อนุรักษ์ ‘นกยูง’ แห่งป่าเมืองพะเยา สู่แบรนด์ไทยบนเส้นทางสายไหม
กลุ่มคนรักษ์นกยูงที่พยายามปลดล็อคความขัดแย้ง คน-นก-ป่า บนฐานที่มั่นสุดท้ายของโลก สู่การพัฒนาที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับชุมชน
หากมีการประกวดนกที่สวยที่สุดในโลก หนึ่งในนั้นคงมีชื่อ ‘นกยูง’ ติดโพลมหาชนด้วย เพราะเป็นหนึ่งในราชินีแห่งนก ที่มีท่าไม้ตายคือการ ‘รำแพน’ หาง เพื่อหาคู่ชีวิตของตัวผู้ นอกจากเลเยอร์ของสีเขียวตามลำตัวที่ไล่อย่างมีจังหวะแล้ว ลายวงกลมจุดๆ คล้าย Polka Dot ที่ถูกเรียกว่า ‘แววมยุรา’ ยามเมื่อนกยูงรำแพน ล้วนเป็นเสน่ห์ที่ไม่ได้ดึงดูดเฉพาะตัวเมีย แต่ยังถูกตาต้องใจคนทั่วไปด้วย
ทว่า นอกจากภาพอันสวยงาม อีกมุมหนึ่งคือภาพอันน่าสลดหดหู่ที่หลายคนอาจเคยผ่านตา เมื่อคราวเกิดไฟป่า 1-2 ปีที่ผ่านมา ภาพแม่นกยูงถูกไฟครอก โดยที่ภายใต้ร่างที่ดำเมี่ยมเป็นตอตะโกนั้น มีไข่อยู่ 4-5 ฟอง สัญชาติญาณความเป็นแม่ที่แม้ตัวจะตายก็ขอปกป้องลูกจนวินาทีสุดท้าย ซึ่งจากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ ไม่ใช่แค่รังเดียวที่ต้องเจอชะตากรรมเช่นนี้
แม้เรื่องราวเกี่ยวกับนกยูงไทยที่คนทั่วไปได้รับรู้จะมีแค่ขาวกับดำ แต่ในความจริงแล้ว การดำรงอยู่ของนกยูงตามธรรมชาติในประเทศไทยเป็นเรื่องสีเทาๆ ที่อยู่ระหว่างคำว่า ‘อนุรักษ์’ และ ‘พัฒนา’ หลายปีที่ผ่านมา นกยูงถูกผลักไสไม่ต่างจากช้างป่าที่บุกรุกทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน ทั้งที่มันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โชคดีที่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเพื่อ ‘คนอยู่ได้ นกยูงอยู่ได้...อย่างมีความสุข’
นกยูงตัวผู้รำแพน เรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย
ฐานที่มั่นสุดท้าย ‘นกยูงเขียว’
เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน เป็น 4 จังหวัด ของถิ่นอาศัยนกยูงไทยหรือ นกยูงเขียว (green peafowl) ในเขตอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จัดอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของไทยและ IUCN จัดอยูในบัญชี Red-List สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (endangered species) แต่กลับปรากฏในพื้นที่ขนาดใหญ่ของป่าล้านนาหรือภาคเหนือตอนบนของไทยอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะพื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเวียงลอ อ.จุน จ.พะเยา
ผู้เชี่ยวชาญระดับสากลต่างระบุว่า พื้นที่ผืนป่าดังกล่าวเป็น The biggest of Last Stronghold for Green Peafowl in The World หรือฐานที่มั่นสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดของเหล่านกยูงสีเขียวในโลก
ดร.ฤทัยภัทร พิมลศรี ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย ‘โครงการล้านนาตะวันออกเมืองรักษ์นกยูงไทยระดับโลก สู่การท่องเที่ยวเชื่อมโยงเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ BRI’ เล่าว่า จากรายงานของนิสิตปริญญาโทคนหนึ่ง ที่สนใจประเด็นนกยูงเมื่อปี 2555 จนเริ่มเห็นความสำคัญที่กำลังเป็นวิฤตของนกยูงในขณะนั้น เนื่องจากว่ามีนกยูงจำนวนหนึ่งลงมาหาอาหารในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน สร้างความเสียหายราวๆ 40-50 ไร่ มูลค่าเกือบ 2 แสนบาทหรือไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อปี
