‘เบาหวาน-บกพร่องทางการเรียนรู้’ เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตจากโควิด-19
ยูเอ็น เตือน ผู้ป่วยเบาหวาน มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ขณะที่ ผลการวิจัย PHE พบผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตด้วยโควิด-19 มากกว่าบุคคลอื่น คิดเป็น 451 คนต่อแสนประชากร
วันนี้ (15 พฤศจิกายน) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศ ระบุว่า สหประชาชาติ หรือยูเอ็น เตือน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เลขาธิการสหประชาชาติหรือ ยูเอ็น กล่าววานนี้ว่า จำนวนประชาชนที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น ซึ่งหลายคนในจำนวนนี้มีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยด้วยโรคร้าย และเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เนื่องในวันเบาหวานโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งพวกเขาไม่ได้รับการตรวจ การได้รับยาและการได้รับความรู้ในการรักษาชีวิตของพวกเขาอย่างเหมาะสม
“สถิติ WHO ล่าสุดเมื่อปี 2557 ชี้ให้เห็นว่า ทั่วโลกมีผู้ใหญ่ราว 422 ล้านคน ป่วยด้วยโรคเบาหวาน เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2523 ซึ่งมีผู้ป่วยโรคเบาหวานราว 108 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 8.5 จากเดิมร้อยละ 4.7 ของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ ขณะที่ปีหน้า WHO จะเริ่มโครงการใหม่เกี่ยวกับโรคเบาหวานที่ชื่อ "Global Diabetes Compact ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระเกี่ยวกับโรคเบาหวาน” เลขาธิการสหประชาชาติ ระบุ
ด้าน สหราชอาณาจักร เผยผลการวิจัยของ Public Health England (PHE) พบว่า ผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 มากกว่าบุคคลอื่น โดยพบว่า คนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 จะมีอัตราการเสียชีวิต 451 คนต่อประชากร 100,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มีนาคม - 5 มิถุนายน 2563) ซึ่งอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าประขากรทั่วไป 4.1 เท่า
อย่างไรก็ตาม PHE กล่าวว่า อัตราที่แท้จริงอาจสูงขึ้นถึง 6.3 เท่า โดยผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้บางประเภท เช่น ดาวน์ซินโดรม ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจได้มากขึ้น อีกทั้งผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพอื่น ทั้งโรคอ้วน โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง
สำหรับ สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ประจำวันวันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน 2563 เวลา 11.00 น. พบผู้ป่วยรายใหม่ 8 ราย ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,874 ราย หายป่วยแล้ว 3,715 ราย กำลังรักษา 99 ราย เสียชีวิตสะสม 60 ราย
รายละเอียดผู้ป่วยรายใหม่ 8 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จาก เบลเยียม 1 ราย เพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 39 ปี เป็นแม่บ้าน เดินทางมาถึงไทยวันที่ 31 ต.ค. ผู้ติดเชื้อเที่ยวบินเดียวกัน 1 ราย เข้าพักที่ SQ กทม. ตรวจหาเชื้อวันที่ 4 พ.ย. (Day 4) ผลไม่พบเชื้อ และวันที่ 12 พ.ย. (Day 12) ผลพบเชื้อมีอาการแสบจมูก เข้ารักษาที่ รพ.เอกชน
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย เพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 37 ปี เป็นแม่บ้าน เดินทางมาถึงไทยวันที่ 1 พ.ย. ผู้ติดเชื้อเที่ยวบินเดียวกัน 1 ราย เข้าพักที่ SQ ชลบุรี ตรวจหาเชื้อวันที่ 4 พ.ย. (Day 3) ผลไม่พบเชื้อ และวันที่ 13 พ.ย. (Day 12) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารักษาที่ รพ.บางละมุง
อียิปต์ 2 ราย เดินทางถึงไทยวันที่ 5 พ.ย. ต่อเครื่องที่เมืองดูไบ เข้าพักที่ ASQ สมุทรปราการ เป็นเพศชาย สัญชาติอียิปต์ อายุ 47 ปี อาชีพนักธุรกิจ ตรวจหาเชื้อวันที่ 10 พ.ย. (Day 5) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ และ เพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 36 ปี เป็นแม่บ้าน ตรวจหาเชื้อวันที่ 10 พ.ย. (Day 5) ผลพบเชื้อ จมูกไม่ได้กลิ่น ทั้งสองเข้ารักษาที่ รพ.สมุทรปราการ
อินเดีย 3 ราย เดินทางถึงไทยวันที่ 7 พ.ย. ได้แก่ เพศชาย สัญชาติอินเดีย อายุ 45 ปี อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว , เพศชาย สัญชาติอินเดีย อายุ 45 ปี อาชีพรับจ้าง และ เพศหญิง สัญชาติอินเดีย อายุ 46 ปี เป็นแม่บ้าน เข้าพักที่ ASQ กทม. ตรวจหาเชื้อวันที่ 12 พ.ย. (Day 5) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารักษาที่ รพ.เอกชน มีผู้ติดเชื้อเที่ยวบินเดียวกัน 2 ราย
และ สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย เพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 35 ปี เป็นแม่บ้าน เดินทางมาถึงไทยวันที่ 8 พ.ย. เข้าพักที่ ASQ กทม. ตรวจหาเชื้อวันที่ 13 พ.ย. (Day 5) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารักษาตัวที่ รพ.เอกชน
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 54,318,729 ราย อาการรุนแรง 98,127 ราย รักษาหายแล้ว 37,866,568 ราย เสียชีวิต 1,318,038 ราย
5 อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 11,226,038 ราย 2. อินเดีย จำนวน 8,814,902 ราย 3. บราซิล จำนวน 5,848,959 ราย 4. ฝรั่งเศส จำนวน 1,954,599 ราย และ 5. รัสเซีย จำนวน 1,903,253 ราย ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 151 จำนวน 3,874 ราย
ประเทศทั่วโลก ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา 157,081 ราย 2. อินเดีย 41,659 ราย 3. อิตาลี 37,255 ราย 4. ฝรั่งเศส 32,095 ราย และ 5. บราซิล 29,463 ราย