เปเปอร์(paper)เจ้าหญิงนิทรา : ผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ที่เกือบถูกลืม
ปรากฏการณประหลาดที่ “เปเปอร์ (paper)” หรือ ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ บางชิ้นกว่าจะเป็นที่น่าสนใจของผู้คน ก็ต้องผ่านเวลานานนับสิบปี หรือบางฉบับอาจนานถึง 100 ปี
เมื่อเอ่ยคำว่า “เจ้าหญิงนิทรา” คนทั่วไปก็อาจจะนึกถึงนิทานเกี่ยวกับสาวน้อยที่โดนสาปให้นอนหลับไป จนกว่าจะมีเจ้าชายขี่ม้าขาวมาจุมพิตจึงจะตื่นขึ้นอีกครั้ง
ในทางวิทยาศาสตร์มีผู้นำชื่อนี้ไปใช้เรียกปรากฏการณ์แปลกประหลาดที่ “เปเปอร์ (paper)” หรือ ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งบางชิ้นออกจะแปลกประหลาด คือ กว่าจะเป็นที่น่าสนใจของผู้คน ก็ต้องผ่านเวลานานนับสิบๆ ปีหรือบางฉบับอาจนานถึง 100 ปีเลยทีเดียว
ชวนให้สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมตอนตีพิมพ์ผลงานใหม่ๆ จึงไม่มีผู้สนใจนัก แต่กลับมาสนใจกันอีกครั้งในภายหลัง ?
งานวิจัยชิ้นนี้มาจากทีมวิจัยด้านสารสนเทศของมหาวิทยาลัยอินเดียนา และตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences หรือที่คนในวงการมักเรียกย่อ ๆ ว่า PNAS ช่วงเดือนพฤษภาคม 2015
งานวิจัยนี้ใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่คือ ผลงานตีพิมพ์ 22 ล้านหัวเรื่องที่เผยแพร่ในช่วงกว่าหนึ่งศตวรรษ เรียกว่าใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากหรือ “บิ๊กดาต้า (big data)” ได้อย่างน่าทึ่ง และสิ่งที่ทีมงานค้นพบก็คือ “ปรากฏการณ์เจ้าหญิงนิทรา” เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยจนเป็นเรื่องปกติสามัญในวงการทีเดียว !
งานวิจัยนี้ศึกษาประวัติของเปเปอร์พวกนี้ตั้งแต่เริ่มตีพิมพ์ จนกระทั่งช่วงที่มีคนอื่นมาเขียนอ้างอิงถึงในเปเปอร์อื่นๆ ในยุคหลังมากที่สุด ผลลัพธ์ที่ได้ก็มีตั้งแต่บางเปเปอร์ก็ฮ็อตตั้งแต่แรกตีพิมพ์เลย แต่บ้างก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ปกติการอ้างอิงถึง (citation) จะเกิดขึ้นมากในช่วงแรก หลังจากนั้นก็จะลดลงเรื่อยๆ โดยมีข้อสังเกตจากงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งก่อนหน้านี้ว่า การอ้างอิงในช่วง 5 ปีแรกมักจะเป็นตัวกำหนดว่า จะมีการอ้างอิงกันมากน้อยเพียงใดต่อไป
ที่น่าสนใจ ก็คือ มีหลายเปเปอร์ทีเดียวที่ใช้เวลานานกว่าจะออกดอกผล โดยช่วงตีพิมพ์ออกมาใหม่ๆ นั้นกลับไม่ค่อยจะมีใครมองเห็นความสำคัญสักเท่าไหร่
จนใน ค.ศ.2004 นักไบบลิโอเมทริกส์ (bibliometrics) หรือคนที่ศึกษาการอ้างอิงถึงกันในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ชื่อ แอนโธนี ฟาน แรน (Anthony van Raan) จากมหาวิทยาลัยไลเดนในประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งชื่อปรากฏการณ์นี้ว่า “เจ้าหญิงนิทรา”
ชื่อนี้จึงกลายมาเป็นคำเฉพาะที่ใช้เรียกปรากฏการณ์แบบนี้ไปในที่สุด
การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสถิติอยู่มาก จึงมีสมการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีค่าตัวแปรและค่าคงที่ต่างๆ เช่น ค่าสัมประสิทธิ์ความงาม (beauty coefficient) หรือที่ใช้อักษรย่อเป็น B โดยค่าของมันขึ้นกับจำนวนเปเปอร์อื่นที่อ้างอิงถึงเปเปอร์นั้น และระยะเวลาว่ายาวนานเท่าใดจึงมีการอ้างอิงเกิดขึ้น โดยอัตราการอ้างอิงที่เพิ่มขึ้นตามเวลามีค่าได้ตั้งแต่ 0 (ไม่มีการอ้างอิงเพิ่ม) ไปจนถึงค่า 10,000 หากมีการอ้างอิงถึงให้หลังนานถึง 100 ปี
ปรากฏว่า เปเปอร์ชื่อ Concerning Adsorption in Solutions ของ H. Freundlich ทำสถิติค่า B สูงสุด มีค่าสูงถึง 11,600 เพราะตีพิมพ์ในปี 1906 แต่กว่าจะถึง “ปีที่ตื่น” ก็ปาเข้าไปปี 2002 นู่น
แต่นี่ก็ยังไม่ใช่เปเปอร์ที่นอนหลับไปนานสุด
รายที่สุดๆ ไปเลยที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ 1 ใน 22 ล้านหัวเรื่องในคราวนี้คือผลงานชื่อ On Lines and Planes of Closest Fit to Systems of Points in Space ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Philosophical Magazine ในปี 1901 และมาฟื้นเอาในปี 2002 รวมแล้วก็ 101 ปี !
