สสส. คว้ารางวัล "เนลสัน แมนเดลา" ตอกย้ำการยอมรับความสำเร็จงานส่งเสริมสุขภาวะไทยในระดับโลก
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศมอบรางวัล "เนลสัน แมนเดลา" เพื่องานส่งเสริมสุขภาพ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ประจำปี 2564 ให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าที่กำลังสร้างความกังวลแก่คนไทย ยังมีข่าวดีเล็กๆ ที่พอจะทำให้คนไทยยิ้มออกได้บ้าง หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศมอบรางวัล "เนลสัน แมนเดลา" ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ประจำปี 2564 หรือ Nelson Mandela Award for Health Promotion 202 ให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Assembly : WHA) สมัยที่ 7 ในปีนี้
ซึ่งรางวัลเนลสันแมนเดลา เพื่องานส่งเสริมสุขภาพ เป็นหนึ่งใน 4 รางวัลเกียรติยศของบุคคลและองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นในการทำงานพัฒนาด้านสาธารณสุขในประเภทต่างๆ ได้แก่
1.รางวัลซาซากาว่าแห่งสหประชาชาติเพื่อการสาธารณสุข ซึ่งมอบให้กับ ดร.หวู หาว (Wu Hao) จากประเทศจีน และ ดร.อามาล ซาอิฟ อัล-มานี (Dr Amal Saif Al-Maani) จากประเทศโอมาน
2.รางวัลชีค ซาบา อัล-อาเหม็ด อัล-ซาบาห์ เพื่อการวิจัยงานสาธารณสุขเพื่อการดูแลผู้สูงอายุและการส่งเสริมสุขภาพ มอบให้กับ “ศูนย์แห่งชาติเพื่อผู้สูงอายุ” หรือ National Center for Gerontology ประเทศจีน
3.รางวัล ดร. ลี จง-วุค เพื่อการสาธารณสุข มอบให้กับสถาบันภาครัฐ "ศูนย์วิจัยแห่งชาติเพื่อรังสีแพทย์" สถาบันวิชาการแพทยศาสตร์แห่งชาติยูเครน
บทพิสูจน์ที่โลกยอมรับ
แม้การจัดงานปีนี้จะเป็นปีที่สองที่จัดผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากการระบาดโควิด-19 แต่ก็ยังได้รับความสนใจจากภาคีทั่วโลก
โดย ดร.ซเวลินี่ มะคีเซ่ (Dr.Zwelini Mkhize) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประเทศแอฟริกาใต้ ในฐานะผู้แทนมอบรางวัลเนลสัน แมนเดลา กล่าวว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้กล่าวยกย่อง สสส. ว่า เป็นองค์กรที่เหมาะสมกับรางวัลทรงคุณค่านี้ ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับการทำงานของ สสส. ซึ่งมีแนวการทำงานที่ตรงกับข้อคิดของ เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ ที่ว่า "สุขภาพที่ดีไม่ใช่เป็นเงื่อนไขตามรายได้หรือฐานะคน แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์"
ทั้งนี้ สสส. มีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยยึดมั่นในพันธกิจหลักในการเป็นตัวแทนของความเท่าเทียม เข้าถึง ด้านสุขภาพ เพื่อให้ "คนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีความสามารถและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี"
"ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จนี้ และขอให้ สสส. มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ในขณะที่เราร่วมกันเป็นประชาคมโลกในการสร้างระบบการดูแลสุขภาพที่มีความยืดหยุ่น สนองตอบอย่างรวดเร็วต่อภาวะวิกฤตหรือความต้องการของสังคมที่เกิดขึ้นใหม่ อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด-19" ดร.ซเวลินี่ กล่าวชื่นชม
สสส. เป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 มาตรา 5 เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน โดยมีพันธกิจหลัก นั่นคือ การจุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังบุคคลและองค์กรทุกภาคส่วน ให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ
