ชงครม.ขออนุมัติ600ล้านร่วมพัฒนาวัคซีนโควิดต่างชาติ เล็งม.ออกฟอร์ด

ชงครม.ขออนุมัติ600ล้านร่วมพัฒนาวัคซีนโควิดต่างชาติ เล็งม.ออกฟอร์ด

“อนุทิน”ชงครม.18ส.ค.นี้ อนุมัติงบ 600 ล้านบาท พัฒนา ค้นคว้าวิจัย ทดลองวัคซีนร่วมกับต่างประเทศ คาดเล็งร่วมมือม.ออกฟอร์ด

        เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวว่า การรับมือโรคโควิด-19 ขณะนี้สิ่งที่ไทยยังขาด คือ วัคซีน เช่นเดียวกับทั่วโลก ซึ่งวัคซีนที่กำลังจะมีในอนาคตไม่อาจซื้อได้ด้วยเงิน แต่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกจึงจะมีสิทธิ์เข้าถึงได้ก่อน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้พยายามเข้าไปเป็นหุ้นส่วนสนับสนุนการพัฒนาของต่างประเทศที่มีหวังว่าจะพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ เพื่อให้ไทยมีสิทธิ์เข้าถึงวัคซีนได้ทันทีที่สำเร็จ และมีสิทธิ์ใช้เทคโนโลยีที่สำเร็จเพื่อผลิตในประเทศไทยได้ ซึ่งในวันวันที่ 18 ส.ค.นี้ จะนำ MOU ตัวแรกที่ทำไว้กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณในการเข้าร่วม

       นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การ MOU เป็นการไปร่วมพัฒนา ค้นคว้าวิจัย และทดลองวัคซีนร่วมกัน โดยสถาบันการแพทย์ของไทย ร่วมกับ สถาบันการแพทย์ของแพทย์ต่างประเทศ และผู้ผลิตวัคซีน ร่วมกันทดลองวัคซีน หากได้ผลที่ดีไทยก็จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการค้นพบวัคซีนตัวนั้นๆ ซึ่งจะทำไทยสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาผลิตวัคซีนในไทยได้ โดยงบประมาณที่จะเสนอไปขอการอนุมัติจาก ครม. ก็ถือเป็นการเตรียมความพร้อม ทั้ง ด้านวิชาการ การผลิต และการนำมาใช้ให้กับประชาชนเป็นหลัก โดยงบประมาณเบื้องต้นที่จะเสนอขออยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาท
 
“งบประมาณดังกล่าวจะเป็นในส่วนของงบกลางหรืองบเงินกู้ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของครม. ต้องดูหลายปัจจัย เพราะหากใช้งบเงินกู้อาจไม่ทัน เนื่องจากต้องมีขั้นตอน ซึ่งการใช้งบกลางอาจจะรวดเร็วขึ้น และไทยต้องการความรวดเร็วหากไปทีหลังอาจมีปัญหาได้ เพราะเทคโนโลยีนี้หากไทยไปไม่ทัน ต่างประเทศอาจไปร่วมมือกับประเทศอื่นได้ และไม่สามารถจะร่วมมือกับประเทศไทยได้เพราะทุกอย่างมีเงื่อนไขหลายปัจจัยประกอบ”นายอนุทินกล่าว

เมื่อถามว่าสถาบันการแพทย์ต่างประเทศที่จะไปร่วมมือคือที่ไหน นายอนุทินกล่าวว่าจะให้รายละเอียดกลังครม.อนุมัติ

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการกล่าวถึงกรณีประเทศไทยเตรียมไปเจรจาเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด -19 จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ด้วยงบประมาณ 600 ล้านบาท โดยมีการหารือว่าหากประเทศไทยสามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาได้ก็จะเป็นการผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จึงขอให้รัฐบาลเป็นตัวแทนไปเจรจามหาวิทยาลัยออกฟอร์ด เพื่อขอถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้คนไทยผลิต ส่วนงบ 600 ล้านบาท ก็จะใช้เพื่อการพัฒนาบริษัทของคนไทยเพื่อให้มีประสิทธิภาพพอที่จะรองรับกับเทคโนโลยีที่เขาจะให้มา ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม โดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ลงไปตรวจสอบโรงงานผลิตแล้วคาดว่าจะสามารถให้การรับรองมาตรฐาน GMP ได้ประมาณเดือนก.ย.นี้