ทำไมตั้งใจจะทำสิ่งดีๆ เพื่อตัวเอง แต่เปลี่ยนแปลงไม่ได้?
ทั้งๆ ที่ตั้งเป้าไว้ว่า จะออกกำลังกาย ไม่กินหวาน ไม่สูบบุหรี่ แต่ทำไม่ได้ซะที เรื่องนี้มีคำตอบเชิงวิทยาศาสตร์ ถ้าอย่างนั้นจะผลักดันให้ทำสิ่งเหล่านี้สำเร็จได้อย่างไร
ถึงปีใหม่ทีไร คนทั่วโลกก็ดูเหมือนจะตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงตัวเองกันยกใหญ่ มีการตั้งเป้าหมายที่ฝรั่งเรียกว่า new year’s resolutions กัน เคยสงสัยไหมครับว่า มีคนตั้งใจจะผอม จะหุ่นดี จะวิ่งออกกำลัง จะทำอะไรร้อยแปด แต่ล้มเหลว (เหมือนที่เราเคยล้มเหลว) มากน้อยเพียงใด
อะไรทำให้คนที่ตั้งใจแล้วลงมือทำจนประสบความสำเร็จ แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ที่เหลือ?
บริษัทวิจัยยูกอฟ (YouGov) ในอังกฤษเคยศึกษาไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2015 พบว่า จากตัวอย่างคนอังกฤษที่สำรวจคือ 2,025 คนนั้น มีมากกว่าครึ่งหนึ่ง (63 เปอร์เซ็นต์) ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ ในปีที่จะมาถึง โดยที่ฮิตคือ จะลดน้ำหนัก จะฟิตหุ่นให้มากขึ้น จะกินคลีนให้มากขึ้น ไปจนถึงจะเลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มแอลกอฮอล์ หรือไปหาเพื่อนหรือญาติๆ ให้บ่อยขึ้น และมีอยู่ราว 12 เปอร์เซ็นต์ ที่บอกว่าจะพยายามให้ชีวิตส่วนตัวกับงานมีสมดุลที่ดีขึ้น
ผลน่ะหรือครับ?
แค่สิ้นเดือนมกราคม ราว 1/3 (32 เปอร์เซ็นต์) ก็เลิกทำตามที่ตั้งใจไปเรียบร้อย และกว่าจะสิ้นปีก็เหลือเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ยืนยันว่าทำได้คงเส้นคงวาตลอดรอดฝั่งถึงสิ้นปี
ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมและจิตวิทยาลงความเห็นตรงกันว่า มีหลายเหตุผลที่ทำให้สำเร็จหรือล้มเหลวครับ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ “ตั้งเป้าที่ทำไม่ได้จริง” ตัวอย่างชัดๆ ที่เห็นได้ง่ายคือ หากเป็นคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย แล้วเกิดมาตั้งเป้าว่า จะไปยิมออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 วัน ก็คงมีแนวโน้มมากๆ ที่จะล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ คนส่วนใหญ่แม้ว่าต้องการจะเปลี่ยนแปลง แต่ก็ “ไม่ได้พร้อม” จะเปลี่ยนแปลง เพราะการจะเปลี่ยนแปลงได้นั้น จะต้องมีทั้ง
(1) ศักยภาพที่จะเปลี่ยน
(2) โอกาสที่จะเปลี่ยน
และ (3) มีแรงจูงใจที่จะผลักดันให้เปลี่ยน
ถ้ามีครบทั้ง 3 อย่างนี้ ก็จะมีโอกาสสำเร็จสูงมากๆ
ในเรื่องของแรงจูงใจนั้น พิสูจน์กันมาแล้วว่า แรงจูงใจภายในสำคัญกว่าแรงจูงใจภายนอก มีการศึกษาชิ้นหนึ่ง (J Pers Soc Psychol, 1996, 70 (1), 115–126) ที่ทดลองในคนอ้วน 128 คน ที่ลงทะเบียนเข้าหลักสูตรลดน้ำหนักใน 6 เดือนพบว่า คนที่มีแรงจูงใจข้างในอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้มีสุขภาพดีขึ้น มาร่วมกิจกรรมได้บ่อยกว่า ลดน้ำหนักได้มากกว่า และยังคงดูแลตัวเองต่อไปยาวๆ ได้มากกว่าด้วย เมื่อเทียบกับพวกที่มาเพราะเพื่อนหรือครอบครัวกดดันขอให้มา
อีกเรื่องหนึ่งที่งานวิจัยบอกกับเรา และอาจจะช่วยให้เราทำตามความตั้งใจได้สำเร็จได้ดีขึ้น ก็คือ “กำลังใจ” ไม่ใช่สิ่งที่มีติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เป็นสิ่งที่ฝึกฝนและสร้างขึ้นได้ครับ และอันที่จริงแล้วกำลังใจก็หดหายหรือหมดได้ด้วย
แต่ข่าวดีก็คือ มีวิธีการสร้างเพิ่มเติมด้วยครับ !
