แคดเมียมอันตรายเพียงใด | วรากรณ์ สามโกเศศ

แคดเมียมอันตรายเพียงใด | วรากรณ์ สามโกเศศ

ข่าวคราวดังที่ว่ามีการเคลื่อนย้ายและกระจายเก็บไว้ในหลายจังหวัดของสารพิษร้ายแรง เช่น แคดเมียม นับหมื่นตันอย่างเงียบกริบ ทำให้รู้สึกโกรธ นอกจากประเด็นอันน่าอัศจรรย์และน่าโมโหนี้แล้ว ผู้คนสงสัยว่ามันอันตรายมากน้อยเพียงใด

แคดเมียม (Cadmium) เป็นธาตุซึ่งมีสัญลักษณ์ว่า Cd ทองคำ (Au) เงิน (Ag) ยูเรเนียม (U) ฯลฯ โดยปรากฏอยู่ในตารางธาตุ (periodic table) มี atomic number 48 เป็นโลหะที่อ่อนไม่แข็งเช่นเหล็ก มีสีขาวออกไปทางน้ำเงิน มีลักษณะทางเคมีคล้ายกับสังกะสี (Zn) และปรอท (Hg) ในปี ค.ศ.1817 ชาวเยอรมัน 3 คน ค้นพบธาตุนี้ พร้อมกัน

แคดเมียม มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น

  • สมัยก่อนใช้แบตเตอรี่ชนิด nickel-cadmium (NiCd) ซึ่งชาร์จไฟได้ก่อนที่จะใช้ชนิด nickel-metal hydride และ lithium-ion กันในปัจจุบัน
  • ช่วยทำให้สีแนวเหลืองถึงแดงจัดสดขึ้น ในสีทา สีเคลือบ และพลาสติก
  • ใช้เคลือบเหล็กเพื่อป้องกันสนิม โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้ในทะเลและอวกาศ
  • ผสมในพลาสติก PVC เพื่อความคงทนขึ้น
  • ผสมกับทองแดงและเหล็กเพื่อป้องกันความอ่อนล้า
  • ใช้ในการผลิตบางชนิดของเซมิคอนดักเตอร์ และส่วนประกอบของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางชนิด ฯลฯ

แร่แคดเมียม มีอยู่ในธรรมชาติแต่น้อยมาก ดังนั้น จึงมักสกัดจากกากที่มาจากการผลิตสังกะสี แคดเมียมเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการนี้ เมื่อแร่ zinc sulfide ถูกสกัดเป็นสังกะสี ในปี 2020 มีการผลิตแคดเมียม 24,500 ตัน จีนรายใหญ่สุดผลิต 42% เกาหลีใต้ 18% ญี่ปุ่น 7% รัสเซีย 6% และคาซัคสถาน 6% ใน 100 ปีแรกหลังการค้นพบ เยอรมนีเป็นประเทศเดียวที่ผลิตแคดเมียม

ประเด็นสำคัญของแคดเมียมก็คือ ความเป็นพิษ (toxicity) แคดเมียมมีความเป็นสารกัมมันตรังสี (radioactive substance) ต่ำมาก จนไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นเดียวกับหลายสิ่งที่เราประสบในชีวิตประจำวัน

เช่น ยาสูบ เครื่องตรวจจับควัน ถั่วบราซิล คอสมิกเรย์ (จากแสงอาทิตย์) หินแกรนิต ฯลฯ แต่มีความเป็นพิษสูงจนในหลายการผลิตพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ เนื่องจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์อยู่มากเมื่อเปรียบเทียบกับสารอื่นๆ

แคดเมียมก่อให้ความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ดังต่อไปนี้

เมื่อสะสมในร่างกายจากการบริโภค หรือการเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังหรือการหายใจ นำไปสู่การทำลายไต การลดแร่ธาตุที่สนับสนุนกระดูก (bone demineralization) อันนำไปสู่โรคกระดูกพรุน ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในโรคมะเร็งบางชนิด เช่น ปอด ต่อมลูกหมาก ตลอดจนทำลายการทำงานของระบบสืบพันธุ์ การทำงานของหัวใจ ระบบประสาท ระบบหายใจ ฯลฯ

พูดสั้นๆ ก็คือ แคดเมียมถูกจัดว่ามีความเป็นพิษสูงมาก (high toxicity) เนื่องจากมีผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โอกาสสัมผัสแคดเมียมและวัตถุดิบที่นำไปสู่การผลิตแคดเมียม เป็นเรื่องที่ถือว่าสำคัญมากในประเทศพัฒนาแล้ว 

