เปลี่ยน! สิทธิรักษาพยาบาล'บัตรทอง'หลัง'โควิด'
เมื่อยุคแรกของการก่อเกิด”หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ภายใต้สโลแกน “30บาทรักษาทุกโรค” ผ่านมา 18 ปี สิ่งที่เป็นนโยบายยกระดับระบบบัตรทองในยุคนี้ เป้าหมาย“ทั่วถึง ทั่วหน้า เข้าถึงทุกที่ ทุกเวลา ไม่แบ่งแยก ไม่มีข้อยกเว้น”
เมื่อยุคแรกของการก่อเกิด”หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ภายใต้สโลแกน “30บาทรักษาทุกโรค” ผ่านมา 18 ปี สิ่งที่เป็นนโยบายยกระดับระบบบัตรทองในยุคนี้ เป้าหมาย“ทั่วถึง ทั่วหน้า เข้าถึงทุกที่ ทุกเวลา ไม่แบ่งแยก ไม่มีข้อยกเว้น” แต่นับเป็นโจทย์หนึ่งที่ยากหลังเผชิญกับสถานการณ์โรคโควิดที่มีอีกหลากหลายโจทย์ที่จะต้องดำเนินการเช่นกัน
ในการประชุม Board Relation and Empowering คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง โดยเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการชองสปสช.ระยะ 5 ปี (2561-2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ระบบสุขภาพกับการเมืองไทย”ว่า การดูแลประชาชนในส่วนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิ่งที่ต้องการเห็น คือ ไม่ว่าคนไทยจะอยู่ที่ไหนเมื่อเจ็บป่วยรัฐดูแลหมด เพราะฉะนั้น ต้องพยายามเดินหน้าเข้าสู่คำว่า “ครอบจักรวาล” จะต้องทั่วถึง ทั่วหน้า เข้าถึงทุกที่ ทุกเวลา ไม่แบ่งแยก ไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งได้มอบนโยบายให้สปสช.ไปศึกษาและนำมาเสนอแล้ว เพื่อเป็นการเพิ่มเติมเพื่อเติมเต็มจุดที่ยังไม่สมบูรณ์ให้เดินหน้าต่อไป
ปัจจุบันรักษาทุกโรค ก็จะต้องยกระดับให้มากขึ้น สิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ คือ ไม่จำเป็นที่ผู้เจ็บป่วยต้องไปเข้ารับการรักษาเฉพาะแค่โรงพยาบาลแถวบ้านหรือที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามสิทธิเท่านั้น แต่สามารถเข้ารับบริการได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง
เรื่องนี้เป็นนโยบายพัฒนายกระดับการบริการด้านสุขภาพให้เพิ่มเติมจากช่วงเริ่มต้นที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว ปัจจุบันรักษาทุกโรค ก็จะต้องยกระดับให้มากขึ้น สิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ คือ ไม่จำเป็นที่ผู้เจ็บป่วยต้องไปเข้ารับการรักษาเฉพาะแค่โรงพยาบาลแถวบ้านหรือที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามสิทธิเท่านั้น แต่สามารถเข้ารับบริการได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมทั้งในเรื่องของเครือข่ายการเชื่อมโยงต่างๆและเลขบัตรประชาชน 13 หลักอยู่แล้ว แต่มีสิ่งที่ต้องพัฒนาให้รองรับคือระบบข้อมูลสารสนเทศ ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาลระหว่างกันได้
"จะถือเป็นการพัฒนาอีกขั้นตอนอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เป็นที่ไว้วางใจของคนไทยซึ่ง คนไทยจะต้องมั่นใจว่าไม่ว่ามีสถานะอย่างไร ถ้าป่วยได้รับการรักษาแน่นอน คำว่าคนไข้อนาถาต้องไม่มีในระบบสาธารณสุขของไทยอีกต่อไป" นายอนุทินย้ำ
ข่าวที่น่าสนใจ : ขายแล้ว! 'หน้ากากอนามัย'ราคาถูก ที่ร้านยาองค์การเภสัชกรรม
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า กว่า 17 ปี ของการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีองค์ความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย มีผลการดำเนินงานเชิงประจักษ์และบรรลุความสำเร็จหลายมิติ เช่น เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ป้องกันประชาชนจากความเสี่ยงทางการเงินจากค่ารักษาพยาบาล ลดช่องวางทางสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ระบบหลักประกันสุขภาพระยะต่อไป ยังมีข้อจำกัดและความท้าทายอีกมากมาย เพื่อให้มีความยั่งยืนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องก้าวไปข้างหน้า เช่น การขับเคลื่อนความเสมอภาคการได้รับบริการสาธารณสุขของประชาชน ลดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มเปราะบางในสังคม และเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภพาของระบบ โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจและสังคมวิถีใหม่หลังการระบาดของโรคโควิด- 19