มีการทดลองหนึ่ง (J Pers Soc Psychol, 1998, 74 (5), 1252-1265) ที่เค้าแบ่งกลุ่มอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินคุกกี้ช็อกโกแลตชิป ส่วนอีกกลุ่มไม่ให้กินทั้งๆ ที่คุกกี้ก็ยังไม่หมด แต่ให้กินหัวผักกาดแทน จากนั้นก็ให้ทำแบบทดสอบเรขาคณิตที่ยากๆ สิ่งที่พบก็คือ พวกที่กินช็อกโกแลตจะทำแบบทดสอบได้ “อึด” มากกว่า ทำให้นักวิจัยเชื่อว่าอีกกลุ่มที่เหลือต้องใช้ความตั้งใจทนความยั่วยวนจากคุกกี้ จึงทำให้หมดกำลังใจได้เร็วกว่า
ภายหลังยังมีการทดลองเพิ่มเติมอีก จนทำให้รู้ว่าการใช้พลังใจไปลักษณะนี้ ยังส่งผลกระทบกับการตัดสินใจ การควบคุมตัวเอง ซึ่งกลไกอาจจะเกี่ยวข้องกับการลดลงของน้ำตาลในเลือดด้วย ทีมนักวิจัยชาวอเมริกันถึงกับคิดว่า เรื่องนี้อาจจะใช้อธิบายได้ว่า ทำไมนักการเมืองหรือคนดัง จึงอ่อนไหวกับปัญหายาเสพติดหรือโสเภณีมากเป็นพิเศษ
เพราะอาจเป็นได้ว่า การที่ต้องใช้พลังใจไปกับการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ หรือการพบปะ หรือการแสดงทั้งวัน จึงทำให้ตัดสินใจบางเรื่องได้ไม่ดีนักโดยไม่รู้ตัว
(อยากลดน้ำหนัก การกินคลีนมากขึ้น ต้องทำยังไง)
คำแนะนำจึงเป็นว่าให้ทำงานให้สำเร็จเป็นเรื่องๆ ไป โดยเริ่มจากเรื่องที่ง่ายที่สุดก่อน เพราะกำลังใจจะเพิ่มขึ้นเมื่อเราใช้มัน แต่ก็แน่นอนว่ามีขีดจำกัดอยู่ จึงต้องไม่ใช้กำลังใจไปกับเรื่องต่างๆ มากจนเกินกำลังอยู่ดี มีการทดลองให้โจทย์ปัญหาที่ท้าทาย แต่ไม่ยากนักให้กับกลุ่มทดลองนาน 1–2 สัปดาห์ ก็พบว่าเมื่อกลุ่มทดลองทำสำเร็จ ก็ช่วยเพิ่มกำลังใจให้อย่างเห็นได้ชัด
สำหรับในชีวิตประจำวัน ความท้าทายเล็กๆ น้อยๆ ก็เช่น คนที่ไม่ชอบอาบน้ำเย็น ให้ลองอาบดู หรือคนที่วิ่งอยู่แล้ว ก็ให้วิ่งยาวขึ้นอีกนิด หรือเดิมเมื่อฝนตกจะงดวิ่ง ก็ลองวิ่งในสายฝนดูบ้าง หรือเคยดูมือถือทั้งวัน ก็ลองลดลงวันละนิดละหน่อย เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงนิสัยสำคัญอะไรสักอย่าง ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับแต่ละคน อาจต้องอาศัยเวลาพอสมควร เช่น มีผู้สังเกตว่าผู้ที่แขนขาขาดจะต้องใช้เวลาปรับตัวอย่างน้อย 21 วัน กับสภาวะชีวิตแบบใหม่
อีกการทดลองหนึ่งพบว่า การสร้างนิสัยใหม่อย่างกินผลไม้ให้ได้ทุกวันหรือออกไปจ๊อกกิ้งทุกวัน ใช้เวลาอย่างน้อย 66 วัน จึงจะทำได้แบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษ แต่ยังพบอีกด้วยว่าแต่ละคนและนิสัยแต่ละอย่างใช้เวลาไม่เท่ากันเลย
แม้ว่าโดยเฉลี่ยจะใช้เวลา 21–28 วัน จึงจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ตัวชัดเจน
ถึงตรงนี้หากอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองจริงๆ ก็คงต้องไปลงมือทำแล้วครับ อย่าลืมว่าต้องอยากเปลี่ยนจริงๆ และวางเป้าหมายให้ชัดเจน รวมไปถึงหล่อเลี้ยงกำลังใจให้ดี ก็จะสำเร็จตลอดรอดฝั่งได้ครับ โชคดีครับ