ค้นหาความเป็นจริงเรื่อง'เหนือธรรมชาติ'  

ค้นหาความเป็นจริงเรื่อง'เหนือธรรมชาติ'   

เรื่องพลังจิต ตาทิพย์, โทรจิต ฯลฯ หรืออะไรก็ตามที่เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ก็สนใจทำวิจัย แต่หาหลักฐานมายืนยันยากเหลือเกิน

นักวิทยาศาสตร์ไม่สนใจทำวิจัยเรื่อง เหนือธรรมชาติ (supernatural หรือ paranormal) จริงหรือ ?

คำตอบคือ ไม่จริงครับ

อันที่จริงมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกนั้น หลายต่อหลายแห่ง ก็เคยมีห้องปฏิบัติการเรื่องทำนองนี้อยู่แทบทั้งนั้น แม้ปัจจุบันหลายแห่งก็ยังทดลองอยู่ แต่ปัญหาก็คือพอทำวิจัยไป ก็ไม่ค่อยพบหลักฐานสนับสนุนสักเท่าไหร่ จะขอยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยดังๆ มาดูกันพอสังเขปนะครับ

เริ่มจากมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าอย่างสแตนฟอร์ดนะครับ ที่นี่ทำวิจัยเรื่องพลังจิตที่ศัพท์ในวงการเรียกว่า อีเอสพี (ESP, Extrasensory Perception) หรือ "การรับรู้สิ่งที่นอกเหนือสัมผัสปกติ"

จอห์น เอ็ดการ์ คูเวอร์ (John Edgar Coover) เริ่มการทดลองเกี่ยวกับอีเอสพีตั้งแต่ ค.ศ.1911 ซึ่งทำให้ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีงานวิจัยทำนองนี้

การทดลองที่โด่งดังของที่นี่คือ การทดสอบกับยูริ เกลเลอร์ (Uri Geller) "นักงอช้อนด้วยนิ้วเปล่า" ในช่วงทศวรรษ 1970

มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังจัดตั้งสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute, SRI) ที่มีโครงการโด่งดัง เพราะมี CIA มาเกี่ยวข้องด้วยคือ โครงการสตาร์เกท (Stargate Project) ที่ทำเรื่อง "ตาทิพย์" หรือความสามารถในการมองเห็นสถานที่ซึ่งห่างออกไป

น่าเสียดายว่าโครงการนี้ต้องปิดตัวลงกลางทศวรรษ 1990 เพราะไม่ได้ผลดีที่น่าพอใจให้จ่ายตังค์ต่อ ปล่อยให้ชาวบ้านลือกันว่าไม่ได้ล้มหลงล้มเหลวอะไรหรอก แค่เปลี่ยนไปเดินหน้าต่ออย่างลับๆ ใต้ดินแค่นั้น

มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) เป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่สองที่เริ่มงานวิจัยผิดธรรมดาแบบนี้ใน ค.ศ.1935 หลังจากนักวิจัย คือ เจ.บี. ไรน์ (J.B. Rhine) และวิลเลียม แมกดูกัลล์ (William McDougall) ไปติดใจเล็กเชอร์เรื่องการติดต่อกับคนตายของเซอร์อาร์เธอ โคแนน ดอยล์ คนที่เขียนนิยายนับสืบ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ อันแสนจะโด่งดังเข้า 

ทั้งคู่จึงตั้งห้องปฏิบัติการปรจิตวิทยา (Parapsychology Laboratory) ซึ่งศึกษาเรื่องพลังจิตแง่มุมต่าง ๆ รวมทั้งการใช้พลังจิตเคลื่อนย้ายสิ่งของที่เรียกว่า ไซโคไคเนซิส (psychokinesis) จนไรน์ได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งปรจิตวิทยา" แต่ห้องปฏิบัติการนี้ก็ล้มเลิกไปตั้งแต่ ค.ศ.1965

                   

มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเริ่มงานวิจัยคล้ายคลึงกับของมหาวิทยาลัยดุ๊กตั้งแต่ ค.ศ. 1979 ขณะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาดเริ่มสนใจศึกษาเรื่องทำนองนี้ในทศวรรษ 1990

เพียงแต่ไม่ได้ต้องการพิสูจน์ว่าพลังจิตมีจริง แต่กลับต้องการพิสูจน์ว่า ไม่มีจริงต่างหาก ซึ่งยากมากแม้จะมีอุปกรณ์ไฮเทคมาช่วยก็ตาม 

มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแองเจลีส (UCLA) ก็เคยมีวิจัยออกมาในช่วง ค.ศ.1968-1978 ภาพยนตร์ปี 1982 เรื่อง The Entity ก็เคยยกกองมาถ่ายทำที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย (หนังได้รางวัล Avoriaz Fantastic Film Festival Award สำหรับดาราแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมคือ บาร์บารา เฮอร์ชีย์)

สถาบันวิจัยที่ตั้งขึ้นใหม่ชื่อ สถาบันนิวโรไซคีเอทริก (Neuropsychiatric Institute) ศึกษาปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติอย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องตาทิพย์, โทรจิต, บ้านผีสิง, ผีตึงตัง (โพลเทอไกสท์) ไปจนถึงภาพถ่ายเคอร์เลียน (Kirlian photography) ที่เป็นเทคนิคการถ่ายภาพการปล่อยประจุไฟฟ้าออกจากสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิต

สถาบันแห่งนี้ปิดตัวไปเรียบร้อยแล้ว แต่ที่น่าประหลาดใจคือ ดูเหมือนหลักฐานการมีอยู่ของห้องปฏิบัติการก็แทบหาไม่ได้ ซึ่งก็ตีความได้ว่าอาจจะเป็นการกลบเกลื่อนเพราะอยากลืม แต่บางคนคิดว่าอาจเป็นความพยายามปิดบังซ่อนเร้นไว้ก็เป็นได้

 มหาวิทยาลัยคอร์เนล ก็เคยมีโครงการเกี่ยวการทำนายเหตุการณ์ในอนาคต โดยทดลองในเด็กมหาวิทยาลัยตนเอง 1,000 คนในชุดการทดลองย่อยๆ 9 แบบ โดยนักวิจัยคือ แดริล เบ็ม (Daryl Bem) สรุปว่า 8 การทดลองในชุดนั้นแสดงให้เห็นว่า ให้ผลด้านบวกที่ไม่ใช่เหตุบังเอิญแน่ และอาจอธิบายได้ด้วยหลักการทางควอนตัมฟิสิกส์ !

แต่เรื่องแบบนี้นักวิทยาศาสตร์สายหลักก็อ่านพอเพลินๆ คิดว่า หากจริงคงจะมีผลการศึกษาที่หนักแน่นตามมาอีก หากไม่จริงก็คงเงียบหายไปเอง

ตัวอย่างการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยการวิจัยเรื่องเหนือธรรมชาติบางแบบก็น่าสนใจดีนะครับ เช่น มีการทดสอบชื่อ โมบายล์เทเลพาธีเทสต์ (Mobile Telepathy Test) ที่ทดสอบว่า เราได้รับสายโทรศัพท์เรียกเข้าจากคนที่เรากำลังคิดถึงบ่อยเพียงใด

และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับเรื่องพลังจิตบ้างหรือไม่ หรือแค่เป็นเรื่องของความบังเอิญล้วนๆ การทดลองนี้นักวิจัยที่ หน่วยวิจัยจิตวิทยาวิกล (The Anomalistic Psychology Research Unit, APRU) ของมหาวิทยาลัยลอนดอนทำกันอยู่

อีกการทดลองหนึ่งของ APRU ชื่อ การทดสอบโทรจิตร่วม (Joint Telepathy Test) ซึ่งทดสอบความเหมาะเจาะของเวลาที่คนหลายๆ คนจะมองที่รูปภาพเดียวกัน

ขณะที่มีนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยอะดีเลด ประเทศออสเตรเลีย กำลังใช้ข้อมูลเชิงสถิติเพื่อทดสอบว่า คนตาบอดพัฒนาพลังจิตขึ้นมาทดแทนการสูญเสียการมองเห็นได้เองตามธรรมชาติหรือไม่

และนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) ประเทศสวีเดน ก็มีโครงการระยะยาวที่ศึกษาเรื่องความเกี่ยวข้องระหว่างการสะกดจิตกับพลังจิต

สำหรับการประชุมวิชาการ ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยนั้น  มหาวิทยาลัยยูเทร็ชท์ (Utrecht Universtiy) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็เคยจัดการประชุมเรื่องพวกนี้ขึ้นมาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งแรกที่จัดในปี 2007 นั้น มีนักวิทยาศาสตร์และนักปรจิตวิทยา 78 คนจาก 13 ประเทศมาร่วมงาน หลังจากนั้นก็ยังจัดอีกหลายหน

ชัดเจนนะครับว่านักวิทยาศาสตร์ก็สนใจศึกษาเรื่องเหนือธรรมชาติเหมือนกัน เพียงแต่การหาหลักฐานมาแสดงว่า เรื่องพวกนี้มีอยู่จริงและทำซ้ำได้ พิสูจน์ได้ ต่างหากที่ยากเย็นแสนเข็ญจริงๆ !