ดร.ฤทัยภัทร พิมลศรี
จากการสำรวจและสอบถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ 4 จังหวัดของภาคเหนือ พบว่านกยูงไม่ได้ลงมาเฉพาะพื้นที่ป่าเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน แต่ยังลงมามากที่ลำปาง เชียงใหม่ และลำพูนด้วย ดังนั้นเฉพาะใน 4 จังหวัดขอบเขตในกลุ่มพื้นที่น่าจะมากกว่า 300 จุด ที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน
วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นมีมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมาและทวีความรุนแรงขึ้น จากการเพิ่มจำนวนประชากรของนกยูง ฝ่ายผู้เสียหายจึงแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการไล่และรุนแรงถึงการฆ่า ซ้ำยังเปิดช่องโหว่ให้กระบวนการค้านกยูงไทย ไม่ว่าจะเป็นไข่หรือการนำไปฟักกับแม่ไก่แล้วขายเป็นตัว เธอเล่าว่า พะเยาเป็นแหล่งค้านกยูงเถื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นภัยต่อมรดกทางธรรมชาติของชาติ
แล้วจะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับนกและคนกับป่านี้อย่างไร...คำถามนี้ผุดขึ้นมาในหัวเธอ ก่อนจะพาไปสู่โปรเจคการอนุรักษ์นกยูงในป่าและพื้นที่ชุมชนขึ้นในปีต่อมา แล้วค่อยๆ แตกยอดไปในหลายมิติที่ล้วนเกี่ยวโยงกับการอนุรักษ์นกยูง
จากความขัดแย้งข้างต้นจุดประกายให้เจ้าของโปรเจค พลิกวิกฤตเป็นโอกาสผลักดันการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยง คน นก ป่า เข้าด้วยกัน โดยมีสมาคมอนุรักษณ์นกไทยเข้าร่วมด้วย เธอบอกว่าสิ่งที่ต้องทำในขั้นตอนนี้คือ การลงพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน เกิดเป็น ‘เครือข่ายชุมชนรักษ์นกยูงไทย’ ที่ทำกิจกรรมอนุรักษ์และพัฒนา ร่วมกันระหว่างผู้นำชุมชนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา
ฟันเฟืองเล็กในป่าใหญ่
นอกจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัญญาชนในรั้วมหาวิทยาลัยยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสมอ หนึ่งในนั้นก็คือ งานวิจัย 2 เรื่อง ของสองหนุ่ม นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยพะเยา
‘การศึกษาทางชีววิทยาและการอนุรักษ์นกยูงไทย ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มหาวิทยาลัยพะเยา’ เป็นชื่องานวิจัยของ เอกภาพ บัวประทุม หรือ ‘บอล’ เขาเล่าว่าใช้เวลา 3-4 เดือน ในการศึกษาพฤติกรรมลักษณะทางชีววิทยาของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพญาลอ และดอยปูนาง ที่มีนกยูงอยู่มากหลักพันตัว เทียบกับพื้นที่มหาวิทยาลัยว่าจะสามารถเป็นที่อยู่อาศัยของนกยูงได้หรือไม่ โดยส่วนใหญ่พะเยาจะเป็นพื้นที่ป่าเบจญพรรณกับป่าเต็งรัง และพื้นที่มหาวิทยาลัยเองก็มีสภาพพื้นที่เช่นเดียวกัน ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่นกยูงจะสามารถอาศัยในพื้นที่ดังกล่าวได้
