แพทย์แนะไม่ให้ใช้'กัญชา' ชะลอความเสื่อมของไต
ถึงแม้ว่า การใช้"กัญชา" หรือ ยาที่สกัดจากกัญชานั้น จะไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของไต แต่ประโยชน์ที่ได้ไม่ชัดเจน ลองอ่านบทความจากมุมมองแพทย์...
กัญชาในปัจจุบันได้รับความสนใจจากประชาชนและนักวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ประกาศพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ พ.ศ. 2562 ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ซึ่งอนุญาตให้กัญชาสามารถนำมาใช้ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เช่นเดียวกับสมุนไพรอื่นๆ
กัญชามีทั้งส่วนที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และโทษหากใช้อย่างไม่เหมาะสม
โดยบทความนี้เขียนขึ้นจากการรวบรวมหลักฐานทางการวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับสารเคมีต่าง ๆ ซึ่งพบจากการสกัดกัญชา ผลต่อการเปลี่ยนแปลงของไต และ โรคไตที่พบเกี่ยวข้องกับการใช้กัญชา ซึ่งสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้ตระหนักและตั้งใจเผยแพร่ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและผู้ป่วยโรคไตได้พึงระวังและทราบข้อมูลความรู้ได้อย่างถูกต้องและใช้อย่างถูกวิธี
ในร่างกายของมนุษย์ มีตัวรับสารเคมีซึ่งลักษณะโครงสร้างคล้ายสารออกฤธิ์จากกัญชา เรียกว่า ตัวรับสารคานาบินอยด์ ตัวรับสารเหล่านี้พบมากในสมอง เส้นประสาท ทำให้กัญชาเมื่อได้รับเข้าไป มีฤทธิ์เด่นในการกดประสาท แต่ในขณะเดียวกันก็พบในอวัยวะอื่น ๆ รวมถึง ไต ดังนั้นการได้รับสารเคมีจากกัญชา ย่อมอาจส่งผลถึงไตได้
สารเคมีจากกัญชาที่ถูกนำมาใช้ในการศึกษาและสร้างเป็นยา มี 2 สารหลักคือ 1) Delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) และ 2) Cannabidiol (CBD) โดย THC เป็นสารเคมีหลักในกัญชาที่ทำให้เกิดการเสพติด มีฤทธิ์ทั้งกดการทำงานและหลอนประสาท แก้ปวด อีกทั้งยังกระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ ความดันโลหิตสูง ชีพจรเต้นเร็ว
สาร THC สามารถก่อให้เกิดผังพืดในไตของหนูทดลอง นำมาซึ่งการทำงานของไตลดลงได้ อีกทั้งยังพบว่า ในโรคไตจากเบาหวาน หรือ โรคไตอักเสบต่าง ๆ ยังพบการสร้างตัวรับสารคานาบินอยด์สำหรับ THC เพิ่มขึ้น
ดังนั้นจากข้อมูลดังกล่าว การได้รับTHC มีแนวโน้มที่จะเป็นผลเสียต่อการทำงานของไตในระดับหนูทดลอง ในทางตรงกันข้าม CBD ซึ่งพบในกัญชาเช่นเดียวกันนั้น มีฤทธิ์กดประสาท ทำให้ง่วง และเชื่อว่าสามารถลดการอักเสบได้ เนื่องจากความจำเพาะในการจับตัวรับคานาบินอยด์ของ CBD แตกต่างจาก THC
อย่างไรก็ตาม การศึกษาในสัตว์ทดลองจนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบประสิทธิภาพในการชะลอความเสื่อมของเนื้อไตจากสารเคมีนี้เช่นกัน
ข้อมูลระดับประชากรในประเทศสหรัฐอเมริกา ติดตามผู้ใช้กัญชา และยาที่ผลิตจากสารสกัดกัญชาเป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่าการใช้กัญชา และ กัญชาทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อผ่อนคลาย เพื่อเป็นยารักษาอาการปวด ไม่สัมพันธ์กับการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและไม่เพิ่มโอกาสการเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง
ถึงแม้ว่า การใช้กัญชา หรือ ยาที่สกัดจากกัญชานั้น จะไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของไต แต่ประโยชน์ที่ได้ไม่ชัดเจน แพทย์โรคไตไม่แนะนำให้ใช้กัญชา เพื่อหวังผลชะลอความเสื่อมของโรคไต
อีกทั้งหากผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ ควรมีการติดตามสุขภาพอย่างใกล้ชิด เพราะเช่นเดียวกับสารเคมีที่มีฤทธิ์แก้ปวด กดประสาทอื่น ๆ เช่น มอร์ฟีน ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องจะเพิ่มโอกาสเกิดพิษจากยา ได้รับยาเกินขนาด ง่วงซึมมากกว่าปกติ และเกิดอัตรกิริยากับยารักษาโรคประจำตัวอื่น ๆ ได้
สำหรับน้ำมันกัญชาซึ่งไม่มีการระบุส่วนผสมที่ชัดเจนแพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้ ซึ่งพบว่ามีการรายงานว่า ภายหลังรับประทานแล้วพบภาวะตับวาย ไตวายเพิ่มขึ้น จากสาเหตที่ไม่แน่ชัด
บทสรุปเรื่องนี้
กัญชาและสารประกอบกัญชามีกลไกการออกฤทธิ์ทั้งต่อระบบประสาทและไต ปัจจุบันมีการศึกษาผลของสารเคมีจากกัญชาต่อการทำงานของไตพบว่ามีความเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการอักเสบและพังผืดในไต โดยยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด กัญชาทางการแพทย์ยังไม่มีที่ใช้ในการรักษาโรคไต ควรต้องศึกษาเพิ่มเติม
ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่า การใช้กัญชาสัมพันธ์กับการเกิดโรคไตวายเรื้อรัง แต่กลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ควรเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากการใช้กัญชา
โดยเฉพาะฤทธิ์ต่อระบบประสาทที่มากเกิน การใช้กัญชาทางการแพทย์ ควรมีระบบการติดตามความปลอดภัยของยา (Pharmacovigilance) ที่ดี เพื่อค้นหาประโยชน์และผลข้างเคียงจากการใช้ยาในอนาคต
"""""""""""""""""""""""""""""""
ข้อมูลจาก พญ.ขนิษฐา เธียรกานนท์และรศ.นพ. ณัฐวุฒิ โตวนำชัย หน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย