ดอกไม้กินได้ที่ Salad Station
อีกความคิดดีๆ กับการปลูก"ดอกไม้กินได้" ซึ่งได้รับความนิยม นำไปแต่งจานอาหาร ทำขนม และสารพัดเรื่องที่ใช้ดอกไม้ในการบริโภค
ดอกไม้ นอกจากสวยงาม บางชนิดยังกินได้ คนไทยอาจรู้จักแค่ดอกไม้พื้นๆ ที่กินได้ อาทิ อัญชัน โสน มะลิ ขจร ฯลฯ ทั้งๆ ที่มีดอกไม้อีกมากมายที่กินได้ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งปัจจุบันร้านอาหารที่มีสไตล์ มักจะนำดอกไม้มาแต่งบนจานอาหาร ทำขนม ทำเบเกอรี่ รวมถึงเป็นเครื่องเคียงในอาหารมากขึ้น
เมื่อดอกไม้กินได้ ก็ต้องขายได้ และมีคนปลูกมากขึ้น จึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ
ผักสลัดสเตชั่น หรือ Salad Station ฟาร์มเล็กๆ ย่านมีนบุรี เป็นอีกแห่งที่ปลูกทั้งผักสลัด ผักไทย และดอกไม้กินได้ แต่ในช่วงไวรัสโควิดระบาด ธุรกิจของเขาก็ย่ำแย่ไม่ต่างจากที่อื่น ปกติจะปลูกผักสลัดระบบไฮโดรโปนิกส์เป็นงานหลัก และเพิ่งเริ่มปลูกดอกไม้กินได้
ชนะวัฒน์ เทียมบุญประเสริฐ เจ้าของฟาร์ม ที่เรียนมาทางด้านเทคโนโลยีการเกษตร ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง เมื่อเจอพิษเศรษฐกิจในช่วงนั้น ก็มืดแปดด้าน แต่ในที่สุดก็ผ่านมาด้วยดี
“ตอนนั้นเพื่อนผมปลูกดอกไม้กินได้ขาย กำลังผลิตไม่พอเพราะต้องส่งตามโรงแรมและร้านอาหาร ก็เลยชวนผมปลูก ส่วนวิธีการปลูกผมต้องดัดแปลงเอง ส่วนใหญ่ผมปลูกระบบไฮโดรโปนิกส์ พอมาเจอปัญหาโควิด โรงแรมและร้านอาหารปิด เพื่อนก็เลยต้องเลิกผลิตดอกไม้กินได้ เพราะไปไม่รอด ตอนนั้นเพื่อนผมแนะนำว่า ไม่ควรปลูกต่อ แต่ผมคิดว่า คงต้องขายเอง ทั้งๆ ที่ไม่เคยขาย" ชนะวัฒน์ เล่า และยอมรับว่า การปลูกดอกไม้กินได้ เขาไม่ได้มีความรู้อะไรมากมาย แต่มีความรู้ด้านการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ จึงนำมาประยุกต์
“ถ้าฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ ฟาร์มไหนบอกว่า ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง อย่าไปเชื่อ ยังไงก็ต้องใช้ แต่ต้องมีระยะปลอดภัยในการเก็บเกี่ยว ผักแต่ละชนิดมีระยะปลอดภัยไม่เหมือนกัน 7 วันบ้าง 14 วันบ้าง หรือไม่ก็ 20 วัน ก็มีบางฟาร์มใช้ยาชีวภาพซึ่งมีราคาแพง แต่สารเคมีก็ต้องใช้บ้าง ต้องมีการจัดการที่ถูกต้อง เวลาเก็บผักต้องไม่มีสารพิษตกค้าง จึงเรียกผักปลอดสารพิษ”
แม้จะมีประสบการณ์วางระบบฟาร์มให้คนอื่นมาก่อน แต่เมื่อมาปลูกดอกไม้กินได้ ที่มีทั้งสายพันธุ์ไทยและต่างประเทศ เขาก็ต้องเรียนรู้ ประยุกต์องค์ความรู้ ตั้งแต่การเลือกสายพันธุ์ การให้ปุ๋ยและรดน้ำ รวมถึงทดลองปลูก ซึ่งผลออกมาใช่ว่าดีทั้งหมด
เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น เขาเริ่มครีเอทฟาร์มในแบบของตัวเองบนพื้นที่เช่าปลูกรวม 4 ไร่ ซึ่งหลังจากไวรัสโควิดระบาด เขาปลูกผักน้อยลง หันมาปลูกดอกไม้กินได้เพิ่มขึ้น