นอกจากชาวบ้านเดือดร้อนแล้ว ผลกระทบที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างก็คืออาจส่งผลให้นกยูงมีพฤติกรรมรุนแรง เช่น การจิกกัดคนได้ เนื่องจากว่าชาวบ้านใช้วิธีไล่นกยูงด้วยการจุดประทัดบ้าง และอาจใช้อาวุธที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเขายังศึกษาการวางไข่ การทำรัง รวมถึงศัตรูทางธรรมชาติ เช่น อีเห็น งู หมาในและเหยี่ยว รวมไปถึงมนุษย์ที่ล่าสัตว์ป่าและเก็บของป่าด้วยเช่นกัน เพื่อหาปัจจัยที่อาจทำให้นกยูงสูญพันธุ์ในอนาคต และปรับพฤติกรรมให้นกยูงสามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้
ปณัยกร ธีรธรรมปัญญาและเอกภาพ บัวประทุม นิสิตปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
“ช่วงหน้าแล้ง จะพบนกยูงที่ลานเกษตรกรรมมาก และบางส่วนจะออกมาหาที่ว่างในการผสมพันธุ์ และฤดูฝนมันจะกลับเข้าป่าเพื่อวางไข่”
ทั้งนี้ จากพฤติกรรมของเหล่านกยูง จะออกมาหาอาหารในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน บอลอธิบายว่า เป็นเพราะอาหารในป่าไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรนกยูงที่หนาแน่น เราจึงต้องผลักดันให้นกยูงกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่าตามเดิม
นำไปสู่ ‘การศึกษาพืชอาหารนกยูงในเขตอนุรักษ์มหาวิทยาลัยพะยา’ ของ ปณัยกร ธีรธรรมปัญญา หรือ ‘นิก’ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับนกยูง โดยนำพืชที่เป็นอาหารของเขาเข้าไปปลูกในป่า เพื่อดึงให้นกยูงกลับเข้าไปหาอาหารในป่า ไม่ให้มากินพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน ลดการปะทะกันอย่างที่เคยเป็นมา
“เนื่องจากหน้าแล้งพืชในป่าขาดแคลน และด้วยจำนวนประชากรนกยูงมีค่อนข้างเยอะทำให้ไม่เพียงพอ มันจึงออกมาหาอาหารนอกป่าเพื่อความอยู่รอด จากการวิจัยของผมต้องไปศึกษาพืชที่อยู่ในป่า ติดตามฤดูกาลการออกดอกติดผล เพื่อที่จะอนุรักษ์พืชพวกนั้นไว้ เช่นการปลูกเพิ่มตามแนวชายป่า ส่วนมากจะเป็นเมล็ดหญ้า แต่จริงๆ แล้วนกยูงปรับตัวได้ สามารถกินพืชได้แทบจะถูกชนิด”
นกยูงกำลังกินข้าวในนาของชาวบ้าน
นกยูงไทยบนเส้นทางสายไหม
การจะนำล้านนาสู่การเป็น ‘เมืองรักษ์นกยูงไทย’ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรธรรมชาติ สองเชื่อมโยงนกยูงในมิติสังคม วัฒนธรรม และความเชื่อ สุดท้ายเป็นเรื่องการค้า สร้างแบรนด์โดยใช้นกยูงเป็นจุดขาย เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสร้างสรรค์
“คอนเซ็ปต์ของโปคเจคนี้จึงไม่ได้ปกป้องนกยูงอย่างเดียว แต่ทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีความรู้สึกร่วมและมีส่วนร่วมในการที่จะอนุรักษ์นกยูง กลายเป็นมิติการเชื่อมโยงระหว่าง ป่า ธรรมชาติ ชาวบ้าน และชุมชน ที่เขาจะต้องอยู่ได้และอยู่ดีกินดีด้วย จึงไปเชื่อมกับการทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ผูกกับมิติวัฒนธรรมความเชื่อความศรัทธาเรื่องนกยูงที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์” ดร.ฤทัยภัทร เล่าถึงจุดเริ่มต้นผูกมิตรเส้นทางการค้าระดับโลก
แม่นกยูง และลูกน้อยของเธอ