ไม่พวกนักวิทยาศาสตร์โนเนมเท่านั้นที่ผลิตเปเปอร์เจ้าหญิงนิทรา เพราะแม้แต่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์เอกและบุรุษแห่งสหัสวรรษผู้โด่งดัง ก็เคยมีเปเปอร์ทำนองนี้ร่วมกับเพื่อนฝูงคือ B. Podolsky และ N. Rosen เปเปอร์นี้ออกมาในปี 1935 ในชื่อหัวข้อ Can Quantum-Mechanical Description of Physical Reality be Considered Complete ?
เปเปอร์นี้ของไอน์สไตน์สลบไสลไปถึงเกือบ 60 ปี เพราะกว่าจะมีคนนำมาอ้างอิงถึงอีกครั้งก็คือ ค.ศ. 1994 นู่น !
โดยรวมๆ แล้วงานวิจัยแบบเจ้าหญิงนิทราแบบนี้จะมีอยู่ไม่เกิน 6.5% ของทั้งหมด ถือว่าไม่น้อยทีเดียว ในหลายๆ กรณีพบว่าการกระตุ้นให้ตื่นเกิดจากการประยุกต์ใช้ความรู้จากงานวิจัยนั้นในสาขาวิชาอื่น เช่น การนำสถิติไปใช้ในทางชีววิทยาก็ทำให้เปเปอร์บางเรื่องตื่นขึ้นมาได้ เป็นต้น
อ่านงานวิจัยแบบนี้แล้วก็ชวนให้คิดถึงงานวิจัยในบ้านเรานะครับ
งานวิจัยบ้านเราในยุคหลัง เริ่มมีการให้น้ำหนักกับตัววัดการอ้างอิงที่เรียกว่า อิมแพ็คแฟค เตอร์ (impact factor, IF) กันมากขึ้น โดย IF นี้ให้กับวารสารว่ามีคนอ้างอิงกันมากน้อย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีคนนิยมอ่านและส่งไปที่วารสารเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด
อันที่จริงในต่างประเทศเค้ามีตัวชี้วัดแบบนี้เยอะมากนะครับ ไม่ทั้ง C-index, G-index, H-index และ S-index ฯลฯ แต่ละดัชนีหรือตัวชี้วัดก็มีรายละเอียดวิธีการได้มาซึ่งตัวเลขแตกต่างกันไปเล็กๆ น้อยๆ ใครสนใจเรื่องพวกนี้ก็ค้นหาข้อมูลเองได้ไม่ยาก
แต่ที่อยากจะชวนตั้งข้อสังเกตก็คือ เปเปอร์ดีๆ บางทีก็ได้ IF ไม่ดี เพราะวารสารในวงการนั้นๆ มีคนอ่านกันน้อย เพราะเป็นสาขาวิชาที่มีคนจำนวนน้อยกว่าสาขาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์บางสาขาหรือคณิตศาสตร์ หรือหากงานคล้ายๆ กันพวกนักวิจัยในประเทศพัฒนาแล้ว ก็มักจะไม่เลือกอ้างอิงผลงานจากทางเอเชียมากเท่ากับจากสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปด้วยกัน เป็นต้น
ปัญหาของปรากฏการณ์เจ้าหญิงนิทราจึงอาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มาเพิ่มความซับซ้อนให้กับระบบการประเมินผลงานวิจัยในบ้านเรา เพราะงานที่ “ล้ำสมัย” ไปมาก โดยเฉพาะงานเชิงทฤษฎีนั้น อาจจะต้องมีคนในอีกหลายสิบปีหลังมาจุมพิตให้ตื่น
ในขณะที่คนร่วมรุ่นต่างเมินด้วยความไม่เข้าใจในความสำคัญ !