ความลับของสมอง'สูงวัย'
เมื่อคนเรามีอายุเพิ่มขึ้นสมองจะหดตัวเล็กลง และสูญเสียเซลล์ประสาทไปอย่างช้าๆ ผลก็คือจะทำให้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้ยาก และมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็ํนว่า สมองที่อายุมากกว่าจะคิดด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากสมองที่อายุน้อยกว่า
เมื่ออายุมากขึ้น คนเราก็จำได้น้อยลง ลืมง่ายขึ้น และลืมมากขึ้น ... จริงหรือ
คำตอบคือ แนวโน้มน่ะใช่ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไปเอกสารงานวิจัยชื่อ Cognitive Aging: Imaging, Emotion, and Memory ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Todays Research on Aging (5 July 2007) โดยเป็นการสรุปรวมงานวิจัยเกี่ยวกับสมองของผู้สูงวัยที่สถาบันศึกษาการสูงวัยขึ้นแห่งชาติ (The National Institute on Aging) ระบุว่า เมื่อถึงอายุ 65 ปี ผู้สูงวัยไม่ถึง 1 ใน 10 (ชาย 8% หญิง 3%) ที่มีอาการความจำเสื่อมระดับปานกลางไปจนถึงขั้นรุนแรง
แต่หากเป็นช่วง 75 ปีขึ้นไปสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นมากเป็น 2-3 เท่าตัว (ชาย 17% และหญิง 11%) และเมื่อถึง 85 ปีหรือมากกว่านั้น ราว 1 ใน 3 ของทั้งชายและหญิงก็ต้องเผชิญกับภาวะดังกล่าว
เมื่อคนเรามีอายุเพิ่มขึ้น โดยรวมสมองจะหดตัวเล็กลง และสูญเสียเซลล์ประสาทไปอย่างช้าๆ ผลก็คือจะทำให้ทำให้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้ยากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ความจำก็เริ่มเลอะเลือนมากขึ้นไปด้วย
นอกจากนี้แล้ว ยังคิดหรือประมวลผลข้อมูลช้าลงไปด้วย แต่ที่เรามักไม่ทราบกันก็คือ เหตุผลเบื้องหลังก็คือสมองของผู้สูงอายุลบข้อมูลส่วนที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องออกไปได้ไม่ดีเท่าเดิม จึงทำให้จดจำยากลำบากมากยิ่งขึ้นไปด้วย ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ความสามารถที่จะทำงานโดยปรับเปลี่ยนงานไปมาระหว่างงานหลายๆ อย่างก็ทำได้ยากขึ้นด้วย
แต่ยังมีคำถามที่ตอบไม่ได้อยู่ดีว่า เหตุใดผู้สูงด้วยวัยวุฒิบางคนยังคงความสามารถที่จะรับรู้ ใส่ใจ และจดจำได้ดี ใกล้เคียงกับคนในวัยที่อ่อนกว่า และดีกว่าคนในรุ่นอายุใกล้เคียงกัน
ในทศวรรษที่ผ่านมามีการค้นพบหลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่า สมองยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดีกว่าที่เราเคยคิดกันไว้มาก เช่น แม้เมื่อโตแล้วหรือสูงอายุแล้วก็ตาม สมองก็ยังคงสร้างเซลล์สมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งผิดจากความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า สมองเราเมื่อโตเต็มที่แล้วจะไม่มีการสร้างเซลล์สมองเพิ่มอีก มีแต่จะเท่าเดิมหรือลดลงเท่านั้น
แต่ที่น่าประหลาดใจมากไม่แพ้กันก็คือ คนอายุแยะใช้ส่วนต่างๆ ของสมองมากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า ...เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
