'อนุทิน' ลงใต้ เน้นให้เฝ้าระวังโรคติดต่อหลังน้ำลด
อนุทัน ลงจังหวัดปัตตานี เผยระดับน้ำลดลง ส่งทีมดูแลช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว พร้อมเฝ้าระวังโรคติดต่อหลังน้ำท่วมและเยียวยาจิตใจผู้รับผลกระทบ และครอบครัวผู้เสียชีวิต ส่วนสถานบริการ 3 แห่งกลับมาเปิดบริการแล้ว
วันนี้ (16 มกราคม 2564) ที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขผู้ประสบอุทกภัย จ.ปัตตานี พร้อมนำถุงยังชีพ ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ได้แก่ ยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม 1 หมื่นชุด ยาน้ำกัดเท้า 1 หมื่นหลอด ผงน้ำตาลเกลือแร่ 2 หมื่นซอง คลอรีนผง 10 ถัง และสารส้ม 10 กระสอบสนับสนุนการช่วยเหลือและให้บริการประชาชนในพื้นที่
นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ได้มาเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่จังหวัดปัตตานี ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการและเฝ้าระวังคือ โรคติดต่อที่มากับน้ำท่วมและหลังน้ำลด เช่น โรคตาแดง โรคน้ำกัดเท้า โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก รวมทั้งการเยียวยาทางด้านจิตใจหลังประสบเหตุวิกฤต ทั้งเรื่องความเครียดในการฟื้นฟูบ้านเรือนและกิจการต่างๆ
โดยให้ 3 หมอรับผิดชอบดูแลสุขภาพและจิตใจประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง เบื้องต้นได้ให้การดูแลประชาชนและกลุ่มเปราะบางแล้วรวม 197 ราย ออกหน่วยบริการด้านสาธารณสุขช่วยเหลือประชาชน 12 หน่วย 28 ครั้ง โรคที่พบมากคือ น้ำกัดเท้า ไข้หวัด ปวดเมื่อย คัน และอ่อนเพลีย นอกจากนี้ ได้กำชับให้ดูแลประชาชนในศูนย์พักพิง 3 แห่ง คือที่ รพ.สต.ลิปะสะโง, อบต.ลิปะสะโง และคันคลองชลประทาน และฟื้นฟูสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมหลังน้ำลด น้ำดื่มน้ำใช้สะอาด หากต้องการรับการสนับสนุนเพิ่มเติมให้ประสานมายังสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
สำหรับสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก, รพ.สต.ปะกาฮารัง และหน่วยบริการปฐมภูมิ อ.เมือง ขณะนี้เปิดให้บริการได้ทั้งหมดแล้ว และมีอสม.ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ 811 คน
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ทีมสุขภาพจิตได้ลงพื้นที่ดูแลครอบครัวของผู้เสียชีวิต พร้อมดูแลกลุ่มที่มีความเปราะบางในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวชที่หากขาดยาอาจเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง รวมทั้งจะมีการประเมินสภาวะสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่องว่ามีภาวะตึงเครียดจากสถานการณ์ต่างๆ หรือไม่ เนื่องจากไม่ได้เกิดขึ้นทันที เมื่อเริ่มฟื้นฟูกิจการความเสียหายแล้วมักเกิดความตึงเครียดตามมา โดยกลุ่มเสี่ยงมากจะมีการติดตามทุก 2 สัปดาห์ และเปิดช่องทางบริการให้คำปรึกษาผู้ปฏิบัติงานที่อาจเกิดความอ่อนล้าด้านอารมณ์ด้วย