'อัจฉริยะ'อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีทักษะชีวิตด้วย
เชื่อเถอะ...ความฉลาดไม่ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว งานหนักและความอดทนจะทำให้ฉลาดขึ้น และใช่ว่าคนฉลาดจะประสบความสำเร็จในชีวิต ถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไร
ความสำเร็จของคนเราขึ้นกับอะไรกันแน่ ? นักวิทยาศาสตร์ตอบคำถามเรื่องนี้ได้หรือไม่ ? ถ้าตอบได้ ตอบว่าอย่างไร ?
ทุกคนน่าจะเคยเจอคนที่เก่งราวกับเกิดมาเพื่อเก่ง เรียกว่าเก่งจากท้องพ่อท้องแม่กันเลยทีเดียว แต่เรื่องนี้เป็นแค่เพียงภาพลวงตาหรือเปล่า ?
มีงานวิจัยของนักจิตวิทยา เลวิส เทอร์แมน (Lewis Terman) ในทศวรรษ 1920 ที่เก็บข้อมูลเด็กๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย 1,528 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่คัดมาว่า มีคะแนนแบบทดสอบวัดระดับสติปัญญามาตรฐาน (Stanford-Binet IQ Set) สูงๆ กันทั้งนั้น
เพราะเทอร์แมนเชื่อว่าไอคิวน่าจะเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จในช่วงผู้ใหญ่ได้ โดยอาจดูจากรายได้หรือความสำเร็จรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งความสุข เป็นต้น
เทอร์แมนติดตามกลุ่ม “เด็กไบร์ท” เหล่านี้ไปจนถึงวัยกลางคน ทำให้พบว่าเนิร์ดพวกนี้ตีพิมพ์เปเปอร์มากถึงราว 2,000 หัวเรื่อง, ได้สิทธิบัตรอีก 230 ผลงาน, แต่งนิยายขายได้ 33 เล่ม และยังมีเรื่องสั้นกับบทละครอีก 375 เรื่อง และมีรายได้มากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3 เท่า !
ฟังดูก็เหมือนกับจะมีความสัมพันธ์ชัดเจนดีนะครับ ระหว่างระดับ IQ กับความสำเร็จในชีวิต แต่เมื่อดูในรายละเอียดกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้ว่าคนกลุ่มนี้ที่มีค่าเฉลี่ยไอคิวที่ 147 (คนทั่วไปอยู่ที่ 100) แต่กลับมีถึง 1 ใน 4 ที่ได้งานพื้นๆ ที่ไม่ต้องใช้สติปัญญาหรือความคิดสร้างสรรค์มากมาย
แถมวิธีการที่เทอร์แมนใช้คะแนน IQ เป็นตัวคัดเด็กมาร่วมกลุ่ม ทำให้ตัดคนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ทิ้งไป 2 คน คือ ลุยส์ อัลวาเรซ (Luis Alvarez) และวิลเลียม ชอกลีย์ (William Shockley) เพราะได้คะแนน IQ ไม่ถึงที่กำหนดไว้
ในทางกลับกันกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษากลับไม่มีใครที่ทำผลงานระดับอาจเทียบได้กับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลเลยสักคน ในแวดวงอื่นเช่นทางธุรกิจก็ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้บริหารชั้นสูงของบริษัทชั้นนำ ทั้งบริษัทที่มีอยู่แล้วหรือเปิดขึ้นใหม่เอง คนกลุ่มนี้จึงไม่ได้เป็นตัว “สร้างความมั่งคั่ง” ให้แก่ชาติเลย
หลังศึกษาอยู่นาน 25 ปี เขาสรุปว่า “ระดับความฉลาดและความสำเร็จในชีวิตไม่ได้มีความสัมพันธ์กันโดยตรงสมบูรณ์แบบ” !
แล้วปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้องคืออะไรบ้างกันแน่ ?