เธอเล่าต่อเนื่องว่า สายใยคนกับนกยูงจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีหลายมิติ ซึ่งตามความเชื่อล้านนา นกยูงเป็นปางหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านำไปสู่สัญลักษณ์มงคล เป็นเทพเจ้าที่อยู่ในตำนานและความเชื่อความศรัทธาในหลายวัฒนธรรม ทั้งจิตวิญญาณและความเชื่อของชาติพันธุ์ไท ยังคงมีการใช้นกยูงเป็นสัญลักษณ์ของตนเอง และปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในการสร้างเอกลักษณ์ของเมืองสิบสองปันนา และเมืองเต๋อหง มณฑลยูนนาน ที่ประกาศตนเองว่าเป็น ‘เมืองนกยูง’
“ทั้งสองเมืองนี้เป็นมิติของการเชื่อมโยง BRI หรือเส้นทางสายไหม ผูกการค้าระดับโลกที่ใช้วัฒนธรรมนำการค้า แล้วมันก็จะย้อนกลับมาในเรื่องของการขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ การส่งออก การมีผู้ประกอบการที่จะเชื่อมโยงบนฐานความเชื่อทางวัฒนธรรมเดียวกัน สุดท้ายก็นำประโยชน์ให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน”
โดยกิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นจากแนวความคิดนี้ ได้แก่ เทศกาลนับนกยูง ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงมีนาคมของทุกปี ตั้งชื่อว่า ‘ลานรักษ์ ข่วงนกยูง’ ซึ่งลานรักษ์เปรียบเสมือนพื้นที่สร้างรังรักของนกยูง มี 4 จุด ใน 5 ชุมชน ของอำเภอจุน อาทิ ข่วง 69, ข่วงกิ่วแก้ว, ข่วงบ้านเซียะ, ข่วงนกยูงศรีเมืองชุม นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายชุมชนอีกหลายแห่งที่ทำงานร่วมกัน เปิดเป็นโฮมสเตย์ต้อนรับนักท่องเที่ยวและกลุ่มนักดูนกที่เข้ามาศึกษาธรรมชาติ
“นกยูงที่ลงมามีอยู่ 2 ส่วน คือลงมาหาอาหารในช่วงพฤศจิกายนที่ข้าวออกรวงและลงมาหาพื้นที่ในการผสมพันธุ์ในฤดูกาลแห่งความรักของนกยูงที่เรียกว่า รำแพน และช่วงเดือนมีนาคมก็เป็นช่วงที่นกยูงจะกลับเข้าไปในป่า เพื่อไปทำรังวางไข่”
ส่องนกยูง ในช่วงเทศกาลนับนกยูง
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ไฮไลท์ข้าวหอมนกยูงที่เป็นตัวชูว่า ธรรมชาติของผืนป่าแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำที่นกยูงอาศัยอยู่ ตัวสินค้าเองก็เป็นข้าวปลอดสารพิษ
“นกยูงเซนซิทีฟต่อยาฆ่าแมลง เมื่อข้าวที่นกยูงกินแล้วไม่ตาย ก็มั่นใจได้ว่าคนกินแล้วปลอดภัย” เท่านั้นยังไม่พอ ในเรื่องของนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดร.ฤทัยภัทรบอกว่า มีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยพะเยา ลงพื้นที่ไปช่วยดำเนินการกันหลายคณะ เช่น คณะเภสัชศาสตร์ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ก็พยายามที่จะคิดค้นนำสมุนไพรในชุมชนมาทำยาสีฟันกับน้ำยาบ้วนปาก เพราะการสร้างแบรนด์นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์นกยูงแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน สร้างชุมชนต้นแบบในการอนุรักษ์ อีกนัยหนึ่งคือเรากำลังใช้นกยูงเป็นสื่อกลางในการอนุรักษ์ป่าในทุกมิติ เช่น ทำฝายบ้านนกยูง ดับไฟป่า สร้างแนวกันไฟ หรือจัดทำกองทุนให้เจ้าหน้าที่ที่ดับไฟฟ้า เพื่อลดการสูญเสีย
‘นกยูงไทย’ จึงเป็นตัวเชื่อมโยงคุณค่ากับความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ สมุนไพร ผลิตผลทางการเกษตร น้ำผึ้งป่า รวมทั้งมรดกภูมิปัญญา สู่ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สร้างสรรค์เศรษฐกิจจากฐานชีวภาพอย่างยั่งยืน