กรมอนามัยเตือนอาหารที่คนท้องต้องหลีกเลี่ยง
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะอาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ให้หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดหมักดอง เน้นกินอาหารให้ครบ 5 กลุ่ม ควบคู่กับการดื่มนมรสจืด 2-3 แก้วทุกวัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอ สำหรับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์ควรกินอาหารให้ครบ 5 กลุ่ม คือ กลุ่มข้าวแป้ง กลุ่มเนื้อสัตว์ กลุ่มผัก กลุ่มผลไม้ และกลุ่มนมเพื่อให้ได้รับสารอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอ สำหรับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หมักดอง กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และบุหรี่ หญิงตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาสต้องการสารอาหารแตกต่างกันไป
ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก (อายุครรภ์ 0-3 เดือน) เป็นช่วงที่ทารกมีการสร้างอวัยวะ ยังไม่มีการขยายขนาดของร่างกายมากนัก น้ำหนักตัวคุณแม่อาจเพิ่มขึ้นเพียง 1-2 กิโลกรัม แต่ถ้ามีอาการแพ้ท้อง ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวลดลงไปบ้าง พลังงานสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับในระยะนี้ใกล้เคียงกับก่อนตั้งครรภ์ ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกอาการที่แสดงออกคือ การแพ้ท้อง หากแพ้ท้องมากทำให้กินอาหารได้น้อย ควรแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อย ๆ กินให้บ่อยขึ้น ซึ่งช่วงไตรมาสนี้แนะนำอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุด เน้นกลุ่มโปรตีนจากเนื้อสัตว์และเกลือแร่ เช่น ผัดผักใส่หมูสับ ต้มจืดตำลึง เป็นต้น
ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 4-6 เดือน) คุณแม่จะเริ่มกินอาหารได้มากขึ้น ในขณะที่ระยะนี้ทารกกำลังสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีอัตราสูงสุดในเดือนสุดท้ายก่อนคลอด น้ำหนักของทารกจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องใช้พลังงานและสารอาหารสำหรับสร้างระบบไหลเวียน ระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูกและอวัยวะต่าง ๆ ของทารก และสำหรับร่างกายของมารดาเองด้วย ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีพลังงานและสารอาหารสูงกว่าคนปกติ
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะตั้งครรภ์ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์คือ ½ กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หรือ 2 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งในช่วงนี้ร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน และต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ไข่ เพิ่มขึ้นจากเดิม รวมทั้งต้องการธาตุเหล็ก เพื่อใช้สร้างเม็ดเลือดแดง โฟเลทในการป้องกันความพิการแต่กำเนิด ปากแหว่งเพดานโหว่ของทารก แหล่งอาหารที่มีเหล็กและโฟเลต ได้แก่ ตับ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียวเข้ม นอกจากนี้ยังต้องการแคลเซียมและฟอสฟอรัสในการสร้างกระดูกและฟัน แหล่งอาหารได้จากนม ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง ธัญพืช และผักเขียวเข้ม หญิงตั้งครรภ์ควรกินอาหารที่มีไอโอดีน เช่น อาหารทะเล หรือ ปรุงประกอบอาหารด้วยเครื่องปรุงที่มีการเสริมไอโอดีน ซึ่งไอโอดีนช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและการเจริญเติบโตของเชลล์สมองของทารกในครรภ์ เมนูที่แนะนำ เช่น ไข่ตุ๋น ต้มเลือดหมูใส่ผัก ปลานึ่งกับผักลวก เป็นต้น
ช่วงไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 7-9 เดือน) โดยร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ยังคงต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกมีการขยายขนาดร่างกายเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงการสร้างกระดูกและฟัน จึงควรกินอาหารที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง เน้นอาหารที่มีกรดไขมัน โอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันดี เช่น ปลาทู ปลาจะระเม็ด โดยมีเมนูแนะนำ ได้แก่ ยำปลาทู แกงเลียง ยำหัวปลี ฟักทองผัดไข่ เป็นต้น
สำหรับในช่วงนี้ควรติดตามการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก เนื่องจากจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารก คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรไป พบแพทย์เพื่อรับการ ตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 10 แก้ว เลือกกินอาหารที่สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ และได้รับสารอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอ เพราะพลังงานและสารอาหารที่มีคุณค่าอย่างเพียงพอเป็น สิ่งสำคัญต่อลูกน้อยในครรภ์ ทั้งนี้ สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ Facebook “ก้าวย่างเพื่อสร้างลูก” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว