แนะชาชงสมุนไพรช่วยลดไขมันในเลือด
กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะช่วงเทศกาลกินเจ อย่ามองข้ามชาชงสมุนไพร ช่วยลดไขมันในเลือด
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึง ช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ว่า เทศกาลกินเจได้รับความนิยมจากคนไทยเพิ่มมากขึ้นจากกระแสรักสุขภาพ สำหรับเทศกาลกินเจในปีนี้ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม - 25 ตุลาคม 2563 รวมระยะเวลา 9 วัน การกินเจถือว่าเป็นอาหารชีวจิตอย่างหนึ่ง ช่วยปรับสมดุลในร่างกายเน้นรับประทานผัก ผลไม้ งดการรับประทานเนื้อสัตว์ ผักที่มีกลิ่นฉุน ข้อสังเกตของอาหารเจมักจะเป็นอาหารกลุ่มจำพวกแป้ง และน้ำมัน เป็นหลัก เช่น ผัดหมี่เหลือง ซึ่งจะมีผักไม่มากนัก หากรับประทานแป้งในปริมาณมาก แป้งจะผ่านกระบวนการย่อยในร่างกายเป็นน้ำตาลและไขมันในเลือด ดังนั้น การรับประทานเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณช่วยลดไขมันในเลือด หลังจากรับประทานอาหารเจ จะเป็นอีกวิธีการที่ช่วยป้องกันก่อนป่วย พืชผักสมุนไพรใกล้ตัวหลากหลายชนิดที่ช่วยลดไขมันในเลือดได้ดี เช่น กระเจี๊ยบแดง ดอกคำฝอย ดอกเก็กฮวย ใบเตย มะนาว น้ำตรีผลา
สำหรับ กระเจี๊ยบแดง เป็นสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในทางการแพทย์ มีสารแอนโทรไซยานิน (Anthocyanins) แคลเซียม วิตามินซี และวิตามินบี 3 จากรายงานการวิจัยพรีคลินิกพบว่า กระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ถูกนำไปใช้ใน การลดภาวะไขมันในเลือดสูง ลดความดันโลหิต โดยลดการสร้างไขมันและเซลล์ไขมัน ลดการเกิด LDL ไขมันชนิดไม่ดี ที่ทำหน้าที่เป็นตัวนำโคเลสเตอรอลทั้งหลายออกจากตับเข้าสู่กระแสเลือด
จึงไม่อยากให้มองข้ามสมุนไพรชนิดนี้ เพราะหาซื้อได้ง่าย ปลูกเองได้ ราคาไม่แพง สามารถชงดื่มได้เองในรูปแบบชาชง หรือเครื่องดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น วิธีทำก็ง่าย ๆ เพียงนำกระเจี๊ยบแดงแห้ง 3 กรัม ต้มกับน้ำสะอาด 300 มิลลิลิตร ตั้งไฟให้เดือด ลดไฟอ่อนลง ต้มให้มีสีแดงเข้ม จากนั้นกรองให้เหลือแต่น้ำกระเจี๊ยบ หรือใช้ชนิดผงสำเร็จรูปชงดื่มครั้งละ 2-3 กรัม โดยชงกับ น้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร ดื่มวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร
นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า อย่างไรก็ตามการบริโภคอาหารเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณเป็นยาจะต้องระมัดระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง และอีกหนึ่งสรรพคุณของกระเจี๊ยบ คือ มีฤทธิ์ช่วย ในการระบาย ดังนั้น การบริโภคสมุนไพรไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานกว่า 30 วัน ควรมีระยะพักของร่างกาย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ Call Center 02 5917007 ต่อกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยฯ หรือศึกษาข้อมูลในแอปพลิเคชันสมุนไพรไทย (Thai Herbs)