'หนทางสลัดทุกข์' คำสอนที่ทำได้จริง รับ 'วันวิสาขบูชา'
เนื่องใน "วันวิสาขบูชา 2564" ลองทบทวน ปฎิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ความเป็นจริงที่ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง
คงเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า ฉันเป็นพุทธโดยทะเบียนบ้าน ฉันไม่นับถือศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น ฯลฯ
เรื่องเหล่านี้ ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี แนวทางพุทธที่พระพุทธเจ้าสอน ก็คือ ธรรมชาติที่มีอยู่ และเป็นอยู่ เพียงแต่ใครหรือผู้ใดจะ"รู้ เห็น เป็น จริง" แล้วนำมาใช้กับชีวิต
เนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนา วันวิสาขบูชา ลองกลับมาทบทวนตัวเองแบบชาวพุทธที่รู้เท่าทันมายาคติของโลกใบนี้
และนี่คือ ทัศนะของคนตัวเล็กๆ ที่เกี่ยวโยงกับทางธรรม ทั้งผู้ใฝ่รู้ และผู้เห็นธรรมในธรรมชาติ
แค่ปลายจมูก ก็ช่วยได้
อีกเรื่องราวคนใกล้วัด ตอนที่เธอเป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ คุณยายและคุณแม่มักจะพาไปทำบุญใส่บาตร นอนวัด ณ วันนี้ เธอจึงทำงานทางธรรมอย่างมีความสุข
สายสัมพันธ์ ปัญญศิริ (พี่สาวแม่ชีศันสนีย์) เสถียรธรรมสถาน เคยย้อนถามว่า เวลาเราทุกข์ เรากลับไปอยู่ตรงไหน
"ลมหายใจไง ลมหายใจที่อ่อนโยน ทำให้เราสบายใจมากขึ้น" เธอ เคยเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน จากนั้นเล่าต่อว่า เพราะแม่และยายสร้างรากฐานชีวิตที่มั่นคงให้เราตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเวลาทำงานอะไร เราก็มีฐานที่มั่นคง ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่รับผิดชอบทุกอย่าง แม้จะทำได้ไม่ดี ก็รู้ว่า เราต้องรับผลที่ทำ
วันพระยายต้องไปวัด เราก็ต้องไปกับยาย ยายนอนในโบสถ์ เราก็นอนกับยาย แม้ตอนนั้นเราเป็นเด็ก ไม่อยากเข้าวัด ก็ต้องไป เพราะรักยาย เราซึมซับเรื่องเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว พอโตขึ้น มีปัญหาก็เข้าวัด สงบดี" สายสัมพันธ์ หรือป้าตุ๋ม เคยเล่าถึงชีวิตที่อยู่กับธรรมให้ผู้เขียนฟัง โดยเฉพาะในช่วงวัยนี้ เมื่อมีหน้าที่ต้องดูแลความเรียบร้อยทุกอย่างในเสถียรธรรมสถาน เธอก็ทำอย่างเบิกบาน
"บางทีไม่ต้องเข้าวัดก็ได้ แต่อย่างน้อยๆ ต้องทบทวนตัวเอง สิ่งที่ทำอยู่ เป็นทุกข์หรือสุข เราต้องวิเคราะห์ตัวเองได้ และนำตัวเองออกจากทุกข์ให้ได้
ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม การกลับมาอยู่กับลมหายใจ ก็เพื่อให้รู้แจ้งว่า ในวินาทีนั้นทุกข์หรือสุข ซึ่งสำคัญกว่าการปล่อยชีวิตไปเรื่อยๆ โดยปราศจากสิ่งยึดเหนี่ยว
ลองสังเกตดูสิ เวลาเราเหนื่อยๆ เราค่อยๆ หายใจช้าๆ ไม่กระหือกระหอบ เรารู้ดีแค่ไหน แค่รู้สึกโล่ง โปร่ง สบายก็มั่นคงแล้ว ต้องทดลองทำ ถ้าลองปฎิบัติแล้ว ไม่ดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่าครูบาอาจารย์ไม่ดี ต้องกลับมาดูว่า เราเพียรพยายามเพียงพอไหม"
การทำตัวให้เป็นประโยชน์ และเกื้อกูลต่อคนรอบข้าง เป็นสิ่งที่'สายสัมพันธ์' ทำอยู่ทุกวี่ทุกวัน อย่างไม่เบื่อหน่าย และเมื่อใดที่ใครมีโอกาสได้พูดคุยหรือปรึกษาเธอ ก็จะพบพาความสบายใจกลับบ้านไปด้วย
"คนที่อยากมีความสุข แล้วไปแสวงหาความทุกข์ จะสุขได้ยังไง ถ้าอยากมีความสุข ก็ต้องไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น เมื่อเห็นคนอื่นดีกว่า ก็ไม่ต้องทุกข์ อย่าหยิบความทุกข์มาใส่ตัว อย่างเราถ้าทำอะไรแล้วโปร่ง โล่ง สบาย ก็มั่นใจว่า ใช่สำหรับเรา"
ใครๆ ก็อยากเลือกความสุขทั้งนั้น แต่เมื่อใดมีความทุกข์เข้ามาเยือน สายสัมพันธ์ ย้ำกับผู้เขียนเสมอว่า ก่อนที่อารมณ์จะไปไกลกว่านั้น ให้หันกลับมาอยู่กับลมหายใจอย่างอ่อนโยน
"ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร เราต่างมีลมหายใจ นำความรู้สึกมาอยู่กับลมหายใจ ดูจิตตัวเอง หยุดคิดอกุศลทั้งหมด"
ช่วงวัย ช่วยได้
ธรรมะจะมีประโยชน์ ก็ต่อเมื่อนำมาใช้กับชีวิต แต่บางคนมีธรรมะอยู่ในตัวเอง โดยไม่ต้องใฝ่หา เพราะธรรมะก็คือ ธรรมชาติ เหมือนเช่นที่ ไพรสนธ์ นันตาวงศ์ อดีตเจ้าหน้าที่โรงเรียนมังกรกมลาวาสวิทยาลัย เคยเล่าให้ฟังว่า การเรียนรู้ธรรมะให้เข้าใจ บางทีก็อยู่ที่ช่วงวัย
ในช่วงวัยหนึ่ง เขาเอง แม้จะสนใจเรื่องพุทธศาสนา แต่ก็ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง แค่รู้สึกดีๆ ก็แค่นั้น
"ผมเองเป็นคนที่สนใจเรื่องสมาธิ วิปัสสนา แต่ในช่วงวัยรุ่นไม่เข้าใจเลย ลมปราณเป็นยังไง ไม่รู้หรอก ผมชอบอ่านนวนิยายกำลังภายใน และอยากรู้ว่า นั่งสมาธิจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นนั่งสมาธิแล้วมีความสุข ไม่คิดอะไร ก็นั่งไป
อาศัยว่า เป็นนักอ่านตัวยง โดยเฉพาะหนังสือธรรมะ และหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอเรื่องพระ อ่านจนพบว่า มีคนนั่งสมาธิแล้วเห็นนั่นเห็นนี่ ก็อยากลองดูสิว่า จะเห็นอะไร
"เมื่อผมโตขึ้น ผมก็เข้าใจเองว่า เราต้องไม่ยึดติด สิ่งสำคัญคือ ต้องมีกัลยาณมิตรที่ดี ซึ่งเรื่องพวกนี้ เดี๋ยวก็มีเพื่อนดีๆ มาแนะนำ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เราปฎิบัติธรรม"
เรื่องที่เขาเล่ามา...ยังไม่ทำให้เขาเข้าใจแนวทางพุทธอย่างที่ควรจะเป็น จนเมื่อมีโอกาสเข้าไปทำงานอยู่ในแวดวงโรงเรียนวิถีพุทธ เขาได้ปฎิบัติจริงๆ เจอครูบาอาจารย์ทางธรรมที่ดี ก็เริ่มเข้าใจคำสอน จะเรียกว่า ธรรมะจัดสรรก็ได้นะ
"ผมเคยทำงานกับเด็กๆ และครูโรงเรียนวิถีพุทธ ทำให้ผมรู้ว่า คัมภีร์ทางธรรมที่ให้เด็กหรือผู้ใหญ่อ่าน บางทีอ่านไม่รู้เรื่องหรอก ต้องแปลเป็นภาษาง่ายๆ หรือทำเป็นการ์ตูนให้เด็กอ่าน จะโดนใจมากกว่า"
ตอนนั้นเขาโยงให้ฟังว่า คนรุ่นใหม่หรือเด็กๆ จะชอบดูรูปภาพมากกว่าอ่านตัวอักษรเยอะๆ และเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ
"การเรียนรู้เรื่องธรรมะต้องอาศัยเวลา หนังสือบางเล่ม เราเคยอ่านไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง ก็อ่านเข้าใจ ผมคิดว่า ธรรมะสามารถนำมาใช้ในชีวิตได้ เวลาเรามีความทุกข์ เราจะไวมากที่จะหาช่องทางออกจากทุกข์ ไม่เก็บมาคิดมากเกินไป"
.................
(หนทางแห่งความสงบ)
เมื่อวันสำคัญทางพุทธศาสนาเวียนมาถึง ก็เพื่อที่จะให้ชาวพุทธระลึกถึงคำสอนและนำไปปฏิบัติ สิ่งสำคัญ คือ การปฏิบัติเพื่อละลดกิเลสในตัวเรา เหมือนเช่นที่ท่านอาจารย์พุทธทาส สอนไว้ว่า
"ถ้าเราจะคิดไปตามแนวของเหตุผล ทำการวินิจฉัยลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตากันสักเท่าไร ก็ได้แค่ความเข้าใจ ไม่มีทางให้เกิดความสลดสังเวชได้ ไม่มีทางให้เกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งหลายในโลกได้
ขอให้เข้าใจว่า กิริยาอาการที่จิตใจเบื่อหน่าย คลายความอยากจากสิ่งที่เคยหลงรักนั่นแหละ ก็คือ ความเห็นแจ้งในที่นี้.."
ด้วยเหตุประการฉะนี้ สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนในเรื่อง ความเห็นแจ้ง จึงไม่ใช่การคิดตามเหตุผลเหมือนที่ใช้ในปัจจุบัน หรือปัญญาแบบโลกๆ
ท่านอาจารย์พุทธทาส สอนไว้ว่า มันถูกในโลกสมมติที่เราเข้าใจเอาเอง
ดังนั้นการรู้แจ้ง เห็นแจ้ง ต้องใช้ปัญญาที่ลึกซึ้งพิจารณาด้วยตนเอง จนรู้แจ้งในจิตว่า
"แท้จริงแล้วชีวิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของเรา"
ธรรมะ จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว ส่วนใครจะรู้ เห็น เป็น จริง ก็ต้องนำมาใช้กับชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกศาสนาสอน แม้จะต่างแนวทาง แต่หนทางเดียวกัน ก็คือ ความสุขสงบ