รู้เท่าทัน'โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง' กิน อยู่ อย่างมีสติ

   รู้เท่าทัน'โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง' กิน อยู่ อย่างมีสติ

ไม่อยากป่วย อย่าตามใจปาก อย่าอยู่นิ่งๆ มากเกินไป เคลื่อนไหวร่างกายบ้าง ไม่เช่นนั้นอาจป่วยด้วยโรคไม่เรื้อรัง(NCDs) โดยมีสถิติอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยชั่วโมงละ 37 คน

ไม่มีใครอยากเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่เวลากิน คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยคิดถึงสิ่งที่กินเข้าไป จะทำให้ก่อโรค สะสมในร่างกายมากน้อยเพียงใด ขอเพียงให้อร่อยถูกปาก 

ถ้าอย่างนั้นมาปรับเปลี่ยนวิถีใหม่ บอกลาพฤติกรรมสบายๆ มีคำแนะนำว่า คนเราควรเดินวันละ 5,000 ก้าว เพื่อป้องโรคหลอดเลือด-ความดัน-เบาหวาน-มะเร็ง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงร่วมกับหลายหน่วยงาน จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “คนรุ่นใหม่ กินอยู่ รู้ทันโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13

160758815156

(นายแพทย์ กฤช ลี่ทองอิน )

และต้องรู้ก่อนว่า โรค NCDs (Non-communicable diseases) เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น หลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้นเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละ 4 แสนราย หรือประมาณ 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้คนทั่วโลกเกือบ 50% เสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่โรคเหล่านี้สามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงลงได้ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 2 ด้าน คือการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย

“พฤติกรรมคนเราสำคัญ ถ้าใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่ง วิถีแบบนี้ส่งเสริมให้เกิดการสะสมไขมัน พลังงาน และระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน หรือการรับประทานอาหารอย่างลืมตัวจนเกินความต้องการของร่างกาย พลังงานเหล่านั้น ก็จะสะสมและกลายมาเป็นปัญหา ดังนั้นจำเป็นต้องรณรงค์ให้คนกลับมามีวิถีที่กระฉับกระเฉงมากยิ่งขึ้น” นายแพทย์ กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าว และเชิญชวนให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายมากขึ้น

"ถ้าเดินอย่างน้อยวันละ 5,000 ก้าวหรือ 3 กิโลเมตรจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคได้เยอะ ล่าสุดมีงานวิจัยที่ยืนยันว่า หากผู้ป่วยเบาหวานเดิน 15 นาทีหลังอาหาร จะช่วยเรื่องการใช้น้ำตาลในร่างกายได้ดีขึ้น"

ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ บอกว่า แม้โรค NCDs จะถูกเรียกเป็นโรคไม่ติดต่อ คือ ไม่มีเชื้อโรค ไม่มีแบคทีเรีย หรือไวรัสที่แพร่กระจายได้ หากแต่โรคนี้กลับเป็นโรคที่ติดต่อกันทางสังคมเป็นเรื่องของพฤติกรรม

“ครอบครัวใดชอบกินเค็ม หรือครอบครัวใดดื่มเหล้าสูบบุหรี่ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะติดต่อไปยังเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวนั้น ที่จะเกิดการเลียนแบบ”

นพ.ปรีดา กล่าวว่า ที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญกับโรคโควิด-19 ทำให้ควบคุมได้ดี โดยพบผู้เสียชีวิตเพียง 60 คน ในช่วง 6 เดือน แต่เรากลับรู้สึกเฉยๆ กับโรค NCDs ทั้งที่มีอัตราการเสียชีวิตปีละกว่า 4 แสนคน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 37 คน ฉะนั้นหากโควิด-19 คือวิกฤตทางสุขภาพ NCDs ก็เป็นภัยคุกคามที่เราไม่รู้ตัว

ขณะที่ ธิดารัตน์ จันทรา หัวหน้ากลุ่มงานโภชนาศาสตร์ โรงพยาบาลสูงเนิน จ.นครราชสีมา กล่าวว่า 90% ของปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค NCDs คือ อาหาร คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญ แม้ผู้ป่วย NCDs จะไม่เสียชีวิตโดยทันที แต่โรคนี้ก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของตัวเองและคนรอบข้างได้ ฉะนั้นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คือ หันมาดูแลตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องอาหาร

การมีสุขภาพที่ดีได้ต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญว่า ตัวเราคือหมอรักษาตัวเอง และบ้านก็คือโรงพยาบาล ส่วนอาหารคือยา ดังนั้นหากไม่อยากกินยาเป็นอาหาร ก็จำเป็นต้องลุกขึ้นมาลดหวาน มัน เค็ม อย่างจริงจัง

ศิริพร เจริญโภคราช ผู้ป่วยโรคไตวาย กล่าวว่า เดิมเป็นคนที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบมักง่าย ทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อหิวก็รับประทานอาหารโดยไม่สนใจเวลา เมื่อง่วงก็นอน คิดแต่เพียงว่าจะหาเงินให้ได้มากๆ แต่มาวันนี้รู้แล้วว่า วิถีชีวิตเช่นนั้นไม่คุ้มค่า

“โรคไตและโรคหัวใจทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลตัวเองและคิดบวกมากที่สุด”