'วัณโรค' รู้ทัน ป้องกันได้ แพทย์แนะฝัง-เผา ยุติการแพร่กระจายเชื้อ
กรมการแพทย์เตือน! "วัณโรค" สามารถแพร่กระจาย จากการไอ จาม ถ่มน้ำลาย และขากเสมหะ แนะทำลายขยะด้วยการนำไฟฝังหรือเผา ไม่ควรนอนร่วมกับผู้อื่น ควรปิดปากและจมูก ทุกครั้งเวลาไอหรือจาม
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า “วัณโรค” คือโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถแพร่กระจาย จากการไอ จาม ถ่มน้ำลาย และขากเสมหะของผู้ป่วยวัณโรคปอดสู่ผู้อื่น จึงทำให้ติดเชื้อวัณโรคจากการหายใจและรับเชื้อที่ล่องลอยในอากาศเข้าสู่ปอด
“วัณโรค” พบได้ทุกส่วนของอวัยวะทั่วร่างกายเช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคลำไส้ วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบมากที่สุด คือ วัณโรคปอด ผู้ป่วยวัณโรคปอดจะมีอาการไข้ต่ำๆ ในเวลาบ่ายหรือเย็น ไอแห้งๆ และเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ผิวหนังซีด เหลือง และเหงื่อออกตอนกลางคืน ปัจจุบันสามารถวินิจฉัยโรคได้จากการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะผู้ป่วยด้วยการส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรป้องกันและควบคุมการแพร่เชื้อ “วัณโรค” โดยไม่ควรนอนร่วมกับผู้อื่น ควรปิดปากและจมูกทุกครั้งเวลาไอหรือจาม แยกและทำลายขยะที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย ด้วยการนำไปฝังหรือเผา แยกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และภาชนะใส่อาหาร ควรฆ่าเชื้อด้วยความร้อน เช่น ลวก ต้ม และตากแดดจัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาผู้ป่วย "วัณโรคปอด" โดยทั่วไปจะเลือกใช้สูตรการรักษาระยะสั้นมาตรฐาน 6 เดือน หากผู้ป่วยที่รับการรักษาจนครบกำหนดและเชื้อไม่ดื้อยา จะมีโอกาสหายขาดได้มากกว่าร้อยละ 95 แต่หากผู้ป่วย “วัณโรค” ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง คือหยุดยาก่อนกำหนดครบระยะรักษาหรือได้รับการรักษาไม่สม่ำเสมอ จะส่งผลให้เชื้อวัณโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ทนต่อยาที่เคยรักษา ทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยยาเดิมที่เคยใช้ได้ เชื้อวัณโรคจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กลายเป็นเชื้อวัณโรคดื้อยาได้
ดังนั้น ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ตามแผนการรักษาและไม่ควรหยุดยาเองแม้อาการจะทุเลาลง หากพบว่ามีอาการข้างเคียง เช่น ผื่นทั้งตัว มีไข้ มีแผลในปาก หรือตาแดง มองเห็นภาพไม่ชัด ตาพร่า ตามัว คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหมือนน้ำปลา ควรรีบมาพบแพทย์ทันที