“ที่ดินที่ผมเช่าทำฟาร์ม ต้องไม่ไกลบ้าน ไม่ไกลตัวเมือง จะได้ดูแลสะดวก ตอนนี้ปลูกทั้งผักสลัดและผักไทย รวมทั้งดอกไม้กินได้ เพราะต้องขายหน้าฟาร์มด้วย และทำกล่องสลัดผักและดอกไม้ ช่วงแรกๆ ก็แจกหมอพยาบาล 500-1,000 กล่อง จากนั้นน้องสาวและเพื่อนๆ ช่วยกันขาย จึงได้ตลาดคนทำขนม ทำเบเกอรี่ และร้านอาหารเล็กๆ จึงขยายตัวมีลูกค้ามากขึ้น
ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่า ต้องขายดอกไม้กินได้ในราคาประมาณเท่าไร เราก็ดูต้นทุน แล้วตั้งราคาไป จนมารู้ทีหลังว่า เราขายถูกมาก ผมไม่ได้มีเจตนาตัดราคาตลาด ผมไม่รู้จริงๆ เมื่อผมขายจากฟาร์มโดยตรง คนก็เริ่มมาซื้อ "
ชนะวัฒน์ ตั้งโจทย์ในการปลูกดอกไม้แต่ละชนิดว่า ต้องปลูกในกรุงเทพฯ ได้ และเป็นที่ต้องการของตลาด
“ถ้าใครไม่รู้ว่า ดอกไม้ชนิดไหนกินได้ ให้ดูว่ามียางไหม ถ้าไม่มียางก็กินได้ แต่ต้องมีข้อมูลอื่นๆ ประกอบด้วย ถ้าชนิดไหนตลาดต้องการเยอะๆ แสดงว่าผ่านการทดลองแล้ว ดอกไม้บางชนิดกินแล้วมีรสขม และส่วนใหญ่ลูกค้านำไปประดับจานอาหาร เครื่องดื่มและขนม อาทิ ดอกดาวเรืองฝรั่งเศส, ดอกผีเสื้อ, ดอกเวอร์บีน่า, ดอกแววมยุรา, ดอกกระดุมเงินกระดุมทอง ฯลฯ”
เมื่อเห็นว่า ในฟาร์มมีทั้งผักและดอกไม้ เขาจึงเอาทั้งสองอย่างมาจัดรวมกันในกล่อง
“ปัจจุบันขายส่งแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องขายปลีกด้วย และอาศัยตัวแทนจำหน่าย เมื่อเราเอาทั้งผักและดอกไม้มารวมกันก็สร้างมูลค่าเพิ่มได้ อย่างช่วงหน้าหนาว ผักจะออกเยอะก็ทำเป็นกระเช้าของขวัญปีใหม่ ผมครีเอททุกอย่าง อย่างช่วงลอยกระทงก็ทำเป็นกระทงผัก ไม่สร้างมลพิษ บางทีคนก็สั่งกระเช้าผักและดอกไม้ไปเยี่ยมคนไข้ หรือให้หมอ พยาบาล”
แม้การปลูกดอกไม้จะเอาใจยากกว่าผัก ต้องใจใส่มากกว่า แต่สำหรับเขา การใส่ใจในทุกๆ วันไม่มีอะไรยาก
"พอมาปลูกดอกไม้ ผมต้องหาความรู้เยอะขึ้น ถามผู้รู้ แต่ที่สำคัญคือ การทดลองทำ บ่อยครั้งที่ปลูกแล้วไม่รอด แต่ละชนิดใส่ปุ๋ยต่างกัน บางสายพันธุ์เขียนว่า ทนร้อน เมื่อเอามาปลูกในกรุงเทพฯก็ไม่รอด ผมก็ต้องลองหลายๆ แบบ ยังมีเรื่องที่ผมไม่รู้อีกเยอะ มีดอกไม้กินได้ชนิดใหม่ๆ อีกเยอะ และวิธีการปลูกในเมืองนอกกับไทยก็ไม่เหมือนกัน อาศัยว่า ผมมีอุปกรณ์ทั้งหมดแล้ว และพยายามไม่ปลูกพืชซ้ำๆ บ่อยไป ปลูกดอกไม้ใช้พื้นที่น้อยกว่าผัก ถ้าออกดอกเยอะก็ขายได้เยอะ แต่ถ้าทำแปลงเยอะขึ้น ปัญหาก็เยอะอีก ผมก็เลยค่อยๆ ทำ เน้นคุณภาพ ปลูกผักดอกไม้ไม่รวยหรอก เราทำเป็นธุรกิจครอบครัวเล็กๆ”
ส่วนอีกความท้าทายคือ ลูกค้าอยากให้ลองปลูกต้นไม้ในเมืองนอกที่ไม่มีคนไทยปลูก
“ดอกไม้ที่ผมปลูกตอนนี้ ตลาดต้องการทุกชนิด ที่ต้องการมากคือไวโอล่า ปลูกยากแต่ราคาดี คล้ายดอกหน้าแมว ส่วนใหญ่ดอกไม้กินได้ปลูกในภาคเหนือเยอะ ผมเองก็ไม่ได้ปลูกทุกอย่างที่มีนบุรี ผมให้เพื่อนที่เขาค้อปลูกผักและดอกไม้บางชนิดตามมาตรฐานของเรา แล้วส่งกลับมา”
.....................
ดูได้ที่ เพจ Salad Station