ทั้งนี้ เวทีเสวนา “ระบบสุขภาพกับเศรษฐกิจและสังคมหลังCOVID-19” นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย มีข้อเสนอแนะว่า
1.ต้องเน้นประชาชน ผู้ป่วย ผู้ให้บริการตามความจำเป็น ความต้องการ ต้องหาข้อมูลจากผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ พบประชาชน พบแพทย์ผ่านสมาคมแพทย์ต่างๆ
2.พยายามทำให้การตรวจผู้ป่วยนอกครบเครื่องมีความลึก เร็ว แม่นยำ จะได้ไม่ต้องเข้ามานอนโรงพยาบาล
3.มีเจ้าหน้าที่ที่เก่งเทคโนโลยีคอยแนะนำตลอด ใช้เทคโนโลยี ดิจิทัลเฮลท์(digital health) เทเลคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งจะต้องมีกฎหมายรองรับ เพราะหากไม่มีการดำเนินการของแพทย์จะมีปัญหา
4.เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรคNCDs) เช่น การตรวจสุขภาพเป็นระยะ การตรวจคัดกรองโรค การฟื้นฟูสุขภาพชุมชน การวินิจฉัยโรคระยะแรก การรักษาแต่เนิ่นๆ และมีการดูแลระยะยาว
5.มีระบบการกู้ชีพที่ดี บุคลากรห้องฉุกเฉิน และหน่วยการดูแลรักษาการบาดเจ็บที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
6.ผู้สูงอายุ บุคลากร ที่พักผู้สูงอายุทั้งที่ติดสังคม บ้าน เตียง ผู้พิการ เน้นที่ชุมชน และ
7.เพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาลตามความเหมาะสม เป็นต้น
ขณะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โจทย์เชิงนโยบายที่ต้องทำหลังโควิด มีประเด็นที่เรียนรู้และบทเรียนจากการเจอโควิดหลายเรื่อง อาทิ ข้อค้นพบหนึ่งคือกลุ่มประชาชนที่เปราะบางได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากโควิดมากกว่าประชากรปกติ ซึ่งการอยู่หลังโควิดสิ่งที่ต้องทำให้คุ้นเคยมากที่สุด คือ การอยู่กับอินเทอร์เน็ตและออนไลน์ จะต้องมีการขบคิดจะมีแนวนโยบายหรือแต้มต่ออะไรให้กับคนกลุ่มเปราะบางในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ควรจะมีนโยบายเรื่องของฟรีอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ จะต้องไม่มีคนไทยไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพราะไม่มีเงิน
อีกทั้ง การตกหล่นของกลุ่มเปราะบางในการช่วยเหลือของภาครัฐเข้าไม่ถึงคนตกหล่นทั้งหมด หลังโควิดจะออกแบบเรื่องการคุ้มครองทางสังคมอย่างไร ซึ่งสปสช.เป็นแม่แบบหนึ่งในเรื่องของถ้วนหน้า ฉะนั้น สวัสดิการอื่นๆ ควรจะต้องพิจารณาถึงความถ้วนหน้ด้วย โดยเฉพาะ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ซึ่งพบว่า มีอัตราการตกหล่น 30% เป็นอัตราที่ยอมรับไม่ได้ รวมถึง นโยบายการจ้างงานจะนำคนกลุ่มที่ตกงานกว่า 4-5 ล้านคนกลับมาได้อย่างไร ซึ่งกระบวนการตรงนี้ยังไม่มีการคิดอย่างจริงจัง
ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีมาก่อนโควิด เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้หนี้ครัวเรือนจะพุ่งกระฉูด เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ควรจะใช้ความตระหนักรู้ของประชาชนในช่วงโควิด ลักดันนโยบายระยะยาวบางอย่างที่ลดพฤติกรรมมนุษย์ที่กระทบสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายระบบราชการ จะต้องมีการปรับให้มีการตั้งงบประมาณวางแผนยุทศาสตร์ในเรื่องการเตรียมรับมือกับเรื่องที่โอกาสเกิดไม่มากแต่เกิดแล้วเสียหายรุนแรง เหมือนการนำงบประมาณจ่ายไว้ก่อน เปรียบเทียบกับงบประมาณด้านทหารที่ซื้อรถถัง เครื่องบินF16 ทั้งที่ตลอดอายุการใช้งานอาจจะไม่ได้ใช้เลยก็ได้ เพราะโอกาสเกิดสงครามน้อยมากเพียงแต่ว่าถ้าเกิดแล้วหากไม่มีการเตรียมการอาจหมายถึงการสูญเสียชาติซึ่งภาคราชการยังไม่ดำเนินการแต่ภาคเอกชนวางแผนแบบนี้เรียบร้อยแล้ว
ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สังคมไทยควรทบทวน เรื่องมาตรฐานการควบคุมโรคและสุขอนามัย ทักษะใหม่ที่ต้องการในโลกอนาคต วิถีการทำงานแบบใหม่ ในอัตราเร่งที่เร็วขึ้น ความมั่นคงทางอาหาร การใช้ประโยชน์สมาร์ทฟาร์ม พลังอาสาสมัคร ความเอื้ออาทร การจัดการบุญ โอกาสการเกิดธุรกิจ การประบการแนวใหม่และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอลให้ทุกคนเข้าถึง
ทั้งหมดนี้จะทำให้ประเทศไทยเจริญรุ่งเรื่อง โดยมีสุขภาพเป็นตัวค้ำยัน