'วันเบาหวานโลก' 14 พ.ย. โรคร้ายที่อันตรายไม่เบา

'วันเบาหวานโลก' 14 พ.ย. โรคร้ายที่อันตรายไม่เบา

วันที่ 14 พ.ย. ของทุกปีถือเป็น "วันเบาหวานโลก" โรคร้ายที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็น และถือเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบในยุคนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนทำความรู้จักความสำคัญของวันเบาหวานโลกและเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับโรคนี้

เมื่อได้ยินชื่อ "โรคเบาหวาน" คนส่วนใหญ่คงเคยได้ยินกันบ่อย ๆ และบางคนอาจมีประสบการณ์พบเจอคนใกล้ชิดเป็นโรคนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจยังไม่รู้จักโรคเบาหวานดีนัก หรือคิดว่าโรคนี้ไม่น่าจะเป็นอันตรายมาก หากใครคิดแบบนี้บอกเลยว่า คุณกำลังคิดผิด! เพราะโรคเบาหวานอาจส่งผลกระทบและอันตรายต่อร่างกายได้มากกว่าที่คิด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญกับความยากลำบากในชีวิต ทั้งการควบคุมอาหาร ทานยาเป็นประจำ หรือต้องพบเเพทย์

ขณะเดียวกัน เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงภัยจากโรคเบาหวาน องค์กรนานาชาติจึงร่วมกันก่อตั้ง "วันเบาหวานโลก" ขึ้นเมื่อปี 2534 และให้ตรงกับวันที่ 14 พ.ย. ของทุกปีนับตั้งแต่นั้นมา

 

  • โรคเบาหวานคืออะไร

เบาหวาน คือภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ซึ่งภาวะปกตินั้นระดับน้ำตาลในร่างกายของเราจะมีกลไกในการควบคุมให้เหมาะสม โดยมีฮอร์โมนอินซูลินเป็นส่วนสำคัญในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอินซูลินนั้นเป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากตับอ่อน ที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดไปเก็บยังกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อไขมัน และตับ และยังช่วยยับยั้งการผลิตน้ำตาลจากตับอีกด้วย

160533153990

 

  • วันเบาหวานโลกเริ่มขึ้นเมื่อไร

วันเบาหวานโลก ถูกก่อตั้งขึ้นโดย สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2534 โดยคำนึงถึงอุบัติการณ์ของโลกเบาหวาน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก

นอกจากนี้ วันที่ 14 พ.ย. ยังตรงกับวันเกิดของ เฟรเดอริก แบนติง (Frederick Banting) ผู้ค้นพบอินซูลินเมื่อปี 2465 ซึ่งเป็นยาฉีดลดน้ำตาลในเลือดที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานในปัจจุบันนั่นเอง

 

  • สัญลักษณ์คืออะไร?

สัญลักษณ์ของวันเบาหวานโลกเป็นวงกลมสีฟ้า โดย วงกลม สื่อถึงชีวิตและสุขภาพ

สีฟ้า สื่อถึง ท้องฟ้า ซึ่งของทุกชาติจะเป็นหนึ่งเดียวกัน "วงกลมสีฟ้า" จึงหมายถึง การรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของชุมชน ที่เกี่ยวข้องกับเบาหวานเพื่อเผชิญกับภาวะเบาหวานทั่วโลก

160533089478

  • ชนิดของโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

- เบาหวานชนิดที่ 1

เกิดจากการขาดอินซูลิน เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถหลั่งอินซูลินได้ ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน ทำหน้าที่ช่วยนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงาน ทำให้เกิดภาวะขาดอินซูลิน ซึ่งเบาหวานชนิดนี้มักพบในเด็กและผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี

- เบาหวานชนิดที่ 2

เกิดจากภาวะการลดลงของการสร้างอินซูลิน ร่วมกับภาวะดื้ออินซูลิน และมักเป็นกรรมพันธุ์

