AI ตัวช่วยคนแต่งงานช้า 'อายุมาก' มีลูกได้ง่าย
ปัจจุบันAI เป็นตัวช่วยเลือกตัวอ่อนช่วยให้คนที่ "อายุมาก" แต่งงานช้า มีลูกได้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ร่วมกับการตรวจ NGS เพิ่มอัตราการตั้งครรภ์สูงถึง 73%
สถานการณ์ประชากรในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็น 1 ใน 23 ประเทศ ที่มีงานวิจัยระบุว่า อีก 80 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรจะลดลงจาก 71 ล้านคน เหลือเพียง 35 ล้านคน สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ค่านิยมอยู่เป็นโสด ผู้หญิงมีความสามารถและการศึกษาที่สูงขึ้น ต้องการสร้างฐานะ และชะลอการสร้างครอบครัว
ข้อมูลจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) พบว่า สถิติอัตราการเจริญพันธุ์รวม ของประเทศไทยลดลงเหลือเพียง 1.5 คน ซึ่งเป็นอัตราเทียบเคียงกับประเทศญี่ปุ่น และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ซึ่งอัตราที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 2.1 คน ส่งผลให้อนาคตประเทศไทยจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานและก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวจากการที่กลุ่มคนวัยทำงานตัดสินใจมีบุตรในช่วงอายุที่มากขึ้น ประกอบกับความเครียดจากการทำงาน ทำให้คู่สมรสหลายคู่หันมาพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์ หากไม่ทำอะไรอีก 10 ปีข้างหน้า อัตราการเจริญพันธุ์อาจจะเหลือเพียง 1.3 คน
“รศ.นพ.พิทักษ์ เลาห์เกริกเกียรติ” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศิริราชและประธานกรรมการบริหารเจเนซิส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ (GFC) กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการมีบุตรยากของคนไทยเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากรอความพร้อมด้านการเงิน หน้าที่การงาน ส่งผลให้แต่งงานช้าลง โดยความต้องการมีบุตรอายุเฉลี่ยที่ 35-40 ปี ซึ่ง 85% ของคู่สมรสจะสามารถมีบุตรได้ภายใน 1 ปีหลังการแต่งงาน และ 95% ของคู่สมรสจะมีบุตรได้ภายใน 2 ปีขึ้นไป ความสมบูรณ์ของไข่จะมีน้อยลงคุณภาพไข่ไม่ดี
“ส่วนผู้หญิงที่อายุเกิน 48 ปี ไม่ควรท้องด้วยวิธีธรรมชาติ เนื่องจากเป็นช่วงที่สุขภาพและความพร้อมของร่างกายไม่สมบูรณ์เต็มที่เหมือนช่วงวัยหนุ่มสาว ส่งผลให้เด็กที่เกิดมีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมได้ ดังนั้น การนำเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะวิธีทำ "เด็กหลอดแก้ว" และตรวจความสมบูรณ์ของโครโมโซม Next Generation Sequencing (NGS)”
