โรคระแวง'เทคโนโลยี'
นักวิทยาศาสตร์ยุคหนึ่งบอกว่า "ง่ายมากที่จะหลอกคนที่ไม่ได้ฝึกมาด้วยรูปภาพสักรูป" มีคนจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยี มีความเชื่อผิดๆ จึงนำไปสู่ความสูญเสีย ทั้งเรื่องเงินทองหรืออาจจะเป็นชีวิต...
ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2557 วันครบรอบปีที่ 45 ที่มนุษย์ส่งคนไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ แต่กระนั้นก็ยังเห็นคนแชร์คลิปแฉและเปิดโปงว่า เรื่อง่การไปเหยียบดวงจันทร์ของนักบินอวกาศสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องโกหก และถ่ายทำกันในห้องสตูดิโอ
ที่สำคัญคือ ตอนน้ั้นยังมีคนเชื่อและส่งต่อๆ ให้กันอยู่เป็นระยะๆ เรื่องที่เครื่องบินชนตึกคู่เวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ก็ยังมีคลิปพาดพิงว่า สิ่งที่เห็นกันนั้นเป็นแค่ CG หรือภาพกราฟฟิกจากคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ดูเหมือนทฤษฎีสมคบคิดในโลกนี้จะมีมากมายเหลือเกิน ความรู้ใหม่ๆ ความก้าวหน้าต่างๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ดูกลายจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ไม่น่าเป็นไปได้ และชวนให้ปฏิเสธสำหรับคนหลายๆ กลุ่ม
สมาคมโลกแบน (Flat Earth Society) ที่ภายหลังเติมคำว่า สากล (International) เข้าไปด้านหน้าสุดด้วย ก็ก่อตั้งกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1956 ในยุคที่ยังไม่มีการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ แม้ภายหลังจากมีการถ่ายภาพโลกจากอวกาศแล้ว แซมมูเอล เชนตัน (Samuel Shenton) ประธานของสมาคมนี้ก็ยังดริฟท์ต่อด้วยข้อสังเกตว่า
"ง่ายมากที่จะหลอกคนที่ไม่ได้ฝึกมาด้วยรูปภาพสักรูป" ....
ดูเหมือนหลักฐานจะไม่ใช่สิ่งที่คนพวกนี้ต้องการหรือยอมรับเท่าใดนัก แต่เรื่องความเชื่อแบบนี้ คงพอมองให้เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล และเป็นเรื่องขำขันชวนเฮฮาได้อยู่
แต่ความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี ความไม่เชื่อถือเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมไปถึงในมุมกลับคือ การยึดถือเทคโนโลยีจนเป็นสรณะเกินไป ต่างก็ก่อให้เกิดเป็นผลลัพธ์คือ ความสูญเสียทั้งข้าวของเงินทอง หรือแม้แต่ชีวิตได้ทีเดียว
ขอยกสักสองตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ นะครับ ตัวอย่างแรกเกี่ยวกับความเข้าใจคลาดเคลื่อนและการต่อต้านพลังงานลมที่เรียกว่า "กลุ่มอาการกังหันลม (Wind Turbine Syndrome)"
ในปี ค.ศ.2006 เมื่อมีกุมารแพทย์นางหนึ่งไปแต่งงานกับแอคทิวิสต์ที่ต้านการติดตั้งกังหันลมเข้า เธอตั้งสมมติฐานว่าคลื่นเสียงความถี่ต่ำ ที่ซึ่งเกิดจากใบพัดของกังหันยักษ์ อาจจะไปกระตุ้นหูชั้นในจนส่งผลเสียเป็นอาการป่วยรูปแบบต่างๆ
ทราบกันแล้วว่า เรื่องนี้ไม่จริง อันที่จริงการตรวจวัดด้วยเครื่องมือในยุคปีค.ศ.2011 ให้ผลตรงกันข้ามด้วยซ้ำไปคือ เวลาใบพัดทำงานจะพบคลื่นพวกนี้น้อยกว่า แถมเมื่อไปวัดสถานีหลายๆ แห่ง ยังพบเพิ่มเติมอีกด้วยว่า มีสถานที่อีกมากมายหลายแห่งที่มีคลื่นเสียงความถี่ต่ำในระดับสูงกว่า รวมทั้งสถานีเติมก๊าซและชายหาด !