เกิดจากการที่เซลล์ของร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดีหรือที่เรียกว่าภาวะดื้อต่ออินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายเหมือนขาดอินซูลินไประดับหนึ่ง ร่างกายต้องทดแทนโดยการสร้างอินซูลินออกมามากขึ้น จนตับอ่อนทำงานมากขึ้น ทำให้ระดับอินซูลินที่ไม่พอเพียงแก่ความต้องการ สาเหตุของภาวะดื้ออินซูลินนั้นเกิดได้จากพันธุกรรม ความอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น

- เบาหวานขณะตั้งครรภ์

มักเกิดในผู้ที่ไม่มีประวัติเป็นเบาหวานมาก่อน แล้วเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เมื่อคลอดแล้วเบาหวานก็จะหายไป แต่คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้อีกในอนาคต

- เบาหวานชนิดอื่นที่มีสาเหตุเฉพาะ

เช่น เป็นโรคของตับอ่อน หรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงานที่ผิดปกติของอินซูลินโดยกำเนิด

160533097786

 

  • สถานการณ์ในไทยน่าห่วง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า สถานการณ์ประเทศไทยตอนนี้มีผู้ป่วยเบาหวานอยู่ราว 5 ล้านคน หรือเปรียบเทียบได้ว่า 1 ใน 11 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป กำลังป่วยด้วยโรคเบาหวาน และมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนคนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 40% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ขณะที่ผู้ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษามีเพียง 54.1% หรือเพียง 2.6 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียง 1 ใน 3 คน ที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในเมืองไทยมีมากถึง 200 รายต่อวัน

"ที่น่าเป็นห่วงมากสำหรับประเทศไทย คือ ความชุกของเบาหวานที่เกิดจากปัญหาโรคอ้วนและพฤติกรรมการใช้ชีวิตในเด็กวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้เป็นคนวัยทำงานและเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ"

160533099334

สำหรับการดูแลรักษาโรคเบาหวานตามมาตรฐานในระดับสากล (JCI) มีดังนี้

1. การให้ความรู้ เพื่อระวัง ป้องกัน ดูแลตัวเองที่บ้าน (Self-Management)

2. จัดกลุ่มผู้ป่วยอบรมนอกสถานที่กับกลุ่มผู้ที่มีความชำนาญในทุกสหสาขาวิชาชีพ (Seminar and Camp)

3. นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร ร่วมดูแลและให้คำปรึกษาการทานอาหารตามลักษณะเฉพาะบุคคล

4. แพทย์สหสาขาวิชาชีพดูแลแบบครบวงจร (One Stop Services) เกี่ยวกับโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานและโรคอ้วน

5. ยารักษาโรคในปัจจุบันที่มีให้เลือกทุกชนิดทุกแบบ ทั้งชนิดรับประทาน ทางผิวหนัง และฉีดอินซูลินแบบ Insulin Pump ซึ่งปัจจุบันมียาฉีดเข้าใต้ผิวหนังที่ช่วยลดน้ำหนักและน้ำตาลได้พร้อมกัน  

6. การดูแลต่อที่บ้านโดยส่งข้อมูลผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์ เช่น เครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว (Self-Monitoring Blood Sugar(SMBG)), Continuous Glucose Monitoring System(CGMS) แบบ Internet of Medical Things (IOMTs) เช่น เครื่องวัดความดัน เครื่องชั่งน้ำหนัก 

7. การเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สุขภาพ ประวัติการรักษาของผู้ป่วย (Electronic Medical Records)เพื่อใช้ในการรักษาและส่งต่ออย่างราบรื่นและทันเวลา 8.ระบบการดูแลผู้ป่วยกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ผ่านออนไลน์นอกโรงพยาบาล (Telemedicine)เพื่อความต่อเนื่องในการรักษา เพิ่มความสะดวกในการนัดหมายดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ติดตามผลเลือด ส่งยาถึงบ้านได้ทุกวัน ลดการเดินทางโดยไม่จำเป็น และลดความแออัดของสถานที่อีกด้วย

-------------------------

อ้างอิง: รพ.พญาไท, รพ.กรุงเทพ, Valor Health, กรุงเทพธุรกิจ