แนะเฝ้าระวังชายแดน สกัดลักลอบเข้าเมือง กันโควิด-19 ระลอก 2
แพทย์ชี้ แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะดีขึ้น แต่ประเทศเพื่อนบ้านยังระบาดหนัก เมียนมา พบผู้ป่วยเกือบ 9 หมื่นราย แนะเฝ้าระวังด่านชายแดน สกัดลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ป้องกันระลอกสอง ย้ำคนที่เคยติดเชื้อ มีโอกาสติดซ้ำ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการน้อย
วันนี้ (30 พฤศจิกายน) ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้แทนสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าว "การเตรียมพร้อมและรับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ และการระบาดระลอก 2" ว่า สถานการณ์ของการติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกในขณะนี้ยังมีผู้ป่วยจำนวนสูงขึ้น ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ป่วยประมาณ 63 ล้านราย เสียชีวิตประมาณ 1.46 ล้านราย อัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 มีบางประเทศที่การติดเชื้อเข้าสู่ระลอกที่ 2 หรือ 3 สำหรับในประเทศไทยการติดเชื้อเป็นจากการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ที่มีการระบาดและสามารถตรวจพบจากการการคัดกรองที่สถานกักโรคต่าง ๆ ของภาครัฐบาล
“1 ปีที่ผ่านมา จากการศึกษาจากคนไข้ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีการระบาดจำนวนมาก พบว่า คุณสมบัติไวรัส คือ การกลายพันธุ์ เช่นเดียวกับ เอชไอวี ที่มีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ ทำให้การผลิตวัคซีนป้องกันเป็นไปได้ยาก แต่การกลายพันธุ์ไม่ได้หมายความว่าทำให้คนเสียชีวิตง่าย เพราะความเสี่ยงในการเสียชีวิต ยังคงขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว”
สำหรับโอกาสการระบาดระลอกที่ 2 ในประเทศ ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า เนื่องจากผู้ป่วยในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่นำเชื้อเข้ามาและอยู่ในสถานกักกันของรัฐ แต่สถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านยังน่าห่วง สิ่งที่น่ากังวล คือ การเข้ามาในช่องทางผิดกฎหมาย หากผู้ที่เข้ามาหรือคนที่คัดกรองไม่ให้ความสำคัญ จะทำให้มีเชื้อเข้ามา
ปัจจุบันพบว่า เมียนมา มีผู้ป่วยเกือบ 9 หมื่นราย และในความเป็นจริงอาจจะเยอะกว่านี้ ขณะที่ รพ. รอบชายแดน เริ่มขาดแคลนอุปกรณ์การป้องกันและมีการขอจากฝั่งไทย ดังนั้น เคสเหล่านี้มีโอกาสเล็ดลอดเข้ามา หากเจอในสถานที่กักกันโรคจะสามารถควบคุมได้ แต่หากเข้ามาโดยผิดกฎหมายจะควบคุมได้ยาก อาจเกิดจากที่มีผู้ป่วยที่หลุดรอดจากระบบการคัดกรอง หากไทยไม่ระมัดระวัง จะทำให้เกิดการระลอก 2
“ดังนั้น การป้องกันการเกิดการระบาดระลอกที่ 2 จึงควรมีมาตรการในการค้นผู้ป่วยเหล่านี้ที่มีโอกาสเข้ามาในที่ชุมชน โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่เข้ามาอาจจะไม่มีอาการและการติดเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ง่ายจากการที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์”
สำหรับในประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่ในช่วงฤดูหนาว ผศ.นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่มีความชื้นลดลง อาจจะทำให้การแพร่กระจายเชื้อเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม ประกอบกับมีการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่และเป็นวันหยุดยาว จะทำให้คนมาอยู่ในที่ แออัดมากขึ้น จึงควรมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
“ในส่วนของภูมิคุ้มกัน อดีตเราคิดว่าคนที่เป็นแล้วจะไม่ติดเชื้อซ้ำ แต่ความจริงคนที่เคยติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันแตกต่างกัน จากการติดตาม 1-3 เดือนหลังจากผู้ป่วยรักษา พบว่า คนที่อาการน้อย ภูมิตกและมีโอกาสเป็นซ้ำ มากกว่าคนที่อาการรุนแรง ดังนั้น โอกาสการติดซ้ำมี ซึ่งสามารถเจอได้ไม่บ่อยแต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้”
ปัจจุบัน การรักษาโรคโควิด-19 ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ที่มากขึ้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในห้องไอซียู มีอัตราการตายที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันการติดโรคในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การรณรงค์ให้ใช้หน้ากากอนามัยและการล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ยังเป็นมาตรการที่สำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงที่กำลังรอวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19
“ผู้ป่วยโควิด-19 มีค่าใช้จ่ายในการรักษาราว 5-6 หมื่นบาทต่อราย ในการนอนโรงพยาบาล ดังนั้น การป้องกันตนเอง ถือเป็นการประหยัดงบประมาณประเทศ และลดการแพร่กระจายเชื้ออีกด้วย” ผศ.นพ.โอภาส กล่าว