แต่ความเชื่อเรื่องนี้ก็ยังกระจายต่อไปและกลับมาฮิตอีกครั้งใน ค.ศ.2009 เพราะมีผู้แจ้งว่า ตนเองเจ็บป่วยและอาจมีสาเหตุมาจากใบพัดกังหันยักษ์เหล่านี้ ปีดังกล่าวนี้เองเป็นปีที่แอ็กทิวิสต์มีกิจกรรมเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ และเป็นปีที่เกิดคำว่า "กลุ่มอาการกังหันลม" ขึ้นเป็นครั้งแรก
ตอนนั้นในประเทศออสเตรเลีย หน่วยงานวิทยาศาสตร์นับสิบหน่วยงาน เช่น สภาการวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาวะแห่งชาติ (National Health and Medical Research Council) และสมาคมการแพทย์แห่งออสเตรเลีย (Australian Medical Association, AMA) ต่างให้ความสนใจและตรวจสอบเรื่องนี้
ข้อสรุปของ AMA ก็คือ "รายการและข้อมูลผิดๆ เรื่องภัยต่อสุขภาพเกี่ยวกับการพัฒนาฟาร์มกังหัน อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความกังวลเพิ่มสูงขึ้น และก่อให้เกิดความแตกแยกในชุมชน"
มีนักวิจัยที่ทดสอบผลจากการรับข้อมูลเท็จ โดยให้ข้อมูลกับกลุ่มทดลองว่า ไวไฟ (WiFi) มีอันตราย ผลก็คือผู้เข้าทดลองมีอาการป่วยกันระนาว บางรายถึงกับป่วยจนทดลองต่อไม่ได้ ทั้งๆ ที่ข้อมูลดังกล่าวกุขึ้นทั้งเพ
มีนักวิจัยอีกกลุ่มทดลองโดยกล่าวถึงอินฟราซาว์ดแทนที่จะเป็นไวไฟ ผลที่ได้ยิ่งน่าสนใจ เพราะกลุ่มที่ได้รับข้อมูลผิด ไม่ว่าเจ้าตัวจะเจอกับคลื่นเสียงความถี่ต่ำจริงๆ หรือไม่ก็ตาม ต่างก็แสดงอาการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ !
นักวิจัยไม่ได้แค่พิสูจน์ว่า ความเชื่อผิดๆ ส่งผลจริงหรือไม่ แต่มีวิธีแก้ไขแถมพกมาด้วย กล่าวคือ ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมรับรู้และ "เป็นเจ้าภาพ" ร่วมแก้ปัญหานั้นด้วย ในประเทศเยอรมนีที่คนในพื้นที่มีส่วนร่วมมาก ปรากฏว่ามีการต่อต้านและมีข้อมูลผิดๆ น้อยกว่าประเทศอื่นอย่างเห็นได้ชัด
ข้างต้นเป็นตัวอย่างที่ส่งผลกับ "เจ้าตัว" คนที่เชื่อข้อมูลผิดๆ แต่อีกตัวอย่างที่จะยกต่อไปนี้ ส่งผลกับลูกหลานของคนเหล่านั้นด้วย
ค.ศ.2003 ในประเทศไนจีเรียที่มีเด็กๆ เป็นโปลิโอระดับท็อปของโลก มีข่าวลือเรื่องเด็กที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้กลายเป็นโปลิโอไปเอง จนเกิดความหวาดกลัวจนมีถึงสามรัฐทางตอนเหนือบอยคอต ไม่ยอมให้มีการฉีดวัคซีนโรคนี้
เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการระบาดของโรคโปลิโอในสาธารณรัฐโดมินิกันและเฮติใน ค.ศ.2001 ซึ่งวัคซีนชนิดหยอดเป็นแบบ "เชื้อเป็น" ซึ่งทำให้อ่อนแรง กลับทำให้เด็กๆ ป่วยถึง 22 คน เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญคาดว่ามาจากการที่เด็กที่ได้รับวัคซีนอ้วกใส่แหล่งน้ำ เชื้อเลยไปติดเด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้ป่วยในที่สุด
เดชะบุญที่ตอนนั้นองค์การอนามัยโลกทำงานอย่างแข็งขันมาก จนจูงใจให้คนไนจีเรียยอมให้ฉีดวัคซีนต่อได้ จนเพิ่มจาก 35% ของประชากรในปี 2005 เป็น 76% ในปี 2007 ผลคือจากที่เคยป่วยนับพันรายต่อปี ในปี 2007 ก็ลดลงจนเหลือผู้ป่วยเพียง 198 ราย
ความเสี่ยงจากวัคซีนสมัยใหม่นั้น แม้จะมี แต่ก็น้อยมาก และไม่นิยมใช้วัคซีนที่ใช้เชื้อเป็นกันมากนักแล้ว ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้จึงเกี่ยวข้องกับชีวิตเด็กๆ จำนวนหนึ่งที่จะอยู่รอดหรือไม่ทีเดียว !