“ผู้หญิงที่อายุ 30 ขึ้นไปจำนวนไข่และคุณภาพไม่ค่อยดี กระทั่ง 35 ปี ลดลงอย่างเด่นชัด รวมถึงความผิดปกติทางด้านพันธุกรรม และหลายโรค ที่ทำให้คู่สมรสไม่ตั้งครรภ์ มีบุตรยาก แท้งบุตร หรือภาวะดาวน์ซินโดรม รวมถึงเมื่ออายุมากจะมีโรคต่างๆ เช่น ซีส ทำให้มีผลต่อการมีบุตร ที่ผ่านมา พบว่าหลายคนอายุ 32-33 ปี แต่มาพบแพทย์ด้วยปัญหาไม่มีประจำเดือน อยากมีลูก แต่ฮอร์โมนที่ทำให้มีไข่ไม่มีแล้ว ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุทั้งสิ่งแวดล้อม สารเคมี อาหาร อาจส่งผลต่อสุขภาวะทางร่างกายและรังไข่” รศ.นพ.พิทักษ์ กล่าว
นำมาซึ่งการก่อตั้ง GFC เพื่อแก้ปัญหาการเพิ่มประชากรของไทย สร้างเด็กที่มีคุณภาพ เติมเต็มชีวิตของครอบครัว โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญทั้งเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ดูแลผู้มีบุตรยาก นักวิทยาศาสตร์ สูติแพทย์และนักธุรกิจ รวมถึงพยาบาล เพื่อเติมเต็มความฝันของผู้มีบุตรยากมากกว่า 4 ปี ปัจจุบัน อัตราความสำเร็จอยู่ที่ 70% โดยเป็นลูกค้าชาวไทย 90% และกลุ่มสามีหรือภรรยาเป็นคนไทยกับคนต่างชาติ 10% ในปี 2562 การให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศราว 4,500 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ปี 62 ไทยโกยรายได้รักษาผู้มีบุตรยากกว่า 4,500 ล้านบาท
- เทคโนโลยี AI ตัวช่วยผู้ "มีบุตรยาก"
ด้าน “พญ.ปรวัน ตั้งธรรม” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ของ GFC และผู้ก่อตั้งเพจ มีลูกยาก ปรึกษาหมอมิ้งค์ กล่าวเสริมว่า คนที่เข้ามาปรึกษามีบุตรยากมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย สำหรับผู้หญิง ปัญหาจะเป็นไปตามกายภาพตั้งแต่รังไข่ ท่อนำไข่ ไข่น้อยตามอายุที่เพิ่มขึ้น ท่อรังไข่อุดตัน เนื้องอกในมดลูก ฯลฯ
ส่วนผู้ชาย เป็นปัญหาน้ำเชื้อเป็นหลัก คือ น้ำเชื้อน้อยลง น้ำเชื้อไม่สมบูรณ์ ฯลฯ ส่วนใหญ่แนะนำให้มาพบแพทย์ทั้งสองคนเพื่อประเมินทั้งสองฝ่าย โดยตรวจภายในผู้หญิง และตรวจเลือด ส่วนผู้ชายตรวจน้ำเชื้อจะสามารถรู้ข้อมูลทั้งหมด พอได้ข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนร่วมกันถึงแนวทางรักษาเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้มากที่สุด
ทั้งนี้ เทคโนโลยี มาตรฐานในแล็ปของ GFC มีมาตรฐาน แต่การเพิ่มโอกาสสำเร็จ คือ การหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย ปัจจุบันมีเทคโนโลยีชื่อ Eeva ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเลือกตัวอ่อนใหม่ล่าสุดที่ GFC Clinic นำมาใช้เป็นแห่งแรก ซึ่งมีใช้ในต่างประเทศมาแล้วกว่า 5 ปี เทคโนโลยีดังกล่าว สามารถเลือกตัวอ่อนได้มีประสิทธิภาพและแม่นยำ เนื่องจากมีการนำระบบ AI มาใช้ในการตรวจจับการเติบโตของตัวอ่อน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อคัดเลือกตัวอ่อนที่ดีที่สุดในการนำมาฝังตัว
ซึ่งเมื่อทำ "เด็กหลอดแก้ว" ร่วมกับการ "ตรวจ NGS" จะสามารถเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์สูงถึง 73% เมื่อเทียบกับมาตรฐานที่อื่นซึ่งมีอัตราตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 30-50 % สำหรับจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ การเป็นตู้เลี้ยงตัวอ่อนแยกของแต่ละเคส โดยตู้เลี้ยง 1 ตู้สำหรับ1 คนไข้ ไม่ใส่รวมปะปนกัน เพื่อลดการรบกวน พร้อมควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสม เพราะเราให้ความสำคัญกับความสำเร็จของคนไข้เป็นอันดับแรก
