เปิดเหตุผล ILO และที่มา 65 ปี ไทยต้องขยายอายุผู้ประกันตน

จากข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ “องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)” ใน“การขยายอายุผู้ประกันตน หรือขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 65 ปี”
KEY
POINTS
- คอนเซ็ปต์ของการประกันสังคม คือ ทำอย่างไรให้มีการดูแลครอบคลุมแรงงานให้มากที่สุด ทั้งแรงงานวัยหนุ่มสาว และแรงงานผู้สูงอายุ
- ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการขยายอายุผู้ประกันตนจาก 55 ปี เป็น 65 ปี ILOไม่ได้บอกว่าต้องทำทันที
จากข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ “องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)” ใน“การขยายอายุผู้ประกันตน หรือขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 65 ปี” ในประเทศไทย เป็นการดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้ประกันตน แรงงาน และรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
โดยข้อเสนอแนะดังกล่าวถึงแม้จะยังเป็นแนวคิดในประเทศไทย แต่หลายๆ ประเทศได้มีการปรับ “ขยายอายุผู้ประกันตน หรือการขยายอายุเกษียณ” มากกว่า 60 ปี อาทิ สวีเดน ที่ได้ขยายอายุเกษียณเป็น 67 ปี โดยดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือ อินโดนีเซียที่ได้มีการขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี ซึ่งปัจจุบันอายุเกษียณจะอยู่ที่ 59 ปี แต่ได้มีนโยบายและกระบวนการชัดเจนในการปรับการขยายอายุเกษียณแบบค่อยเป็นค่อยไป โดย 3 เดือน ปรับเพิ่ม 1 ปี และขยายไปเรื่อยๆ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 24 ปี ถึงแรงงาน ผู้ประกันตนทุกคนจะขยายอายุเกษียณ 65 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘แรงงานยานยนต์’ กว่า 1 แสนกำลังระส่ำ ILO ชู 5 เครื่องมือพัฒนา
ผู้ประกันตนต้องได้รับเงินเกษียณ
“ไซมอน บริมเบิลคอมบ์”หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิชาการและหัวหน้าส่วนบริการคณิตศาสตร์ประกันภัย ILO (ไอแอลโอ) อธิบายถึงข้อเสนอแนะในการขยายอายุผู้ประกันตนจาก 55 ปี เป็น 65 ปี หรือการขยายอายุเกษียณที่ทาง ILO เสนอต่อประเทศไทย ให้ “กรุงเทพธุรกิจ”ฟังว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่ง ILO ได้ทำงานร่วมกับกองทุนประกันสังคม และประเทศไทย โดยเฉพาะการคำนวณคณิตศาสตร์ประกันภัย เพื่อความยั่งยืนของระบบประกันสังคมมากว่า 20 ปี
โดยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ทาง ILO นำเสนอจะมาจาก 3 หลักการ คือ
1.มาตรฐานแรงงาน
2.สภาพเศรษฐกิจและสังคม และความเป็นจริงภายในประเทศ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศนั้นจริงๆ
3. การนำตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในภูมิภาคอาเซียน เอเชีย และประเทศยุโรปมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
“สิ่งสำคัญที่ ILO เสนอเป็นการนำแรงงานเข้ามาสู่ระบบประกันสังคม เพราะปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงช่วงอายุ คนหนุ่มสาวต้องแบกรับภาระมากขึ้น ซึ่งคอนเซ็ปต์ของการประกันสังคม คือ ทำอย่างไรให้มีการดูแลครอบคลุมแรงงานให้มากที่สุด ทั้งแรงงานวัยหนุ่มสาว และแรงงานผู้สูงอายุ ทั้งในด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ สุขภาพ อุบัติเหตุ การได้รับเงินทดแทน หรือเงินคืนหลังจากเกษียณอายุ ซึ่งเงินเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกันตนต้องได้รับ เพราะพวกเขาเป็นคนส่งเงินเข้าระบบกองทุนประกันสังคม”ไซม่อน กล่าว
