'สงกรานต์2564' วันครอบครัว : พ่อแม่ คือ ครูคนแรกของลูก

'สงกรานต์2564' วันครอบครัว : พ่อแม่ คือ ครูคนแรกของลูก

"สงกรานต์2564" 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย วันครอบครัวและวันผู้สูงอายุ หวนนึกถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว

เนื่องในวันสงกรานต์ "วันที่ 13 เมษายน 2564" เป็นวันขึ้ันปีใหม่ไทย นอกจากทำบุญ สรงน้ำพระ ภายในครอบครัว เพื่อให้ห่างไกลจากไวรัสโควิด วันนี้ยังเป็น"วันครอบครัว" จึงอยากชวนหวนนึกถึง วันเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัว

ครูคนแรกๆ ของเราก็คือ พ่อแม่ เป็นทั้งพ่อพิมพ์และแม่พิมพ์

ซึ่งบางคนดำเนินตามรอยพ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ เกือบทุกอย่าง เพราะอยู่ด้วยกันทุกวัน และอาจจะอยู่ร่วมกันนานกว่าคู่ชีวิตซะอีก

เมื่อนึกถึงคำว่า ครูคนแรก ผู้เขียนยังจำวันที่ หมอมานิต แสนมณีชัย สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลหัวเฉียว และคุณหมอจิตอาสา โครงการจิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์ เสถียรธรรมสถาน บรรยายได้ดี เพราะรู้สึกประทับใจกับความใส่ใจในการหาความรู้มาถ่ายทอดให้บรรดาแม่ๆ ที่ตั้งครรภ์

จำได้ว่า ในวันนั้นแทบจะไม่มีคุณแม่ตั้งครรภ์คนใดลุกจากที่นั่งระหว่างคุณหมอบรรยาย เพราะสิ่งที่คุณหมอเล่าน่าสนใจมาก

โดยเฉพาะเรื่องการเรียนรู้ของทารกแฝดตั้งแต่ในครรภ์ คุณหมออ้างอิงจากงานวิจัยของฝรั่งมีวีดีโอให้ดูซะด้วย

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แฝดในท้องคุยกันตั้งแต่ในท้อง คนหนึ่งขี้เล่นอยากเล่นกับแม่ อีกคนนิ่งๆ ทั้งสองคงคุยกันด้วยภาษาใจ ถ้าอย่างนั้นหากพ่อแม่หมั่นคุยกับลูกตั้งแต่ในท้อง ลูกก็จำเสียงพ่อแม่ได้ และรู้สึกถึงความรักที่พ่อแม่มอบให้

พ่อแม่เป็นอย่างไร ลูกก็เป็นเช่นนั้น แล้วแบบนี้จะไม่เรียกว่า ครูคนแรกหรือ

เหมือนที่คุณหมอบอกว่า ถ้าพ่อแม่ไม่ชอบกินผัก อย่าหวังว่า ลูกจะกินผัก...

ผู้เขียนยังจำได้ว่า มาเริ่มบริโภคผัก ก็ต่อเมื่อออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน เพราะโต๊ะอาหารที่บ้าน นอกจากผัดๆ แกงๆ แตงกวา เครื่องเคียงน้ำพริกปลาทู ก็ไม่ค่อยได้เห็นผักวางอยู่บนโต๊ะอาหาร แล้วจะทำให้อยากกินผักได้อย่างไร

จนวันหนึ่งเมื่อไปกินอาหารร่วมวงกับชาวปักษ์ใต้ทุกๆ วัน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ผัก และนั่นทำให้ผักเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตจนถึงทุกวันนี้

ถ้าอย่างนั้น เมื่อครูคนแรกไม่กินผัก ครูคนที่สองที่ขีดๆ เขียน ๆ บนกระดานดำ แล้วบอกว่า กินผักดีต่อชีวิต ครูพูดอย่างเดียว ลูกศิษย์จะเชื่อไหม หากผักไม่ได้วางอยู่ตรงหน้าทุกมื้อทุกวัน

ครูของเรา จึงไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน แต่อยู่ในบ้าน 

ครูในห้องเรียนก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าครูคนแรก 

ถ้าครูคนนั้น ทำให้เรารู้คิด รู้ทำ และรู้เส้นทางของตัวเอง เหมือนเช่นที่กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล สตาร์ทอัพแถวหน้า เคยเล่าให้ฟังว่า ครูที่บ้านเกิดในจังหวัดกำแพงเพชร ทำให้เขารักวิทยาศาสตร์ ทั้งๆ ที่ไม่มีอุปกรณ์อะไรที่จะสอนวิทยาศาสตร์ แต่สามารถยกตัวอย่าง ทำให้เด็กๆ เข้าใจวิทยาศาสตร์ ทำให้เขามีวันนี้

เพราะครูยกตัวอย่างสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติในท้องไร่ท้องนา จนนักเรียนอย่างเขารักวิทยาศาสตร์่

ภายใต้ระบบการศึกษาไทยที่มีเงื่อนไขมากมาย คนเป็นครู จึงไม่ใช่แค่สอน แต่ต้องหาวิธีสอน หาองค์ความรู้เพิ่ม และรสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เพื่อให้เขาคิดต่อ และเดินหน้าในอนาคตได้

ผู้เขียนเคยได้เจอพ่อแม่กลุ่มหนึ่งที่ปฎิเสธการศึกษาในระบบ พวกเขารวมกลุ่มกันจัดการศึกษาให้ลูกๆ เลือกครู เลือกวิธีการสอน และบางทีพ่อแม่ที่มีความรู้ด้านใดด้านหนึ่ง ก็เป็นครูซะเอง

และสิ่งที่่ผู้เขียนเห็นก็คือ การเปิดโลกกว้างให้เด็กๆ พาไปเรียนรู้นอกสถานที่ ไปพิพิธภัณฑ์ ไปทำการเกษตร ไปวัด แต่ต้องหาผู้รู้คอยอธิบายให้ฟังด้วย และไม่ได้อธิบายแค่เป็นพิธีการหรือพิธีกรรม เด็กจะต้องจดบันทึก และทำการบ้านส่งกลับมาว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

และเมื่อนึกการสร้างคนให้เก่งและดี ครูในชีวิตของเรา ไม่ว่าพ่อแม่ ครูในห้องเรียน ครูนอกห้องเรียน คนข้างบ้านที่มีภูมิความรู้ความคิด ผู้ใหญ่เหล่านี้ มีบทบาทเป็นครูของเด็กๆ ได้ทั้งหมด

เพราะเราคือ ครอบครัวเดียวกัน