เปิดกระปุก'ยาหอม' สูตรดั้งเดิม

เปิดกระปุก'ยาหอม' สูตรดั้งเดิม

ถ้าพูดถึงยาหอม ก็ต้องนึกถึงกลิ่นสมุนไพรบ้านๆ และนึกคนเฒ่าคนแก่ แต่ใครจะรู้บ้างว่า ยาหอมบางยี่ห้อ สมุนไพรบางตัวราคาแพงมาก ส่วนสรรพคุณการใช้ ก็ถือว่าเป็นตัวช่วยที่ดีในร่างกาย

ยาหอม เป็นยาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน แม้ปัจจุบันสังคมไทยจะเปลี่ยนไปเยอะ การแพทย์แผนใหม่รักษาโรคให้หายได้อย่างรวดเร็ว จึงได้รับความนิยมมาก ทำให้ยาไทยแทบจะทุกชนิดถูกทอดทิ้ง

แต่สำหรับยาหอม แม้จะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุรวมไปถึงชาวต่างชาติในย่านเอเชีย

ดูจากจำนวนตำรับยาหอมที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารยานั้นมีมากกว่า 488 ตำรับ ยังไม่นับรวมยาหอมที่ผลิตโดยร้านขายยาแผนโบราณหรือแพทย์แผนไทยที่มีอีกมาก

ภญ.ดร.สุภาภรณ์  ปิติพร เภสัชกรจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เจ้าตำรับสมุนไพร เคยกล่าวว่า  ยาหอมเป็นตัวปรับพลังชีวิต ทำให้ธาตุในร่างกายที่กำเริบหรือหย่อนเกินไปเข้าสู่ภาวะปกติ ยาหอมช่วยทำให้ธาตุต่าง ๆ ทำงานอย่างสมดุลก่อนที่จะสายเกินไป 

"ในทางการแพทย์แผนไทย เลือดลมเป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตอยู่ เมื่อใดที่เลือดลมไม่เดิน นั่นคือไม่มีชีวิต การตั้งตำรับยาหอมเป็นศิลปะในการเลือกรับ ปรับใช้ และปรุงแต่งสมุนไพรหอมที่มีรสร้อน และรสสุขุมของคนไทยมาใช้ปรับแก้อาการที่เกิดจากธาตุลมผิดปกติ"

ยาหอมเป็นสัญลักษณ์แทนนิสัยของคนไทยที่มีความเชี่ยวชาญในการปรุง ผสม พัฒนา ต่อยอด และเลือกรับปรับใช้สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวและนำมาใช้ประโยชน์ ยาหอมจึงเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่คนในอดีตสร้างไว้

  161458546739

สรรพคุณยาหอม

ในแง่สรรพคุณของยาหอมไทย มีรายงานการวิจัยจาก รศ.ดร.ภญ.วิสุตา สุวิทยาวัฒน์ ดังนี้

-ฤทธิ์ต่อหัวใจ โดยยาหอมสามารถเพิ่มความแรงของการบีบตัวของหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสกัดยาหอมอินทจักร

-ฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิต โดยเฉพาะในขนาด 4 กรัม ผงยาหอม/กิโลกรัม มีฤทธิ์เพิ่มความดันเลือด systolic, diastolic และความดันเลือดเฉลี่ย โดยมีผลความดันเลือด systolic มากกว่า ความดันเลือด diastolic และความดันเลือดเฉลี่ย

-ฤทธิ์ต่ออัตราการไหลเวียนในหลอดเลือดสมอง พบว่า หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น

 -ฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง หรือส่งผลต่อการนอนหลับได้ โดยสารสกัดยาหอมของเอกชน และยาหอมอินทจักรมีฤทธิ์กดต่อระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อให้สัตว์ทดลองได้รับเฉพาะแต่สารสกัด แต่ถ้าให้สารสกัดยาหอม ทั้ง 2 ชนิดนี้ร่วมกับ pentobarbital ซึ่งเป็นยานอนหลับ จะพบว่าสารสกัดทั้งสองชนิดทำให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยานอนหลับยาวนานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

-ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร  สารสกัดยาหอมนวโกฐจะมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร และมีผลยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กด้วย

 -ฤทธิ์แก้อาการคลื่นไส้หรืออาเจียน สารสกัดยาหอมอินทจักรสามารถต้านการอาเจียนได้

                161458556177

ตำรับยาหอมภูลประสิทธิ์

คมสัน ทินกร ณ อยุธยา ทายาทราชสกุลทินกร ผู้ผลิตยาหอมภูลประสิทธิ์ เล่าถึงยาหอมต้นตำรับไว้ว่า เริ่มมีมาตั้งแต่ครั้งวังทินกร ประมาณช่วงรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 เรียกยานัตถุ์หอมภูลประสิทธิ์ ซึ่งมีชื่อเสียงจนถึงปัจจุบัน โดยภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจนปัจจุบันนั้นยาหอมสามารถใช้รักษาโรค และวินิจฉัยโรคที่เกิดจากลม