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงผลของการเลี้ยงดูต่อ IQ อย่างชัดเจน เด็กที่ได้รับการอุปถัมภ์ไปอยู่ครอบครัวที่พร้อมด้านการศึกษามากกว่า ก็มีโอกาสได้คะแนนสูงกว่าพี่น้องที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมเท่าถึง 9 คะแนนด้วยกัน
เอดเวิร์ด เมลูอิส (Edward Melhuish) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แสดงให้เห็นว่า
หากเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่ได้รับความอบอุ่นและไม่มีผู้ใหญ่คอยพูดคุยและตอบสนองด้วยอย่างเหมาะสม จะแสดงอาการบกพร่องของพัฒนาการเชิงสังคมและอารมณ์ ซึ่งจะไปส่งผลกระทบต่อเนื่องกับทักษะด้านภาษา ซึ่งเป็นตัว “ชี้เป็นชี้ตาย” ของพัฒนาการด้านอื่นๆ แบบโดมิโนต่อไป
ในสหราชอาณาจักรมีโครงการชัวร์สตาร์ต (Sure Start) ส่วนสหรัฐฯ ก็มีโครงการเฮด สตาร์ต (Head Start) ที่พยายามบูรณาการเรื่องการดูแลเด็กในวัยนี้ ทั้งในด้านสุขภาพและการเรียนรู้
แต่เรื่องความสามารถที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงดู ก็อาจยังไม่ใช่คำตอบที่ครบถ้วนสมบูรณ์เสียทีเดียว ยังมีปัจจัยอะไรอีกที่ทำให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิต ?
แองเจลา ดักเวิร์ธ (Angela Duckworth) แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ชี้ว่าปัจจัยเรื่อง grit หรือ “ความมุ่งมั่น” ที่จะทำอะไรได้อย่างยาวนานโดยไม่ล้มเลิกไปก่อน น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง มีการทดลองที่กลุ่มของเธอทำซึ่งทำให้ทราบว่า หากให้แรงจูงใจ เช่น เงินรางวัล (แม้จำนวนไม่มากนัก) ก็ยังช่วยทำให้คนส่วนหนึ่งทำแบบทดสอบวัด IQ ดีขึ้นได้ ผลจากการวัด IQ จึงไม่ใช่เรื่องผลจากสิ่งที่ได้รับมาตามสายเลือดหรือการเลี้ยงดูเท่านั้น แต่ยังแฝงเรื่องแรงจูงใจเฉพาะหน้าอยู่ด้วย
การหาแรงจูงใจที่เหมาะสม จึงช่วยเสริมพัฒนาการของสติปัญญาได้
แต่การที่จะมีความมุ่งมั่นได้ อาจต้องมีปัจจัยที่เป็นตัวเสริมอย่างอื่นอีก มีการทดลองในนิวซีแลนด์ที่คณะนักวิจัยติดตามเด็ก 1,000 คน ตั้งแต่เกิดจนอายุ 32 ปี ทำให้พบว่าเด็กๆ ที่แสดงลักษณะควบคุมตัวเองได้ดีกว่า มักจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีกว่า, มีความมั่นคงทางอารมณ์สูงกว่า และมักจะมีรายได้สูงกว่าอีกด้วย
“ความสามารถในการควบคุมตัวเอง” จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งสอดคล้องกันดีกับแนวคิดเรื่อง EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ของ แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) และงานวิจัยคลาสสิกจากปลายทศวรรษ 1960 ที่เรียกว่า “มาร์ชเมลโลว์เอฟฟกต์ (marshmallow effect)” ของวอลเตอร์ มิสเชล (Walter Mischel) ที่พบว่า
หากนำขนมมาวางไว้หน้าเด็กแล้วบอกว่า หากทนรอได้ 15 นาทีจะได้กินเพิ่มอีกชิ้น เด็กที่อดทนรอได้จะมีอนาคตที่สดใสมากกว่า ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ รอย ทัลลาฮาสซี (Roy Tallahassee) แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตต พบว่าความสามารถในการควบคุมตัวเองในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น อดทนออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะไปช่วยเสริมความอดทนในด้านอื่นๆ จนทำให้ชีวิตโดยรวมดีขึ้นอีกด้วย
เรื่องสำคัญที่ควรตระหนักก็คือ การควบคุมตัวเองแบบนี้ฝึกฝนให้ติดเป็นนิสัยได้ !
ปัจจัยข้อสุดท้ายได้แก่ “กรอบความคิดที่เติบโตได้” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทัศนคติที่เปิดกว้างโดยเฉพาะต่อตัวเอง แครอล ดีเว็ก (Carol Dweck) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ช่วยทำให้นักเรียนหลายพันคนทั่วสหรัฐฯ ทำคะแนนเพิ่มได้ง่ายๆ เพียงแค่สอนพวกเขาให้เข้าใจว่า
ความฉลาดไม่ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว งานหนักทำให้ฉลาดมากขึ้นได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเด็กเหล่านั้นเดิมไม่เชื่อว่าตัวเองจะทำอะไรที่ดีกว่าเดิมหรือทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้ พวกเขาจึง “ไม่กล้าฝัน”
คำตอบเรื่องความสำเร็จจึงซับซ้อน แต่ก็มีส่วนที่เราบังคับได้ปนอยู่ด้วย !