คำถามที่ถามไปโมโหไปก็คือ มันเกิดขึ้นได้อย่างไรในสังคมไทย ที่มีกฎระเบียบเต็มไปหมดเกี่ยวกับสารพิษในการผลิตหลอม การจัดการกาก การขนย้าย การส่งออก ฯลฯ ผมคิดว่ากากสังกะสีคงมาจากการถลุงแร่สังกะสีของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งที่รัฐร่วมถือหุ้นใน จ.ตาก เมื่อ 20-30 ปีก่อน 

การถลุงแร่สังกะสีก็จะได้กากสังกะสีที่ขนย้ายกันนี้ ซึ่งหากนำมาแปรรูปต่อก็จะได้แคดเมียม บริษัทนี้ปัจจุบันเลิกถลุงแร่สังกะสีมาหลายปีแล้วเพราะแร่สังกะสีหมด ปัจจุบันบริษัทต่างประเทศมาเทคโอเวอร์และหันเหไปสู่กิจกรรมพลังงาน

บริษัทใหญ่ในอดีตนี้คงเก็บรักษากากไว้เป็นอย่างดี ถูกตามหลักวิชาเพราะรัฐถือหุ้นหลังจากได้ฝังกลบเก็บไว้นานหลายปีก็มีนักธุรกิจจีนมาขอซื้อเพื่อนำไปแปรรูปเป็นแคดเมียมและสารอื่นๆ หรือส่งออก จึงขุดกันขึ้นมาขาย (คล้ายกรณีของการพยายามสกัดกากดีบุกเป็นแทนทาลัมที่ภูเก็ดเมื่อ 30-40 ปีก่อน) แคดเมียมมีราคาประมาณ 4 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม หรือตันละ 4,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 150,000 บาท) 

เข้าใจว่ากาก 13,000 ตัน อาจแปรรูปเป็นแคดเมียมได้ประมาณ 400 ตัน และอาจได้แร่อื่นๆ อีก เช่น สังกะสี ตะกั่ว เหล็ก ทองแดง หรือแม้แต่เงินและทองคำ (หากมีอยู่ในแร่สังกะสีแต่แรก) ภายใต้เทคโนโลยีของการสกัดสมัยใหม่ พูดสั้นๆ ก็คือกากสังกะสีนี้ิอาจมีมูลค่าแอบแฝงอยู่มหาศาล

คำถามง่ายๆ ก็คือ การขนย้าย 13,000 ตันของกากในถุงบิ๊กแบ็กนั้น เป็นเรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ หรือครับ มันต้องขนกันเป็นเดือนๆ รถวิ่งกันนับพันนับหมื่นเที่ยว (แคดเมียมหนักกว่าน้ำเกือบ 9 เท่า ดังนั้น วัตถุดิบผลิตมันน่าจะหนักไม่น้อย การขนย้ายจึงต้องวิ่งมากเที่ยวขึ้น) 

อุตสาหกรรมจังหวัด สิ่งแวดล้อมจังหวัด ตำรวจทางหลวง ตำรวจท้องถิ่น ตำรวจดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ข้าราชการมหาดไทย ฯลฯ จะไม่ได้กลิ่นบ้างเชียวหรือ และขนกันได้อย่างไรนับหมื่นตันโดยไม่มีใบอนุญาตขนส่ง พวกเราที่ไม่ได้กินหญ้าไม่เชื่อว่าเรามีข้าราชการที่ไร้เดียงสาดูแลรับผิดชอบชีวิตและความปลอดภัยของเด็กๆ และพวกเราครับ

เรื่องแบบนี้ถ้าเป็นประเทศที่จริงจังกับความปลอดภัยในชีวิตของพลเมืองแล้ว รับรองได้ว่าติดคุกกันรายคนจนใส่หมวกไม่ได้เป็นแน่ (เพราะหัวโต) แต่บ้านเราอาจแค่เขกเข่ากันแล้วก็จบ เราไม่มีวันรู้กันจริงๆ

ในที่สุดว่าแคดเมียมมันกระจายไปจังหวัดต่างๆ มากน้อยเพียงใด และพวกเราและลูกหลานรับความเป็นพิษของมันเข้าไปแล้วเท่าใด พร้อมกับฝุ่น PM2.5 นับวันยิ่งประหลาดมากขึ้นทุกทีในประเทศสารขัณฑ์แห่งนี้