เคสแรกของโลก! ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้ป่วยโควิด-19 ถึงผู้ป่วยธาลัสซีเมีย

เคสแรกของโลก! ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้ป่วยโควิด-19 ถึงผู้ป่วยธาลัสซีเมีย

หมอรามาฯ เผยความสำเร็จ ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เร่งด่วนจากผู้ป่วยโควิด-19 รักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมีย เคสแรกของโลก

 

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมด้วย มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เผยความสำเร็จ ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างเร่งด่วนเคสแรกของโลก จากเด็กชายศิลา บุญกล่อมจิตร (น้องจีโอ้) ผู้บริจาคไขกระดูกวัย 5 ขวบ ขณะติดเชื้อโควิด-19 เพื่อรักษาเด็กหญิงจินตนาการ บุญกล่อมจิตร (น้องจีน) พี่สาววัย 7 ขวบ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่กำเนิด ตอกย้ำความเป็นเลิศทางการแพทย์และก้าวสำคัญของรามาธิบดีในฐานะโรงเรียนแพทย์ที่พึ่งของผู้ป่วย

“เคสนี้มีความท้าทายและซับซ้อนเป็นอย่างมาก ในวันที่เราจะต้องเก็บสเต็มเซลล์น้องจีโอ้ กลับตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 น้องจีโอ้จึงอยู่ในฐานะผู้ป่วยอีกคน อีกทั้งผู้ป่วยสองคนยังอายุน้อยด้วยกันทั้งคู่คือ 5 และ 7 ขวบ ทุกขั้นตอนจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ การจัดเก็บสเต็มเซลล์จากไขกระดูกจึงมีความเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของสเต็มเซลล์ที่ได้จะมีเชื้อโควิด-19 รวมถึงขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากน้องจีโอ้ต้องถูกกักโรคและส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่เป็นศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ในขณะที่น้องจีนยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือกับความเสี่ยงขณะปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย ซึ่งเคสนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในโลกสำหรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างเร่งด่วนจากผู้ป่วยโควิด-19” ศ. นพ.สุรเดช หงส์อิง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในเด็ก อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

นอกจากความเสี่ยงของเชื้อโควิด-19 แล้ว การทำงานของคณะแพทย์ยังต้องแข่งกับเวลา เนื่องจากน้องจีนได้เข้ากระบวนการเตรียมความพร้อมของร่างกายด้วยการรับเคมีบำบัดหรือคีโมจนครบเรียบร้อยแล้ว ร่างกายจึงมีภูมิคุ้มกันต่ำและเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในเวลานั้น

5_การเคลื่อนย้าย ด.ช.ศิลา บุญกล่อมจิตร

การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อปลูกถ่ายสเต็มเซลล์

 

การจะหาสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคใหม่ให้เด็กหญิงผู้ป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมียขณะนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจะหาสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ในผู้บริจาคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมมีน้อยมาก คิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 20,000-50,000 ราย ซึ่งต้องใช้เวลา ส่วนการตัดต่อยีนส์นั้นก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นสเต็มเซลล์ของเด็กชายผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเป็นน้องชายแท้ๆ ของผู้ป่วย จึงเป็นความหวังเดียว

"ทีมแพทย์ได้ประชุมและร่วมกันพิจารณาอย่างรอบครอบ จนมั่นใจแล้วว่าโอกาสสำเร็จในเคสนี้มีมากกว่าความเสี่ยง จึงตัดสินใจดำเนินการเจาะไขกระดูกเพื่อเก็บสเต็มเซลล์ของน้องจีโอ้ทันที วินาทีที่เราตรวจสเต็มเซลล์ที่ได้ว่าเป็นสเต็มเซลล์ปลอดเชื้อโควิด-19 และการปลูกถ่ายไปยังพี่จีนประสบผลสำเร็จ จึงไม่เพียงเป็นความน่ายินดีที่เราสามารถช่วยชีวิตคู่พี่น้องได้อย่างปลอดภัย แต่นี่ยังถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการรักษาผู้ป่วยที่น่าภาคภูมิใจของการแพทย์ไทยอีกด้วย” รศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ แพทย์ผู้ดำเนินการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด อาจารย์สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

 

6_กระบวนการรักษา

กระบวนการรักษา

 

โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรม ที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นและถูกทำลายได้ง่าย ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการซีดเหลืองเรื้อรังและมีภาวะแทรกซ้อน นอกจากการรักษาแบบประคับประครองโดยการให้เลือดและยาขับธาตุเหล็กแล้ว ปัจจุบันพบว่าสามารถรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดได้ ด้วยวิธีการดัดแปลงพันธุกรรมของเซลล์ในร่างกายผู้ป่วยเองหรือการตัดต่อยีน หรือด้วยวิธีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากไขกระดูกของบุคคลอื่นที่มีสุขภาพดีไปยังผู้ป่วย โดยทั้งผู้ให้และผู้รับต้องมีความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อโดยสมบูรณ์ 100% โรงพยาบาลรามาธิบดีประสบความสำเร็จในการรักษโรคธาลัสซีเมียด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532

“ครอบครัวเรามีความผูกพันธ์กับโรงพยาบาลรามาธิบดีฯ มากว่า 7 ปี คุณแม่ของพี่จีนและน้องจีโอ้ ฝากครรภ์ที่นี่ทั้งสองครั้ง คุณหมอตรวจพบว่าน้องจีนป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย มีแนวโน้มตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ ที่ผ่านมาน้องจีนเข้ารับการรักษาและอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาโดยตลอด จนปลายปี 2561 ครอบครัวได้รับข่าวดี ว่าผลการตรวจเนื้อเยื่อของพี่จีนและน้องจีโอ้เข้ากันได้ คุณหมอบอกว่าครอบครัวเราโชคดีมากๆ เพราะโอกาสที่พี่น้องจะมีเนื้อเยื่อตรงกันนั้นมีเพียงแค่ร้อยละ 25 ครอบครัวจึงตัดสินใจให้น้องจีนเข้ารับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างไม่ลังเล โดยน้องจีนได้รับคิวผ่าตัดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา” คุณพ่อน้องจีน-จีโอ้ กล่าว

“ยอมรับว่าตอนนั้น ผมแทบล้มทั้งยืน รู้สึกเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อใกล้ถึงวันที่พี่จีนจะได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ความหวังรอพวกเราอยู่แล้ว แต่กลับได้รับข่าวร้ายว่าลูกชายติดเชื้อโควิด-19 ภรรยาเองก็ติดเชื้อไปด้วย ทุกคนจำเป็นต้องแยกจากกันในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด หากเป็นในสถานการณ์อื่นผมคงมืดแปดด้านและทำอะไรไม่ถูก แต่ในความกังวลนี้ผมก็ยังรู้สึกอุ่นใจที่ครอบครัวอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาโดยตลอด หลังทราบข่าว ทีมคุณหมอก็ได้เข้ามาพูดคุยและให้ความเชื่อมั่นว่าการผ่าตัดมีโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จมากกว่า อีกทั้งน้องจีโอ้และคุณแม่ก็อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่เป็นศูนย์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยครั้งนี้ทางมูลนิธิรามาธิบดีฯ ยังได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ซึ่งช่วยแบ่งเบาครอบครัวได้เยอะมากอีกด้วย” คุณพ่อน้องจีน-จีโอ้ กล่าว

 

3_ครอบครัวน้องจีน-จีโอ้

ครอบครัวน้องจีน-จีโอ้

 

มูลนิธิรามาธิบดีฯ ในฐานะองค์กรการกุศล มีพันธกิจในการเป็นศูนย์กลางการระดมทุน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งทางด้านพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการวิจัย รักษา และป้องกัน รวมไปถึงการก่อสร้างอาคาร เพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ตลอดจนการช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายจำเป็นต่างๆ ของผู้ป่วยอีกด้วย

“มูลนิธิรามาธิบดีฯ มุ่งมั่นจะเป็นที่พึ่งของคนไทยทุกคนให้พ้นจากความเจ็บป่วย สนับสนุนค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลให้ประชาชนทุกระดับได้รับการรักษาที่มีมาตรฐานและเป็นไปอย่างทั่วถึง จึงใคร่ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมสมทบทุนเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษา ตลอดจนสนับสนุนด้านการค้นคว้าและวิจัยทางการแพทย์ พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อเป็นรากฐานที่ยั่งยืนในการรักษา และช่วยเหลือผู้ป่วยในอนาคต” พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวปิดท้าย