- อยากฝากไข่ ต้องทำอย่างไร
นอกจากนี้ ยังเปิดกว้างไปถึงผู้หญิงซึ่งเป็นสาวโสดอายุยี่สิบปีปลายๆ ถึงสามสิบ ซึ่งมีแพลนที่จะทำการ "ฝากไข่" สามารถเข้ามาปรึกษาได้ หรือบางคู่ที่แต่งงานแต่ไม่พร้อมมีบุตร สามารถฝากไข่ และตัวอ่อนได้เช่นกัน
พญ.ปรวัน กล่าวต่อไปว่า ขั้นตอนการฝากไข่ไม่ยุ่งยากเท่าการทำ "เด็กหลอดแก้ว" โดยสามารถเข้ามาปรึกษาถึงกระบวนการตั้งแต่มีประจำเดือนจะเริ่มฉีดยากระตุ้นไข่ประมาณ 10-12 วัน และเก็บไข่ในห้องผ่าตัดเล็กเพื่อดูดไข่ออกมาจากช่องท้อง ใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที เพื่อแช่แข็งเก็บไว้ในอนาคตโดยตามมาตรฐานสามารถอยู่ได้ประมาณ 5 ปี หากนานกว่านั้นสามารถเก็บได้แต่คุณภาพอาจจะเสื่อมลง เมื่อจะเอาออกมาใช่เมื่อไหร่ก็ได้โดยแพกเกจปีแรกประมาณ 1.5 แสนบาท หลังจากนั้น เสียค่าฝากเป็นรายปี
“ตามหลักการ "ฝากไข่" ยิ่งเร็วยิ่งดี แต่หากเจอบ่อยที่สุด จะอยู่ในช่วง 30-35 ปี พอฝากไข่เรียบร้อยหากอยากจะมีลูก อันดับแรกต้องแต่งงานก่อน และต้องมีทะเบียนสมรสถึงจะสามารถละลายไข่ออกมาผสมได้ เมื่อเอกสารเรียบร้อยต้องมาแจ้งทางคลินิกเพื่อละลายไข่ออกมาและให้สามีเก็บน้ำเชื้อ เข้าสู่กระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว ปัจจุบัน คนนิยมมาฝากเยอะขึ้นเพราะเริ่มเข้าใจ”
ปัจจุบัน กฎหมายไทยยังบังคับอยู่ว่าจะทำ "เด็กหลอดแก้ว" ด้วยการละลายไข่ ต้องมีการจดทะเบียนสมรสแล้วจึงจะใช้ได้ ซึ่งกฏหมายอื่นๆ ก็มีอีกหลายอันตั้งแต่กฎหมายเกี่ยวข้องกับบริจาคไข่ อุ้มบุญ ตรวจโครโมโซมตัวอ่อน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีล็อคไว้หลายอันเพราะมีช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีกรอบกฎระเบียบบังคับ ทำให้มีปัญหาอุ้มบุญผิดกฎหมาย พอปัจจุบัน มีกฎหมายต่างๆ เข้ามาทำให้มีกฎระเบียบมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้บีบรัดเกินไปจนทำอะไรไม่สะดวก เพราะยังอยู่บนพื้นฐานในหลักการที่ถูกต้อง
- ไม่อยากมีลูก ทำหมันได้หรือไม่
สำหรับ คำถามที่ว่าหากไม่อยากมีลูก สามารถไปทำหมันได้หรือไม่ พญ.ปรวัน อธิบายว่า ไม่แนะนำให้อยู่ดีๆ ไปทำหมันเพราะวันดีคืนดีอาจจะเปลี่ยนใจอยากมีลูก เพราะการแก้หมันมีความยาก หากไม่พร้อมมีลูก หรือไม่รู้จะพร้อมเมื่อไหร่ แนะนำให้คุมกำเนิดไปก่อน ซึ่ง "วิธีคุมกำเนิด" มีเยอะ ใช้วิธีนี้ดีกว่า ส่วนใหญ่แพทย์จะไม่ยอมทำให้เพราะต้องดูก่อนว่ามีลูกแล้วกี่คน สมควรทำหมันหรือไม่ โดยอายุที่ทำให้ส่วนใหญ่คือ 30 ปีขึ้นไปและมีลูกประมาณ 2 คนขึ้นไป ดูแล้วว่ามีลูกเพียงพอ ไม่มีถูกผิดแต่ต้องดูให้เหมาะสม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สูติแพทย์เผยอัตราเจริญพันธุ์รวมของไทยวิกฤติ