เร่งแก้ปัญหาสิทธิบัตรทองชาว กทม.
ผู้ว่าฯ กทม. ประชุมหารือ “เลขาธิการ สปสช.” เร่งความร่วมมือแก้ปัญหา ชาว กทม. สิทธิบัตรทอง เผยแนวทางพัฒนา “ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง” เป็นแม่ข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ ดึงคลินิกเอกชนร่วมเครือข่าย มั่นใจประชาชนเลือกหน่วยบริการประจำใหม่ได้ภายใน 1 พ.ย. นี้
หลังจากกรณีหน่วยบริการประจำถูกยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการประจำในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)
เมื่อเร็วๆนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ พญ.วันทนีย์ วัฒนะรองปลัดกรุงเทพมหานคร, นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมร่วมกับ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กทม. เพื่อหารือความร่วมมือในการดูแลประชาชนในพื้นที่ กทม. ที่ได้รับผลกระทบโดยมีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ทั้งสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม. เข้าร่วม
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า การเข้าถึงบริการสุขภาพของชาว กทม. เป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของ กทม. ที่ผ่านมา ชาว กทม. ส่วนหนึ่งเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสุขภาพโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ “บัตรทอง” ผ่านคลินิกเอกชนในการช่วยดูแล แต่จากกรณีที่ สปสช. ยกเลิกสัญญากับคลินิกเอกชนที่เบิกค่าบริการไม่ถูกต้องทำให้กระทบต่อประชาชน โดยการยกเลิกสัญญารอบแรกมีประชาชน 2 แสนคนที่ได้รับผลกระทบ
ทาง กทม. จึงร่วมเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนหน่วยบริการใหม่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขไปแล้ว แต่ในรอบที่ 2 และ 3 ที่ สปสช. ยกเลิกสัญญาคลินิกเอกชนเพิ่มเติม ด้วยจำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบมากถึง 1.9 ล้านคน ทำให้หน่วยบริการเขต กทม.ที่มีอยู่ในระบบ 137 แห่ง ไม่เพียงพอต่อการรองรับได้ เพื่อดูแลชาว กทม.ที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นที่ผ่านมา กทม. และ สปสช. ได้มีการหารือนอกจากแก้ปัญหาแล้ว วางแนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพใน กทม. ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมการดูแลยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วย โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ
ทั้งนี้ การประชุมร่วมกันระหว่าง กทม. และ สปสช. ในวันนี้ เราเห็นด้วยในหลักการที่มีเป้าประสงค์เดียวกันคือประชาชน โดยหน่วยบริการทุกระดับของ กทม. จะให้บริการผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบโดยไม่มีการปฏิเสธและไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชน และเห็นชอบให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. 69 แห่ง เป็นแม่ข่ายการให้บริการปฐมภูมิในพื้นที่และกำกับคุณภาพบริการของคลินิกที่จะเข้าร่วม
คาดกว่าจะมีคลินิกเอกชนจำนวนมากเข้าร่วม โดยจะรีบส่งรายชื่อคลินิกเอกชนที่ร่วมเครือข่ายให้ สปสช โดยเร็วที่สุด จะสามารถให้ชาว กทม.ที่รับผลกระทบเลือกหน่วยบริการประจำได้ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้ ขณะที่ในส่วนโรงพยาบาลสังกัด กทม. จะทำหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยที่ต้องนอนในโรงพยาบาลโดยแบ่งความรับผิดชอบเป็นโซน ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้จะต้องเดินหน้าควบคู่กับนโยบายการพัฒนาการให้บริการสุขภาพของ กทม. โดยเฉพาะการลดการรอคอยบริการ รอพบแพทย์ไม่เกิน 60 นาทีและลดความแออัดในโรงพยาบาล
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากการหารือกับท่านผู้ว่าฯ กทม. วันนี้ ประเด็นหารือไม่ได้เป็นเพียงแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่เป็นการยกระดับบริการสุขภาพในพื้นที่ กทม. ในอนาคต ทั้งในส่วนระบบบริการปฐมภูมิ ระบบส่งต่อและบริการผู้ป่วยใน ซึ่งต้องขอบคุณทาง กทม. โดยเฉพาะท่านผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ทั้งสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย และรองปลัดที่ดูแล
ในส่วนของ สปสช. จะได้เร่งดำเนินในส่วนของการพัฒนาระบบพื้นฐานเพื่อรองรับ ทั้งการเชื่อมโยงข้อมูล ระบบการเบิกจ่ายค่าบริการ งบประมาณดำเนินการและการลงทุนในส่วนต่างๆ เพื่อเข้ามาเสริมและสนับสนุน นอกจากนี้ในวันนี้ยังได้หารือถึงความร่วมมือในการลดความแออัดในโรงพยาบาลจากกลไกที่ สปสช. ดำเนินการอยู่ ทั้งโครงการเจาะเลือดผู้ป่วยที่บ้าน โครงการผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา และโครงการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ เพื่อสนับสนุนนโยบายของท่านผู้ว่าฯ กทม. ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้