บทบาทหน้าที่หลักของ สสส. คือการ "สร้าง" และ "ส่งเสริม" กลุ่มคนทำงานที่ไม่จำกัดเพศ วัย อายุ การศึกษา สถานะ หรือแม้แต่เชื้อชาติ มาร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในด้านสุขภาวะคนไทย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ สสส.นิยามว่า "ภาคีเครือข่าย" ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่าสองหมื่นรายทั่วประเทศ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สสส. ได้ทำหน้าที่เป็น "องค์กรนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ" ที่ใช้กลไกทางการเงินการคลัง จากส่วนเพิ่มของภาษีสรรพสามิตยาสูบและแอลกอฮอล์ ในการทำงานลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยสร้างสุขภาพ โดยสนับสนุนแผนงาน/โครงการสุขภาวะจำนวน 3,000 โครงการต่อปี ขับเคลื่อนผ่านความร่วมมือของภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การเพิ่มขีดความสามารถบุคคลให้มีวิถีชีวิตสุขภาวะ ไปถึงการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม นโยบาย และโครงสร้างทางสังคมให้เอื้อต่อสุขภาวะ ในการก้าวสู่ทศวรรษที่สาม สสส. ยังเต็มไปด้วยแรงใจและความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง การคิดค้น และขับเคลื่อนนวัตกรรม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีและสังคมมีสุขภาวะอย่างยั่งยืน สสส. มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนค่านิยมในสังคมไปสู่สังคมมีสุขภาวะที่ดีและมีความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น
ซึ่งรางวัลนี้ถือเป็นการเชิดชูความทุ่มเทพยายามเพื่อขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ ที่เป็นข้อพิสูจน์ของขบวนการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
“ผมไม่อยากเอ่ยขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกคน เพราะมองว่าภาคีคือเจ้าของรางวัลนี้ ไม่ใช่ สสส. กับการเดินทางมาด้วยกันตลอดสองทศวรรษ ที่ร่วมขับเคลื่อนงานด้านส่งเสริมสุขภาวะกันมาโดยตลอด จึงอยากให้เป็นรางวัลที่ภาคภูมิใจคนทำงานทุกคนจริง ๆ ซึ่งรางวัลเป็นการพิสูจน์ว่าผลงานที่พวกเราทุกคนทำมานั้น ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งสำหรับหลายคนที่ไม่มั่นใจว่าเราจะไปถึงหรือไม่ ขอให้มั่นใจ ขอให้เชื่อมั่นถึงเป้าหมายที่เราจะเดินต่อในทศวรรษที่สามต่อไป จากการได้รับรางวัลนี้”
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ได้รับรางวัล
กว่าสองทศวรรษที่ สสส. สนับสนุนแผนงานและโครงการส่งเสริมสุขภาพกว่า 2,000 โครงการต่อปี ใน 15 แผนหลัก ครอบคลุมประเด็นเชิงสุขภาวะที่หลากหลาย บางโครงการที่การสนับสนุนจาก สสส.เปรียบเสมือนน้ำมันหล่อลื่นที่ทำให้โครงการสามารถช่วยเร่งการขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น และแม้บางโครงการความสำเร็จจากผลการดำเนินงาน ไม่อาจวัดผลได้ในเชิงปริมาณ หรือยังเพิ่งดำเนินการเริ่มต้น แต่สุดท้ายปลายทางที่เกิดจากการสนับสนุนของ สสส. มักสร้างอิมแพคท์ให้เกิดขึ้น โดยเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกภายใน
"ภายนอก" คือการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและสุขภาวะในเชิงบวก ส่วน "ภายใน" คือการปรับมายด์เซ็ตใหม่ให้คนไทยหลายคนหันมาสนใจสุขภาพทั้งกายและใจ กลายเป็นพลังของพลเมืองตื่นรู้ หรือ Active Citizen ให้เกิดขึ้น
ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ไตรพลัง เอื้อให้ภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนได้ดำเนินงาน แผนงานเหล่านี้ถูกออกแบบให้เป็น “ตัวเร่ง” และ “คานงัด” ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และระดับสากล
1. การสนับสนุนการพัฒนาและผลักดันให้เกิดกฎหมายและนโยบายที่เอื้อต่อสุขภาพจำนวนมาก ในช่วงสองทศวรรษนับตั้งแต่ก่อตั้งสสส. ประเทศไทยมีอัตราการออกกฎหมายหรือการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดในการควบคุมยาสูบที่สอดคล้องกับ WHO FCTC เช่น ข้อกำหนดว่าคำเตือนที่เป็นภาพต้องครอบคลุมอย่างน้อย 85% ของซองบุหรี่ และ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งพรบ.ดังกล่าวได้เพิ่มความเข้มงวดเรื่องการห้ามโฆษณาการขายและการส่งเสริมการขายยาสูบ
นอกจากนี้ ยังเกิดร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารส่าหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 นโยบายจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวาน (Sugar-sweetened Beverages Tax) เริ่มในปี 2560 และ นโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมในโรงเรียนหลายพันแห่งทั่วประเทศไทย เป็นต้น
2. สนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานทางสังคมไปสู่สังคมที่มีสุขภาวะและความเท่าเทียม หากจำได้งานเทศกาลเชิงวัฒนธรรมและกิจกรรมสังคมที่ปลอดแอลกอฮอล์ค่อยๆ กลายมาเป็นบรรทัดฐานทางสังคม เช่น งานเทศกาลสงกรานต์ปลอดเหล้า งานเข้าพรรษาปลอดเหล้า แคมเปญรณรงค์บนสื่อต่างๆเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน การสนับสนุนการพัฒนาและนำใช้กลไนวัตกรรมทางสังคมเพื่อเสริมพลังและสร้างสภาพแวดล้อมเกื้อหนุนประชากรกลุ่มเปราะบางเช่น การจ้างงานคนพิการที่เป็น "ลูกจ้าง" เป็นต้น รวมถึงแคมเปญการตลาดเพื่อสังคมของ สสส. ประสบความสำเร็จในการสร้างความตระหนักด้านสุขภาพ
3. แสดงบทบาทนำในการเผยแพร่รูปแบบที่มีประสิทธิภาพของกลไกนวัตกรรมการเงินการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ รวมทั้งให้การช่วยเหลือทางวิชาการด้านสร้างเสริมสุขภาพแก่สู่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ(LMICs) ภายใต้ สสส.โมเดล ที่จัดสรรจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (เช่นยาสูบและแอลกอฮอล์) เป็นแหล่งรายได้ที่เหมาะสมและยั่งยืนสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพ
4. ส่งมอบคุณค่าที่ได้รับการพิสูจน์แล้วต่อสังคมไทยและมีความสามารถในการตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ในปี 2555 ผลการศึกษาผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) ของสสส. จัดทำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าการลงทุนของสสส. ให้ผลตอบแทนที่ดีต่อสังคม เช่น แผนงานด้านความปลอดภัยทางถนนให้ผลตอบแทน 130 เท่า และ แผนงานด้านการควบคุมยาสูบให้ผลตอบแทนถึง 18 เท่า
5. มีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของตัวชี้วัดทางสุขภาพและผลลัพธ์ทางสุขภาพ อาทิ
- อัตราการสูบบุหรี่ในประเทศไทยลดลงจาก 25.47% (2544) เป็น 19.1% (2560)
- อัตราการบริโภคการดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจาก 32.7% (2547) เป็น 28.4% (2560) ปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ยของผู้ใหญ่ลดลงจาก 8.1 ลิตรต่อหัวประชากร (ปี 2548) เป็น 6.9 ลิตร (ปี 2557)
- จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรลดลงจาก 21,996 (2554) เป็น 19,904 (2562)
- จำนวนประชากรไทยที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอเพิ่มขึ้นจาก 66.3% (2555) เป็น 74.6% (2562)
- รายงานการติดตามความคืบหน้า NCD ระดับโลกปี 2560 พบว่า ประเทศไทยมีผลการดำเนินงานอันดับ 3 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน โดยวัดจากประสิทธิผลของการดำเนินงานในการป้องกันและควบคุมโรค NCD ตามมาตรการที่คุ้มค่าสูงสุดของ WHO และมาตรการที่แนะนำอื่นๆ
นอกจากนี้ สสส. ยังสนับสนุนการทำงานเชิง Settings ตามแนวทางองค์การอนามัยโลก เช่น การส่งเสริมสุขภาพในชุมชน สถานที่ทำงาน โรงเรียนและครอบครัว รวมถึงขับเคลื่อนแนวทางมุ่งสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มประชากรที่เปราะบางในสังคม ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคส่วนสุขภาพและภาคส่วนอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพ
ความในใจจากภาคี สสส.