โดยมีตัวยารักษาตามลักษณะมูลเหตุของการเกิดโรค อาทิ

-ลมกองละเอียด/ลมกองหยาบ แบบไม่มีไข้เป็นอาการข้างเคียง ใช้ยาหอมภูลประสิทธิ์

-ลมกองละเอียดแบบมีไข้เป็นอาการข้างเคียง ใช้ยาหอมมหาสีสว่าง

-ลมกองหยาบใช้ยาหอมอากาศบริรักษ์ ลมแน่นเข้าที่หน้าอก ใช้ยาหอมอุดมนพรัตน์

-ลมจุกในลำคอใช้ยาหอมสังข์ทิพย์

-ลมเข้าตามเส้นแนวไหล่ถึงศรีษะใช้ยาหอมอดุลสำราญ

-ลมตีขึ้นเบื้องสูง ใช้ยาหอมเทพจิตรารมย์

-ลมกระทำต่อศีรษะให้ปวดใช้ยาหอมเศียรสมุทร

-ลมที่กระทำให้มิหลับใช้ยาหอมกล่อมอารมณ์ ลมปลายไข้ใช้ยาหอมมหาเนาวรัตน์ เป็นต้น

161458902348

ยาหอมไทยนั้นมีส่วนผสมของสมุนไพรนานาชนิด และด้วยสรรพคุณของสมุนไพรดังกล่าว ส่งผลต่อสรรพคุณของยาหอมในตัวมันเอง  ในปัจจุบันวัตถุดิบของสมุนไพรบางชนิดหายากขึ้นทุกที อาทิ มะลิซ้อน จากสุพรรณบุรี บัวหลวงจากนครสวรรค์ มะลิลาจากนครปฐม  บุนนาคจากพิษณุโลก ใบเนียมจากจันทบุรี เนื่องเพราะภาวะแห้งแล้ง คนรุ่นต่อมาไม่ทำต่อ อีกทั้งแปลงที่ใช้ทำยาไม่มีการพ่นยาฆ่าแมลง บำรุงรักษายาก

ในขณะที่การเก็บวัตถุดิบบางชนิดต้องมีความพิถีพิถัน มีความรู้เรื่องการปรุงยา เช่น ถ้าใช้ดอกไม้หอมจากต้นไม้ยืนต้น อย่างน้อยต้นต้องมีอายุเกินสิบปีขึ้นไป ดอกมะลิซ้อนต้องเก็บตอนเช้ามืดเท่านั้น สมุนไพรบางอย่างต้องผ่านการประสะฆ่าฤทธิ์ก่อนนำไปใช้ เช่น หัวบุก/รากระย่อม กวาวเครือขาว/แดง เป็นต้น

ยาหอมหมอหวาน

ส่วนยาหอมหมอหวาน เป็นอีกตำรับที่สืบทอดมาจากหมอหวาน ม่วงรอด แพทย์แผนโบราณ ซึ่งสืบทอดตำรับยามากว่า 4 ชั่วอายุคน ภาสินี ญาโณทัย ทายาทของหมอหวาน เคยเล่าว่า ยาหอมถือเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน มีคุณค่าอย่างแท้จริง โดยตำรับยาหมอหวานในปัจจุบันมี 4 ตำรับ คือ

-ยาหอมสุรามฤทธิ์ มีสรรพคุณ แก้อาการใจสั่น เป็นลม บำรุงหัวใจ มีตัวยาสำคัญ คือ โสมเกาหลี พิมเสนเกล็ด อำพันทอง หญ้าฝรั่น ชะมดเช็ด และคุลิก่า

161458883263 -ยาหอมอินทรโอสถ มีสรรพคุณ แก้เหนื่อย อ่อนเพลีย แก้ไอ แก้เสมหะ มีตัวยาสำคัญ คือ รากแฝกหอม อบเชยญวณ เห็ดนมเสือ หญ้าฝรั่น ชะมดเช็ด และโคโรค

-ยาหอมประจักร์ มีสรรพคุณ แก้จุกเสียด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีตัวยาสำคัญ คือ โสมเกาหลี พิมเสนเกล็ด ชะมดเช็ด หญ้าฝรั่น และเหง้าขิงแห้ง

-ยาหอมสว่างภพ มีสรรพคุณ แก้อาการวิงเวียน หน้ามืด แก้ไข้ สะท้านร้อนสะท้านหนาว มีตัวยาสำคัญ คือ ใบพิมเสน พิมเสนเกล็ด หญ้าฝรั่น โสมเกาหลี และชะมดเช็ด

ในปัจจุบัน ตัวยาสำคัญบางชนิดหาได้ยากแล้ว เช่น คุลิก่า เม็ดปรวดในตัวค่าง มีฤทธิ์ช่วยขับเสลดหางวัวในคนไข้หนักใกล้สิ้นใจ ราคาแพงมาก ,ชะมดเช็ด สารที่ขับจากตัวชะมดได้จากการใช้ไม่พันสำลีเช็ดที่ต่ออมกลิ่นรอบก้นของชะมดเช็ด ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีคุณสมบัติรักษากลิ่นหอม บำรุงหัวใจ และชูกำลัง ,อำพันทอง ของเหลวที่ขับจากท้องปลาวาฬตัวผู้หลังการผสมพันธุ์ ช่วยบำรุงกำลัง แก้เป็นลม ขับเสมหะ และเห็ดนมเสือ เห็ดที่เกิดจากน้ำนมเสือโคร่งแม่ลูกอ่อนที่คัดไหลลงสู่พื้นดิน เก็บได้จากป่าดิบเขา มีสรรพคุณแก้อาการเหนื่อยเพลีย แก้ไอ และบำรุงกำลัง