อัจฉริยะสร้างไม่ได้ แต่เกิดมาพร้อมจะเป็น
คงได้ยินบ่อยๆ ว่าอัจฉริยะสร้างได้ แต่งานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์เรื่องนี้ มีคำอธิบายเชื่อมโยงระหว่างพันธุกรรมกับระดับเชาว์นปัญญา รวมถึงความแตกต่างด้านเผ่าพันธุ์กับระดับสติปัญญา
"คุณมีพัฒนาการของหน้าผากน้อยกว่าที่ผมคาดไว้นะ"
ครั้งหนึ่งศาสตราจารย์เจมส์ มอริอาร์ตี้ เคยกล่าวกับเชอร์ล็อกส์ โฮล์มส ในนิยายสืบสวนขายดีของเซอร์อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ ตั้งแต่ยุคของดอยล์
นักวิทยาศาสตร์ก็รู้แล้วว่า เปลือกสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ที่อยู่ตรงหลังหน้าผาก เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสิทธิภาพการทำงานของสมอง
โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้เหตุผลและการแก้ปัญหา แต่ปัจจุบันยังรู้เพิ่มอีกด้วยว่า "ขนาด" ของสมองส่วนหน้าไม่สัมพันธ์โดยตรงกับสติปัญญาเท่าใดนัก
คนที่หน้าผากโหนก จึงไม่จำเป็นต้องปัญญาดี อย่างที่ ศ.มอริอาร์ตี้ เข้าใจ !
เขียนมาถึงตรงนี้ เลยชวนให้สงสัยไปอีกว่า อัจฉริยะอย่างไอน์สไตน์นี่ ต้องถือว่าฟ้าส่งมาเกิดเท่านั้น หรือกลับกันคือ "อัจฉริยะสร้างได้" ต่างหาก หลายคนคงสงสัย ผมก็สงสัย เลยต้องหาข้อมูลมาดูกันหน่อย
หนังสือวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสติปัญญาและความฉลาดเล่มแรกๆ ที่โด่งดังมาก จนก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างหนัก คือหนังสือ เส้นกราฟรูประฆัง: เชาว์นปัญญาและโครงสร้างชั้นเรียนในชีวิตชาวอเมริกัน (The Bell Curve: Intelligence and Class Structure in American Life) ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1994 โดยผู้เขียน 2 ท่าน คนหนึ่งคือ ริชาร์ด เฮิรร์นสไตน์ (Richard Herrnstein) ที่เป็นนักจิตวิทยา และอีกคนคือ ชาร์ลส์ เมอร์เรย์ (Charles Murray) ที่เป็นนักรัฐศาสตร์
ในหนังสือเล่มสำคัญนี้ คณะผู้เขียนได้กล่าวถึงนิยามของเชาว์นปัญญาว่า ควรจะหมายถึงและครอบคลุมอะไรบ้าง และจะสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในชีวิตได้ดีมากน้อยเพียงใด
จากนั้นจึงอภิปรายถึงความแตกต่างของระดับเชาวน์ปัญญาที่นำไปสู่ผลลัพธ์เชิงสังคม และสรุปประเด็นชวนให้ถกเถียงเป็นอย่างยิ่งว่า การมีระดับเชาว์นปัญญาต่ำจะนำไปสู่ชีวิตที่มืดมนกว่า ไม่ว่าจะเป็นการตกงานหรือการก่ออาชญากรรม เป็นต้น !
คณะผู้เขียนยังให้ข้อมูลอีกว่า สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับระดับเชาว์นปัญญาได้ นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงความแตกต่างด้านเผ่าพันธุ์กับระดับสติปัญญาได้อีกด้วย ทำให้ได้ผลสรุปที่ชวนอกสั่นขวัญแขวนว่า คนที่มีสภาวะทางชีววิทยาของสมองไม่ดี ก็อาจจะแก้ไขอะไรไม่ได้ และต้องจ่อมจมอยู่กับชีวิตแย่ๆ ไปทั้งชาติ
เรียกว่าสนับสนุนแนวคิด "พรหมลิขิต" กันสุดลิ่มทิ่มประตูทีเดียว !
การศึกษาในยุคหลังยืนยันว่า ข้อสรุปดังกล่าวมีปัญหาตั้งแต่คำจำกัดความของ "เชาวน์ปัญญา" ไล่มาเลย นักประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscientist) สมัยนี้ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับความหมายของสติปัญญาที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้
นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าแบบทดสอบหรือวิธีการวัดเชาว์นปัญญาที่ใช้กันอยู่นั้น มีข้อจำกัดและไม่ได้สะท้อนความสามารถด้านสมองอย่างแท้จริงอีกด้วย
แบบทดสอบไอคิว (IQ) ที่ใช้กันอยู่นั้น วัดความสามารถในเชิงความจำและตรรกะเท่านั้น ไม่อาจวัดแรงจูงใจ (motivation) ความมุ่งมั่น (persistence) ทักษะเชิงสังคม (social skill) และความสามารถอีกหลายๆ ด้าน เช่น ด้านดนตรี หรือกีฬา อีกด้วย
มีการทดลองที่น่าสนใจที่วัดกิจกรรมสมองของผู้เข้าทดลองด้วยวิธีเพ็ตสแกน (PET scan) ปกติหากใช้งานสมองมากในขณะนั้น ก็จะให้สัญญาณเป็นสีส้มหรือแดง ในขณะที่หากไม่มีกิจกรรมมากนักก็จะให้เป็นสีเขียวหรือฟ้า
แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือเมื่อลองสแกนสมองขณะนักศึกษาแก้โจทย์ปัญญาอยู่ กลับพบว่าสมองของเด็กที่ทำคะแนนได้สูงกว่ามีสีออกไปทางเขียวน้ำเงิน
คำอธิบายแบบหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ เด็กเหล่านั้นรู้สึกว่าโจทย์ปัญหาพวกนี้ "ง่าย" จนไม่ต้องใช้ความสามารถที่มีอยู่ของสมองมากมายนัก !
ปัจจุบัน พวกแบบทดสอบวัดสติปัญญาจึงวัดความสามารถของสมองในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวางมากขึ้น เรียกว่าเป็นการวัด จี-แฟคเตอร์ (g-factor) คือ วัดทั้งเรื่องความสามารถด้านการจดจำคำต่างๆ ในภาษา, ความสามารถในการใช้เหตุผลและตรรกะ รวมไปถึงความสามารถทางคณิตศาสตร์ในการหาความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ ของข้อมูล
มีหลักฐานว่าความสามารถทำนองนี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการทำงานของเปลือกสมองส่วนหน้าอย่างใกล้ชิด คนที่สมองส่วนนี้เสียหายจากอุบัติเหตุ มักจะสูญเสียความสามารถด้านนี้ไปอย่างรุนแรง
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ระดับไอคิวเฉลี่ยของคนทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรียกว่าเกิดปรากฏการณ์ ฟลินน์ (Flynn effect) ซึ่งอาจมาจากการที่เราต้องปรับตัวให้อยู่ในสังคมที่ซับซ้อน และมีเรื่องเชิงนามธรรมให้ขบคิดมากขึ้น จึงทำให้สมองมีพัฒนาการด้านนี้ดีขึ้นไปด้วย
สำหรับผลของกรรมพันธุ์มีความเกี่ยวข้องแน่นอน แต่อาจไม่ใช่ทั้งหมด ดังที่พบว่าคู่แฝดแท้ไม่จำเป็นต้องมีไอคิวเท่ากันเสมอไป บางทีก็มีเพียงคนเดียวในคู่แฝดที่เป็นโรคสมอง
ที่สำคัญคือหากโดนแยกเลี้ยงในสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันตั้งแต่เด็ก ความสัมพันธ์ระหว่างระดับเชาว์นปัญญาในคู่แฝดจะลดลงมาเหลือแค่ 72% กล่าวโดยสรุปคือ พันธุกรรมก็เกี่ยวข้อง สิ่งแวดล้อมก็เกี่ยวข้อง
คาดกันว่าที่พันธุกรรมเกี่ยวข้อง เพราะเป็นผลจากความสามารถในการสร้างการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาท หากเปรียบกับรถยนต์ ก็เหมือนกับรถยนต์ที่ประกอบมาจากโรงงานที่มีสเปก "ความเร็วสูงสุด" ติดมาแล้ว
แต่ต้องอาศัยความสามารถของคนขับ ซึ่งในกรณีนี้คือสภาวะสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้ จึงจะทำให้สามารถไปได้ถึงศักยภาพสูงสุดที่ธรรมชาติให้มาได้
หนังสือหรือคอร์สอบรมสมองจึง "อาจจะ" ช่วยดึงความสามารถที่ยังไม่ใช้ออกมาได้บ้าง แต่คงไม่สามารถทำให้คนธรรมดากลายเป็นอัจฉริยะ เพราะอัจฉริยะสร้างไม่ได้ แต่เกิดมาพร้อมจะเป็น แต่ต้องได้รับการเกื้อหนุนช่วย !