'ปลา ปู กุ้ง หอย' แบรนด์ 'คนจับปลา Fisherfolk' ทางเลือกอาหารทะเลปลอดภัยและรักษ์โลก
ช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ใครๆ ก็อยากรู้ว่า กุ้ง หอย ปู ปลา ที่กำลังจะซื้อมาจากสมุทรสาครหรือเปล่า ดังนั้นการรู้แหล่งที่มาที่ไปของอาหารทะเลก็สำคัญต่อชีวิต ไม่เฉพาะช่วงไวรัสระบาด
ในช่วงที่คนไทยไม่ค่อยกล้าบริโภคอาหารทะเล เนื่องจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งทางกรมอนามัยได้ย้ำเตือนบ่อยๆ แล้วว่า ปรุงอาหารให้สุก กินร้อน ช้อนส่วนตัว และล้างมือบ่อย ๆ ป้องกันโควิด 19 ได้
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย (OXFAM)และหลายหน่วยงาน จัดงานเทศกาลประจำปีและเสวนาเรื่อง“มหาส้มมุทร (ยั่งยืน) รู้ที่มาของอาหารสำคัญไฉน” กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ณ สวนครูองุ่น
เพื่อให้รู้ว่า อาหารทะเล จากมหาสมุทร มีอยู่ไม่น้อย คนไทยก็มีทางเลือกในการบริโภคอาหารทะเลปลอดภัย และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนได้ด้วย
ยกตัวอย่าง ร้านคนจับปลา Fisherfolk เป็นอีกทางเลือกสำหรับอาหารทะเลปลอดภัย เนื่องจากเป็นประมงพื้นบ้านที่ใส่ใจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงพยายามให้ความรู้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกินกับผู้ผลิตอาหาร
“เชื่อว่าถ้าคนกินเลือกกินสัตว์น้ำจากประมงพื้นบ้านที่จับด้วยเครื่องมือที่ปลอดภัย จะทำให้ชาวประมงเองตระหนักว่าหากเขาใช้เครื่องมือถูกต้องปลอดภัยแล้วจะมีคนซื้อรออยู่ และไม่กลับไปใช้เครื่องมือที่ทำลายทรัพยากร”เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ผู้จัดการร้านคนจับปลาFisher Folk กล่าว
"การจัดงานปีที่ 7 เน้นธีมเรื่องสัตว์น้ำวัยอ่อน อยากให้คำนึงถึงขนาดสัตว์น้ำที่เหมาะสมกับการกินจะทำให้เกิดความยั่งยืน “
เพราะพวกเขาเห็นแล้วว่า การจัดงานอย่างต่อเนื่องหลายปีเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งชาวประมงและผู้บริโภค
“ในช่วงแรกชาวประมงยังไม่มั่นใจในการผลิตอาหารปลอดภัย การผลิตโดยไม่ใส่สารเคมี การใช้เครื่องมือที่ถูกต้อง เพราะยังไม่เห็นตลาด แม้การจับแบบนี้จะผลผลิตน้อย ต้องเลือกจับบางชนิด ไม่เหมือนการกวาดจับทั้งหมด ปีแรกๆ เราจึงต้องช่วยทำตลาด ให้ผู้บริโภคในเมืองเห็นทางเลือก
“เมื่อชาวประมงรู้ว่าการจับอย่างรับผิดชอบ ดูแลสิ่งแวดล้อม แปรรูปถูกสุขอนามัยแล้วมีคนกินแน่นอน ก็เริ่มปรับเปลี่ยนและตระหนักเรื่องการทำงานอนุรักษ์มากขึ้น มีธนาคารปูเกือบทุกชุมชน เราเชื่อว่าถ้าทำงานต่อไปจะพบความยั่งยืน”
ทางด้าน วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า คนทั่วไปยังเข้าถึงอาหารดีได้น้อยด้วยข้อจำกัดเรื่องทุน และโอกาสที่จะเจอของดี ถ้าจะให้คนเข้าถึงมากขึ้น อาหารดีๆ เหล่านี้ต้องมีการผลิตมากขึ้น
“คนมักคิดว่าอาหารจากชาวบ้านต้องราคาถูกและเป็นของไม่ดี ผมอยากเห็นประชาชนเข้าถึงอาหารที่ดีในราคาถูกได้ แต่เราต้องช่วยกันกินหมึกที่ดี จะเป็นแรงส่งช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ผลิต ให้ชาวประมงที่ทำสิ่งที่ดี ก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดี”
