’ ต้องเร่งจัดการ Cr. Kanok Shokjaratkul

ปี 2549 ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ภาคเหนือตอนบนของไทย เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น

ปี 2552 รัฐมีนโยบายประกันราคาพืชผล ประกันรายได้ให้เกษตรกร แทนการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรจากการรับจำนำ

ปี 2560 ถึงปัจจุบัน รัฐออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหลือร้อยละ 0 ตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area - AFTA)

มีนโยบายประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โครงการชดเชยดอกเบี้ยเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ พร้อมมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น"

‘ฝุ่นควันพิษ’ภาคเหนือ ปัญหาที่ ‘รัฐ’ ต้องเร่งจัดการ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • 20 ปีที่ผ่านมา ป่าลดลง พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น

ภาคเหนือตอนบนของไทยมีป่าไม้ลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 4 เท่า จาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชไม่กี่ชนิดที่สามารถขายได้ทุกเมล็ด ปลูกมาเท่าไรก็มีคนรับซื้อไปหมด ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกกันเยอะ แต่รายได้เกษตรกรก็ไม่ได้สูงหรือว่าร่ำรวย ยังตกอยู่ในวังวนภาวะหนี้สินอยู่

‘ฝุ่นควันพิษ’ภาคเหนือ ปัญหาที่ ‘รัฐ’ ต้องเร่งจัดการ

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • พื้นที่ป่าหายไป ฝุ่นควันพิษเพิ่มขึ้น

รัตนศิริ กล่าวว่า กรีนพีซตั้งสมมติฐานว่า พื้นที่ป่าหายไป พื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้น ฝุ่นควันพิษก็เพิ่มขึ้น

"ภาคเหนือเจอฝุ่นพิษมา 15 ปี ข้าวโพดเพิ่มขึ้นเท่าไร มีความเกี่ยวข้องกับฝุ่นพิษมากน้อยแค่ไหน จะเห็นได้ว่าทุก ๆ 5 ปี

ในปี 2545 มีข้าวโพด 6 แสนไร่ ปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า คือ 2 ล้านกว่าไร่ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ในภาคเหนือตอนบน

พื้นที่ป่าลดลงไปเรื่อย ๆ ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวโพดก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในไทยเริ่มคงที่ แต่เพิ่มขึ้นในรัฐฉาน เมียนม่า และลาว

เปอร์เซนต์ของป่าที่ถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ระหว่างปี 2558 กับ 2563 พบว่า ลาวมีพื้นที่ข้าวโพดเพิ่มขึ้น 200 กว่าเปอร์เซนต์"

‘ฝุ่นควันพิษ’ภาคเหนือ ปัญหาที่ ‘รัฐ’ ต้องเร่งจัดการ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ปัญหาฝุ่นควันพิษ เป็นปัญหาเร่งด่วน

รัตนศิริ กล่าวว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ฝุ่นควันพิษภาคเหนือ ไม่ควรแก้ไขแค่ตอนต้นปี แล้วสิ้นสุดลง

"มันเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานที่ต้องได้รับการแก้ไข จากนโยบายของภาครัฐ ควรมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย

มีกฎหมาย มีมาตรการ มีการกำหนดภาระรับผิดชอบของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องการเผา และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด

‘ฝุ่นควันพิษ’ภาคเหนือ ปัญหาที่ ‘รัฐ’ ต้องเร่งจัดการ Cr. Kanok Shokjaratkul

ในตอนนี้ประเทศไทยยังไม่ได้มีกฎหมายใด ๆ ที่สามารถเอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้ ตอนนี้ไทยส่งออกเนื้อไก่เป็นอันดับ 1 ของเอเซียและเป็นอันดับ 3 ของโลก ที่แลกมาด้วยสุขภาพของประชาชนหลาย ๆ ล้านคน ในภาคเหนือ"

นิทรรศการ Hazibition : ใต้ฝุ่นควัน ฝุ่นภาคเหนือมาจากไหน แล้วใครต้องรับผิดชอบ? จัดขึ้นที่ ชั้น 5 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 23-28 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00-19.00 น.