ตลาด Health & Wellness อาเซียนโต ไทยติดท็อปจุดหมายปลายทางชาวต่างชาติ

ตลาด Health & Wellness อาเซียนโต ไทยติดท็อปจุดหมายปลายทางชาวต่างชาติ

ตลาด Health and Wellness ในอาเซียนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยได้รับแรงผลักดันจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความตระหนักด้านสุขภาพมากขึ้น การสนับสนุนจากรัฐบาลด้านการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น

KEY

POINTS

  • ตลาด Health & Wellness ในอาเซียนมีมูลค่า 51.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 และคาดว่าจะเติบโตที่อัตรา 12.7% จนถึงปี 2032
  • ไทยมีสถานพยาบาลระดับโลกและสปารีสอร์ตหรู
  • สิงคโปร์มีโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ที่ทันสมัยและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
  • มาเลเซียมีตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
  • เวียดนามมีเมืองสำคัญ เช่น นครโฮจิมินห์และฮานอย ที่กำลังกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์
  • อินโดนีเซียกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่สำคัญในตลาด โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

ประเทศอาเซียนจำนวนมากให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพที่มีคุณภาพสูงในราคาที่ถูกกว่าประเทศตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ โดยการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพเป็นการผสมผสานการรักษาทางการแพทย์ การผ่าตัด หรือบริการเพื่อสุขภาพ เช่น สปาและการรักษาแบบองค์รวม ในขณะที่ให้ผู้ป่วยได้พักฟื้นในสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลายและฟื้นฟูร่างกาย

นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จากภูมิภาคต่างๆ เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง และประเทศในภูมิภาคเอเปค เช่น จีน ออสเตรเลีย ต่างมุ่งหน้าสู่อาเซียนเพื่อรับการรักษาต่างๆ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียและไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่มีชื่อเสียงในการเสนอสถานที่พักผ่อนเพื่อสุขภาพที่รวมถึงการบำบัดสปา การฝึกโยคะ และการบำบัดทางเลือก ผสมผสานการรักษาทางการแพทย์กับการผ่อนคลายและการฟื้นฟู
ประเทศติดท็อป คุณภาพการรักษา

ตลาดโต คาดพุ่ง 5.7 พันล้านบาท

ในปี 2023 ตลาดHealh & Wellness มีมูลค่าตลาดถึง 51.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.7 ล้านล้านบาท) และคาดว่าจะเติบโตที่อัตรา CAGR 12.7% ระหว่างปี 2024 ถึงปี 2032 ซึ่งมูลค่าคาดการณ์ปี 2032 อยู่ที่ 172.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (5.7 ล้านล้านบาท) และการใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพคาดว่าจะเติบโต 7% (ข้อมูลจาก Global Marketing Insights)

สำหรับส่วนแบ่งตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพของอาเซียนถูกครอบงำโดยผู้เล่นหลักบางราย แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีองค์กรใหญ่ ผู้เล่นรายย่อยในพื้นที่ และสตาร์ทอัพเข้าร่วมการแข่งขันในอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรม เช่น Hilton Worldwide Holdings Inc., SingHealth Group, Four Seasons Hotels, Marriot International, InterContinental Group และ IHH Healthcare ยังคงรักษาสถานะที่แข็งแกร่งด้วยพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ

ตลาดสุขภาพอาเซียนพุ่งแรง

ประเทศที่มีธุรกิจสุขภาพที่ประสบความสำเร็จที่สุดในอาเซียน ได้แก่

ประเทศไทย : โดดเด่นด้วยสถานพยาบาลระดับโลกและสปารีสอร์ตหรู ทำให้ไทยยังคงเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านสุขภาพและความงาม โดยประเทศไทยมีรายได้จากตลาด 24,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (816,648 ล้านบาท) ในปี 2023 และคาดว่าจะเติบโตที่อัตรา CAGR 13.3% ระหว่างปี 2024 ถึง 2032

ไทยได้กลายมาเป็นจุดหมายปลายทางหลักระดับโลกสำหรับนักเดินทางเพื่อการแพทย์ เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ขั้นสูง บริการดูแลสุขภาพราคาไม่แพง และมีศูนย์สุขภาพที่มีชื่อเสียง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้วางตำแหน่งตัวเองให้เป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในด้านการแพทย์และบริการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

ความสำเร็จดังกล่าวสามารถอธิบายได้จากหลายปัจจัย รวมถึงการสนับสนุนจากรัฐบาล การลงทุนเชิงกลยุทธ์ด้านการดูแลสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพได้ประกาศแผนการลงทุน 200 ล้านบาทในการสร้างศูนย์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2024

สิงคโปร์ : ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ที่ทันสมัยและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ สิงคโปร์จึงอยู่ในอันดับสูงในด้านเศรษฐกิจสุขภาพและความงาม

มาเลเซีย : ตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพของมาเลเซียคิดเป็นรายได้ตลาด 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (277,386 ล้านบาท) ในปี 2023 และคาดว่าจะมีส่วนแบ่งที่สำคัญระหว่างปี 2024 ถึง 2032 มาเลเซียเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางชั้นนำในเอเชียสำหรับนักเดินทางเพื่อการดูแลสุขภาพ การเติบโตนี้เกิดจากการผสมผสานระหว่างบริการทางการแพทย์คุณภาพสูง ราคาที่แข่งขันได้ และความพยายามทางการตลาดเชิงกลยุทธ์

โดยในเดือนกรกฎาคม 2024 รัฐบาลมาเลเซียประกาศเปิดตัวโครงการ Flagship Medical Tourism Hospital Programme (FMTH) ภายใต้แคมเปญ Malaysia Healthcare Travel Industry Blueprint 2021-2025 โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพ คุณภาพของบริการด้านการดูแลสุขภาพ และความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์

เวียดนาม : ตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพของเวียดนามคาดว่าจะเติบโตมาขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเมืองสำคัญๆ เช่น นครโฮจิมินห์และฮานอยกำลังกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ โดยเสนอบริการต่างๆ เช่น การศัลยกรรมความงาม การดูแลทางทันตกรรม การรักษากระดูกและข้อ และบริการด้านการเจริญพันธุ์ในราคาที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับบริการและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น ในเดือนมิถุนายน 2023 กรมการท่องเที่ยวนครโฮจิมินห์ร่วมมือกับกรมอนามัยจัดงานแถลงข่าวเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของนครโฮจิมินห์

อินโดนีเซีย : อินโดนีเซียกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่สำคัญในตลาด ปัจจัยต่างๆ เช่น การให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพมากขึ้น การสนับสนุนจากรัฐบาล และความน่าดึงดูดใจทางธรรมชาติของประเทศ แม้ว่าอินโดนีเซียจะยังไม่พัฒนาเท่าไทยหรือสิงคโปร์ในแง่ของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ แต่ก็ได้รับความสนใจเนื่องจากราคาที่เอื้อมถึง ข้อเสนอการรักษาที่หลากหลาย และจำนวนสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองที่เพิ่มขึ้น