หลายคนที่ทำงานมาตั้งแต่ตอนหนุ่มสาวแต่พออายุ 50 ปีอาจต้องออกจากงานเพื่อดูแลพ่อแม่ และเมื่อพ่อแม่เสียชีวิตเขาควรจะได้กลับเข้าสู่ระบบการทำงาน และระบบประกันสังคมตามเดิม หากยังไม่หมดอายุเกษียณเพราะเขาส่งเงินสะสมเข้าระบบประกันสังคมมาโดยตลอด ต้องให้ความยุติธรรมแก่เขา ได้รับการคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ และเงินเกษียณอายุ
ประกันสังคม “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข”
ไซม่อน อธิบายต่อว่าระบบประกันสังคม ก่อตั้งโดยคอนเซ็ปต์ง่ายๆ คือ “การเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” ซึ่งระบบประกันสังคมเกือบจะทุกระบบในโลกมีการขยายอายุผู้ประกันตนไว้มากกว่าอายุ 60 ปี เกษียณ และเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนกลับเข้าสู่ประกันสังคม ระบบการทำงานหากยังไม่ถึงอายุเกษียณ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศ และเป็นการเพิ่มหลักประกันให้แก่ผู้สูงอายุในอนาคตร่วมด้วย
ประชากรไทยสูงวัยเร็ว อายุยืนมากขึ้น การกลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมเป็นสิ่งที่ดี และการเสนอขยายอายุผู้ประกันตน หรืออายุเกษียณอาจจะมีหลายภาคส่วนไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะลูกจ้าง เพราะหากตอนนี้เขาอายุ 52 ปี จะได้เกษียณตอนอายุ 55 ปี เหลืออีก 3 ปี เขาก็จะได้เงินเกษียณ แต่พอขยายอายุผู้ประกันตนไป 65 ปี เขามองว่าต้องทำงานต่อและรออีกหลายปีกว่าจะได้เงิน เขาอาจจะไม่พึงพอใจ
“ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องนี้ใหม่ สิ่งที่ ILO นำเสนอเป็นตัวเลขจากการวิเคราะห์คณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งเป็นข้อมูลจากภาครัฐ ซึ่งการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัยจะทำให้เห็นภาพรวมโครงสร้างทั้งหมดของประเทศ ทั้งโครงสร้างการเงิน ความเป็นไปได้ ความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมในทุกด้าน และหากไม่ทำอะไรเลยผู้ประกันตนจะไม่ได้เงินตอบแทนที่เหมาะสม”
ขยายอายุผู้ประกันตนค่อยเป็นค่อยไป
ช่วงการขยายอายุผู้ประกันตนที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ได้งานมากขึ้น และทำให้ได้รับเงินทดแทนที่มากขึ้นร่วมด้วย โดยจะเพิ่มเงินทดแทน หรือเงินเกษียณได้มากถึง 7.5% เพราะฉะนั้น ถ้ามีเงินเกษียณอายุ หรือเงินบำนาญที่มากขึ้น ครอบครัวของผู้ประกันตนก็จะอยู่สุขสบายมากขึ้น
ไซม่อน อธิบายว่าวิธีการบริหารจัดการดูแลเมื่อคนอายุยืนมากขึ้น สามารถทำได้ 3 วิธี คือ
1.การเพิ่มเด็กเกิดใหม่ ทำให้คนมีลูกมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ไทยมีอัตราการเกิดน้อยลง เมื่อคนเกิดน้อยลงจะต้องนำเข้าแรงงานข้ามชาติให้อยู่ในระบบเศรษฐกิจและส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม
2.ขยายอายุผู้ประกันตน หรือขยายอายุเกษียณให้มากขึ้น เพื่อให้คนได้ทำงานมากที่สุดและเกษียณอายุช้า
3. การลดสิทธิประโยชน์ ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกยอมทำ ดังนั้น เมื่อไม่สามารถทำวิธีที่ 1 หรือ 3 ได้ ก็ต้องทำวิธีที่ 2 ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 55 ปี เป็น 65 ปี อีกทั้งประเทศไทยต้องดำเนินการเหมือนยุโรป ขยายอายุให้คนทำงานได้มากขึ้น และเรามีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
“จริงๆ แล้วข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการขยายอายุผู้ประกันตนจาก อายุ 55 ปี เป็นอายุ 65 ปี เราไม่ได้บอกว่าต้องทำทันที แต่ให้ทำในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และในรายงานของ ILO ได้เสนอไว้ว่าอาจจะใช้เวลาถึง 50 ปี ในการเพิ่มอายุผู้ประกันตนไปเรื่อยๆ หมายความว่าเด็กที่อายุ 18 ปี และเข้าสู่ประกันสังคม ตอนเขาเกษียณจะอายุ 65 ปี ค่อยๆ เพิ่มโดยที่พวกเขาไม่รู้สึก แต่ผู้ประกันตนที่ใกล้เกษียณไปบอกเขาอาจจะรู้สึกไม่ดีกับนโยบายดังกล่าว ฉะนั้น ภาครัฐควรจะขยายอายุผู้ประกันตนแบบค่อยเป็นค่อยไป” ไซม่อน กล่าว
