รู้แล้วป้องกันได้...โรคต้อกระจก
ดวงตา เป็นมากกว่าหน้าต่างของหัวใจ... เพราะเป็นอวัยวะที่บอบบาง ช่วยให้มองโลกสดใส คนเราจึงต้องถนอมดวงตาไว้ให้อยู่กับเรานาน ๆ แต่ทุกวันนี้โรคเกี่ยวกับดวงตา ‘โรคต้อกระจก’ กำลังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ตาบอด
เมื่อเป็น โรคต้อกระจก จะทำให้สูญเสียการมองเห็น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และเป็นภาระต่อคนรอบข้าง แพทย์หญิงพรรักษ์ ศรีพล แพทย์เฉพาะทางจักษุ ด้านการผ่าตัดต้อกระจก ต้อหิน และจอประสาทตา โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ โรงพยาบาลในเครือ “พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์” ให้ข้อมูลว่า โรคต้อกระจกป้องกันและรักษาได้ การป้องกันคือสังเกตอาการและสัญญาณเตือนของโรคต้อกระจก และถ้าเกิดอาการขึ้นมาแล้วก็มีแนวทางการรักษา คุณหมอบอกว่า
แพทย์หญิงพรรักษ์ ศรีพล
“โรคต้อกระจก เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ตาบอด โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีภาวะเลนส์ตาขุ่น มีอาการหลักคือ ตามัว มองเห็นภาพไม่ชัด สายตาเลือนราง ซึ่งลักษณะการมองเห็นภาพไม่ชัดนั้นมีหลายแบบ แต่ส่วนมากแล้วอาการต่าง ๆ จะค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลาเป็นเดือนหรืออาจเป็นปี เมื่อมีอาการมากขึ้นจะส่งผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ”
ข้อมูลของแพทย์ด้านจักษุวิทยา ระบุว่า สาเหตุของการเกิดต้อกระจก มาจากอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อกระจกได้ง่าย รวมไปถึงผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid) โดยกลุ่มที่มีโอกาสได้รับยา กลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้, โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคเอสแอลอี (SLE) นอกจากนี้ผู้ที่รับประทานยาต้ม ยาหม้อ ยาสมุนไพร ซึ่งอาจมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ การได้รับอุบัติเหตุทางตา และการได้รับแสงอัลตราไวโอเลต (UV) เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดต้อกระจกทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ผู้ที่เสี่ยงเข้าข่ายเป็นโรคต้อกระจก จะมีสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า ได้แก่ 1. มองเห็นภาพไม่ชัด 2. มองเห็นภาพซ้อน 3. มองเห็นภาพมัว ๆ ในที่มีแสงจ้า และ 4. สายตาเปลี่ยนบ่อย ไปวัดแว่นทีไรไม่ชัดสักที
เมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้น อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือแม้จะไม่มีสัญญาณเตือนแต่เราก็ควรตรวจสุขภาพตาอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหาภาวะผิดปกติ
สำหรับผู้ที่เป็นโรคต้อกระจก ก็มีข้อควรระวัง เช่น “ในผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกมานนจนสุกแล้ว อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เรียกว่า “ภาวะต้อหินจากต้อกระจกที่บวมเป่ง (Phacomorphic Glaucoma) เกิดจากเลนส์ตาสุกเต็มที่แล้วบวม จนปิดทางระบายน้ำในลูกตา ทำให้น้ำในลูกตาระบายไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดตาเฉียบพลัน ตาแดง เมื่อส่องไฟจะเห็นเลยว่า ตาดำจะขาวผิดปกติ หากปวดในกรณีนี้ไม่มียาที่สามารถระงับอาการปวดได้และถือว่าอันตรายมาก”
วิธีการรักษา คุณหมอบอกว่า “มีวิธีเดียวคือ การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก และวิธีที่นิยมมากที่สุดคือ การทำเฟโกอีมัลซิฟิเคชั่น (Phacoemulcification) ด้วยการใช้เครื่องเสียงความถี่สูงเข้าไปสลายเลนส์ตาเก่าให้มีขนาดเล็ก แล้วใส่เลนส์ตาใหม่เข้าไป ทำให้มีแผลผ่าตัดขนาดเล็กมากเพียง 3 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่จึงไม่ต้องมีการเย็บปิดแผล นับเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 10 - 30 นาทีเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดและความยากของเคส”
ปัจจุบัน โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ มีการรักษาโรคต้อกระจกด้วยเครื่องมือทันสมัย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งคนไข้ที่เข้ามารับการผ่าตัดโรคตาต้อกระจกกับทางโรงพยาบาล ไม่เพียงแต่จะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ สามารถกลับมามองเห็นได้ชัดขึ้น แต่ยังได้มีส่วนร่วมในการทำบุญอย่างยิ่งใหญ่ ในโครงการปันโลกสดใส ภายใต้โครงการแพทย์ผู้ให้ ด้วยการเปิดโอกาสในการมองเห็นให้กับผู้ที่ขาดโอกาสเข้าถึงการรักษาดวงตาอีก 1 คน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ เปรียบเสมือนการผ่าตัด 1 ได้เห็น 2
เมื่อผู้ป่วยโรคต้อกระจกได้รับการผ่าตัดต้อกระจกแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนได้ชีวิตใหม่ เนื่องจากสามารถมองเห็นได้ชัดมากขึ้นกว่าเดิม การผ่าตัดต้อกระจกไม่เพียงแต่ทำให้กลับมามองโลกสดใส แต่ยังเป็นการแก้ไขภาวะสายตาสั้น ยาว เอียง หรือสายตามองใกล้ที่ผิดปกติได้ รวมทั้งช่วยลดความดันตาในผู้ป่วยต้อหินอีกด้วย
(ภาพ ประกอบ : wallpaper safari)
สงสัยเรื่องต้อกระจก ขอรับคำปรึกษาจากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด (ทั้ง 9 แห่ง ใน 8 จังหวัด สมุทรปราการ, ปากน้ำโพ 2 แห่ง, อุทัยธานี, พิษณุโลก, อุตรดิตถ์, พิจิตร, ลำพูน, ชุมพร) หรือสอบถามที่ FB: Principal Healthcare Company