มีงานวิจัยที่ชี้ไปในแนวทางที่ว่า สมองที่อายุมากกว่าจะคิดด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากสมองที่อายุน้อยกว่า ยกตัวอย่าง เมื่อให้ทำแบบทดสอบความจำ เช่น จับคู่ใบหน้า หรือทดลองจดจำคำต่างๆ แล้วใช้เครื่องมือตรวจวัดว่ าสมองส่วนใดที่ทำงาน ก็พบว่าในขณะที่วัยรุ่นใช้สมองส่วนพรีฟรอนทัลคอเท็กซ์ (prefrontal cortex) ซีกซ้ายเท่านั้น แต่คนอายุมากจะใช้ทั้งซีกซ้ายและขวา
มีงานวิจัยอีกหลายชิ้นจากหลายกลุ่มที่ยืนยันผลเช่นนี้ และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ในงานวิจัยบางชิ้น ผู้อาวุโสใช้สมองส่วนที่ต่างออกไปเลยสำหรับงานบางประเภทเสียด้วยซ้ำ
จึงเป็นไปได้ว่าสมองไม่ได้แค่เสียสภาพลงไปเรื่อยๆ แต่มันรับรู้การเปลี่ยนแปลงของตัวเอง และพยายามสร้าง วงจรสมอง ชุดใหม่ที่ใช้ทำงานแบบเดิมๆ ให้กับผู้สูงอายุ ถือได้ว่าสมองเป็นอวัยวะที่มีพลวัตหรือการปรับเปลี่ยนสูงมาก
ข้อสรุปอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจจากผลงานตีพิมพ์ดังกล่าวนี้ก็คือ ผลการวิจัยชี้ว่าเมื่ออายุมากขึ้น คนเรามีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากผลเชิงบวก (positive effect) มากขึ้น
ดังตัวอย่างต่อไปนี้ มีการทดสอบให้เลือกโฆษณา 2 ชิ้นที่เหมือนกันทุกอย่าง ยกเว้นแต่เปลี่ยนแค่สโลแกนในภาพ ปรากฏว่าคนอายุมากกว่าจะเลือกสโลแกนที่เชื้อชวนหรือให้สัญญิงสัญญาเป็น รางวัลทางจิตใจหรืออารมณ์ มากกว่าจะเลือกโฆษณาที่ให้คำมั่นในเรื่องการสำรวจและขยายขอบเขตของความรู้หรือความสามารถ แต่หากบอกกับพวกท่านว่าให้สมมติกรอบเวลาที่กว้างขวางมากขึ้น ก็จะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวลงได้
กล่าวโดยสรุป ผลจากอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนสูงวัยเอาใจใส่ และจดจำถึงเรื่องที่ให้ผลทางจิตใจมากขึ้นไปด้วย และแน่นอนว่า ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ บางเรื่องตามไปด้วย
เช่น คนสูงวัยมักจะพยายยามหลีกเลี่ยงกับการตัดสินใจยากๆ ทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดใหญ่หรือรักษาแบบมีผลข้างเคียงรุนแรง มากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า
ผลที่ตามมาก็คือจะผัดผ่อนการตัดสินใจดังกล่าวไปเรื่อยๆ หรือแม้แต่เลี่ยงไม่ตัดสินใจเรื่องดังกล่าวไปเลย ครั้นเมื่อเลี่ยงไม่ได้แล้ว ก็จะตัดสินใจไปในเวลาที่เหลืออยู่น้อยนิดนั้น จนทำให้ไม่มีเวลาหาข้อมูลเพื่อพินิจพิเคราะห์ หรือไตร่ตรองข้อดีข้อเสียหรือทางหนีทีไล่ให้ดีเสียก่อน
แน่นอนว่า ผลลัพธ์ก็จะไม่ดีเท่ากับได้ใคร่ครวญแล้วเป็นอย่างดีแน่ๆ
แต่งานวิจัยไม่ได้จะชี้แต่ผลลบไปเสียทุกเรื่อง การทดสอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการเงินหรือสุขภาพโดยทั่วๆ ไป ให้ผลไม่แตกต่างกันมากนักเมื่อเทียบกับคนอายุน้อยกว่า
คนที่อาบน้ำร้อนมาก่อนรู้จักจะใช้ประสบการณ์เพื่อไปสร้างสมดุลการตัดสินใจ ต่างกับคนอายุน้อยกว่าที่มักมั่นใจในตัวเองมากจนเกินไป ผลลัพธ์ก็คือการตัดสินใจของคนต่างวัย ไม่ได้ดีเลวไปกว่ากันเท่าใดนัก
เรื่องสุดท้ายที่น่าจะสำคัญมาก และบางคนอาจเคยได้ยินมาบ้างแล้วก็คือ ผู้สูงอายุที่เข้าสังคมมากกว่า จะยังความกระฉับกระเฉงของสมองไว้ได้มากกว่า คือช่วยทั้งเรื่องความจำ การใช้เหตุผล และความว่องไวของการคิดและพูดจา
นี่อาจเป็นอีกหนึ่งหลักฐานทางอ้อมว่า โดยพฤติกรรมแล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคม - จริงๆ!