พัฒนาทักษะ กำหนดอาชีพขยายอายุผู้ประกันตน
การจะขยายอายุผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็นอายุ 65 ปี ควรจะมีการศึกษาว่าอาชีพ หรืออุตสาหกรรมไหนที่ควรขยายอายุผู้ประกันตนไปถึง 65 ปี เพราะบางอาชีพอาจจะไม่สามารถขยายอายุได้ เช่น คนที่ทำงานก่อสร้าง ประมง ภาคเกษตรกร ที่ต้องทำงานหนัก ใช้ร่างกายมาก อยู่กับฝุ่น อากาศที่ร้อน การไปบอกให้เขาเกษียณอายุ 65 ปีคงไม่เหมาะกับสภาพร่างกายของพวกเขา รัฐบาลต้องมีการเตรียมความพร้อมให้แก่บางอาชีพ เพิ่มเติมทักษะหรือให้แรงงานได้ไปทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสมที่ดีขึ้น
“ในระบบการทำงานคนที่มีทักษะแรงงานสูงจะมีจำนวนหนึ่ง และหากคนกลุ่มนี้เกษียณไปก็จะทำให้ขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งแรงงานไทยมีความกังวลเรื่องสุขภาพ แม้จะทำงานดี มีระบบประกันสังคมหรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแต่กังวลว่าเงินที่มีไม่พอจ่ายค่ารักษาพยาบาล ดังนั้น การขยายอายุผู้ประกันตน ต้องมีการพิจารณาว่าอาชีพแบบไหนต้องขยายอายุผู้ประกันตนกี่ปี ต้องให้ความคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบต่างๆ มีกระบวนการย้ายงาน เปลี่ยนงานเปลี่ยนทักษะ คำนึงถึงชีวอนามัยความปลอดภัยในการทำงาน การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่ทำให้ศักยภาพทางร่างกายของแรงงานถูกบั่นทอน”ไซม่อน กล่าว
หนุนใช้ระบบ Multitier ลงทุนในคน
ILO พยายามสนับสนุนให้ใช้ระบบ Multitier ซึ่งมีความหลากหลายในระบบที่จะเป็นเสมือนจิ๊กซอร์เข้ามาประกับกัน ประเทศไทยมีระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ดีมาก ช่วยลดความเหลื่อมล้ำตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานในทุกช่วงอายุได้อย่างแท้จริงๆ เช่น
มีมาตรการดูแลคุณแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ มีระบบลาคลอด ทั้งคุณพ่อคุณแม่และยังได้รับเงินเดือน มีการสร้างศูนย์เลี้ยงเด็กในโรงงาน มีเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด-6 ปี มีเรียนฟรี และเมื่อเข้าสู่วัยแรงงานก็จะมีระบบประกันสังคม พอสูงวัยมีระบบชราภาพ ยิ่งสูงวัยมากยิ่งได้เงินมาก ฯลฯ ซึ่งระบบดังกล่าวประเทศไทยทำได้ดีแต่อาจจะไม่เพียงพอ
ขณะเดียวกันคนไทยอายุยืนขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนในประเทศไทยเข้าใจ สิ่งที่สำคัญ คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงต้องยุติธรรมสำหรับทุกคน ประเทศไทยต้องการการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงาน ทำอย่างไรให้ประสิทธิภาพกำลังการผลิตของประเทศต่อหน่วยดีขึ้น ต้องเปลี่ยนทัศนคติจากการแข่งขันในรูปแบบของราคาถูก ต้นทุนต่ำ มาเป็นการแข่งขันเชิงเทคโนโลยี ด้านนวัตกรรม
ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในการลงทุนแก่แรงงาน จะทำอย่างไรให้แรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเพิ่มทักษะ การให้การศึกษา(การฝึกอาชีพ) เพิ่มองค์ความรู้ใหม่ๆ การคุ้มครองทางสังคมให้มาทำงานอย่างปลอดภัย มั่นใจ และมีความสุขในการทำงาน
“การลงทุนในคนเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากที่สุด และการลงทุนในคนที่คุ้มค่ามากที่สุด คือ การลงทุนด้านการคุ้มครองทางสังคม การให้ค่าแรงที่สูงขึ้น ไม่ได้เป็นการทำให้ต้นทุนสูงขึ้นแต่เป็นการทำให้ประสิทธิภาพ ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรให้แรงงานกินดีอยู่ดี และมีศักยภาพมากขึ้น เมื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่แรงงาน ผลผลิตของการทำงานก็จะมีคุณภาพมากขึ้น” ไซม่อน กล่าว