แล้วจะเลือกอาหารปลอดภัยอย่างไร เรื่องนี้ กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่าระบบการผลิตอาหารของไทยทันสมัยมาก ทำให้คนมีอาหารกินได้ตลอดปี แต่เป็นการกินไม่รู้ฤดูกาล
“เพราะอุตสาหกรรมอาหารต้องการตอบโจทย์คนกินตลอดปี จึงใส่สารเคมีทุกสิ่งที่หาได้ เมื่อมีการตรวจสารตกค้างในผักและผลไม้ โดยมากจะเจอประมาณ55% ไม่ว่าจะมาจากตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต
คนจึงเริ่มถามหาอาหารปลอดภัย แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าป้ายที่แปะว่า “ปลอดภัย” นั้นปลอดภัยจริง เพราะคำว่าปลอดภัยคือการใช้สารเคมี แต่มีการเว้นระยะการใช้
ผู้บริโภคจึงเริ่มตื่นตัวเรื่องที่มาอาหารมากขึ้น แต่อาจไม่ทันอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้นกระบวนการสื่อสาร ก็เป็นความหวังหนึ่งที่จะทำให้ตื่นตัวการกินอาหารที่หลากหลาย รู้จักตั้งคำถามกับอาหารที่ตัวเองกิน ช่องทางออนไลน์ก็จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข่าวสารได้มากขึ้น เชฟที่ทำอาหารก็มีส่วนช่วยส่งต่อความรู้เรื่องอาหาร ให้คนกิน รู้จักอาหารที่หลากหลายและช่วยกันรักษาระบบอาหารที่ยั่งยืน”
ด้านเชฟอุ้ม-คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ จากร้านตรังโคอิ จ.ตรัง เล่าว่า อาหารเพอรานากันที่ตนเองทำเ ป็นอาหารมีรากเหง้า อ้างอิงจากรากวัฒนธรรม แล้วมาประดิษฐ์วิธีการนำเสนอใหม่ อาหารเปอรานากันอยู่ในพื้นถิ่นชายฝั่งทะเล ผสมด้วยสมุนไพรและเครื่องเทศในป่า หลักของอาหารเปอรานากัน ก็คือ ทะเล จะเอาอาหารทะเลมาใช้ทุกส่วน ซึ่งต้องมีความรู้เรื่องวัตถุดิบแต่ละชนิด
"ถ้าเรากินปลาโดยไม่มีความรู้ ก็จะกินแต่วัตถุดิบเดิมๆ ปลาอื่นที่ถูกจับมาก็จะเหลือ และเราจะพลาดในการปรุงอาหารที่เหมาะกับเนื้อปลา การขยายความรู้สู่ผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องสำคัญ
และอยากบอกผู้บริโภคว่าอย่ารู้จักแค่เทศกาล แต่อยากให้รู้จักฤดูกาลด้วย เพราะอาหารทุกอย่างมีช่วงชีวิต ถ้ากินตามช่วงชีวิตของอาหาร ช่วงชีวิตของเราก็จะยืนยาว” เชฟอุ้มกล่าว
ส่วน แบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ เชฟอีกคน จากร้านBlackitchArtisan Kitchen จ.เชียงใหม่ บอกว่า ถ้านิสัยการกินของผู้บริโภคเปลี่ยน ก็จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารเปลี่ยน แต่การกินอย่างผิดๆ อย่างการกินบุฟเฟ่ต์ปูก็ส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำ ขณะที่การทำธนาคารปูจะส่งผลให้ปริมาณปูในทะเลเพิ่มขึ้น
"จากการเก็บข้อมูลที่ร้านในไม่กี่ปีพบว่าเราใช้สัตว์น้ำกว่า800-900สายพันธุ์ และเปิดพื้นที่ให้คนกินรู้ข้อมูลของสัตว์น้ำเหล่านี้ ซึ่งปลาในประเทศไทยก็สามารถกินดิบแบบปลาญี่ปุ่นได้ แต่อยู่ที่การจัดการในขั้นตอนต่างๆ
การขยายลูกค้าให้กินอย่างมีความรู้ ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากรู้ข้อมูลแล้ว เราต้องเคารพวัตถุดิบ ใช้ปลาแต่ละส่วนอย่างรู้คุณค่า เช่น เอาหัวปลาและก้างปลาไปทำน้ำปลา เปลือกกุ้งเปลือกปูเอามาป่นคลุกเกลือทำกะปิ ผมอยากให้ทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรไม่อย่างนั้นความยั่งยืนจะไม่เกิด”
.............................
อาหารทะเลปลอดภัย ดูได้ที่เฟซบุ๊ค ร้านคนจับปลา Fisherfolk