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ และอดีตเลขาธิการเครือข่ายกองทุนสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ (เครือข่ายสสส.โลก) ปี 2554-2556 กล่าวว่า การก่อตั้ง สสส. เป็นผลจากการทำงานควบคุมยาสูบระยะหนึ่ง ที่เราเริ่มจากผลักดันด้านกฎหมายและภาษี แต่สิ่งที่ตามมาคือ เรามีกฎหมายแต่ไม่มีงบประมาณที่จะทำให้เกฎหมายมีการบังคับจริง จึงเป็นที่มาหากลไกเพื่อนทำงานควบคุมยาสูบยั่งยืนเราพิสูจน์มายี่สิบปีว่ากองทุนนี้มีผลงาน ทำได้จริง และผลงานสร้างเสริมสุขภาพที่สั่งสมมาตลอดเกือบ 20 ปี ทำให้องค์การอนามัยโลกภาคพื้นต่างๆ เห็นถึงความสำคัญของการมีองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ จึงมุ่งสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศสมาชิก ก่อตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ตามอย่าง สสส.ไทย โดยให้ สสส.ไทย และหน่วยงานสุขภาพของไทย เป็นพี่เลี้ยงช่วยในการก่อตั้ง จนขณะนี้มีประเทศที่สามารถก่อตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพสำเร็จจากความช่วยเหลือของ สสส.ไทย แล้วคือ มาเลเซีย ตองก้า มองโกเลีย เกาหลีใต้ เวียดนาม และสปป.ลาว
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต กล่าวว่า การได้รางวัลแสดงแนวคิดของการส่งเสริมสุขภาพ สสส.ได้รับการยอมรับทั่วโลก นั่นคือมีหลายมิติเกี่ยวโยงกัน คือสุขภาวะทางกาย จิต และปัญญา ทำให้เกิดสุขภาวะทางกาย อีกแนวคิดสำคัญคือการป้องกัน เราเพียงแต่จะใช้ยาหรือหมอป้องกันคนเจ็บป่วยอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องป้องกันและใส่ใจสุขภาวะอย่างครบถ้วน
ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และ หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ร่วมก่อตั้งจอมบึงมาราธอน กล่าวว่า ผมมีโอกาสได้เข้ามาส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และมีส่วนร่วมในเรื่องปัจจัยเสี่ยงสุขภาพต่างๆ อาทิ เหล้า บุหรี่ โดยเฉพาะเครือข่ายนักวิ่ง มีบทบาทสำคัญกับการทำงานเชิงบูรณาการงานรณรงค์งดเหล้าและแอลกอฮอล์ ความภูมิใจคือ ตลอดระยะเวลายี่สิบปี เราเริ่มจากประเทศไทยมีคนวิ่งเพียงห้าล้านคน แต่ปี 2562 เราสามารถส่งเสริมให้คนไทยหันมาวิ่งถึง 16-17 ล้านคน