ก่อนฉีด’วัคซีน’ ผู้ป่วยตับ ไต กระดูกพรุน ควรเตรียมตัวอย่างไร
ลองเช็คดูว่า ถ้าป่วยเป็น"โรคตับ ไต กระดูกพรุน ปลูกถ่ายอวัยวะ" หากจะเตรียมตัวก่อนฉีด“วัคซีน”ป้องกันไวรัสโควิด ควรรู้เรื่องอะไรบ้าง เพราะบางกลุ่มโรคมียาบางอย่างควรงด
การฉีดวัคซีนวัคซีน เป็นอีกเรื่องที่คนทั้งประเทศกังวล เพราะหลายคนมีพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ป่วย ไม่ว่าจะโรคตับ ไต กระดูกพรุน และถ่ายถ่ายอวัยวะ ซึ่งแต่ละคนมีอาการมากน้อยต่างกัน แค่โรคไตก็มีทั้งแบบฟอกไต หรือต้องดูแลแบบประคับประคอง
ถ้าอย่างนั้นลองเช็คคร่าวๆ ว่า ยาชนิดไหน ต้องงดก่อนฉีดวัคซีน...
สิ่งที่ผู้ป่วย‘โรคตับ’ควรรู้
เนื่องจากผู้ป่วยโรคตับแข็งที่มีภาวะตับวายร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ เมื่อติดเชื้อโควิด-19 จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขึ้น
ผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับหลายคนมักมีโรคเบาหวานร่วมด้วย รวมถึงผู้ป่วยโรคตับจากการแพ้ภูมิตนเอง และผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนตับ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิต้านทาน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 ที่รุนแรง และหากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก ดังนั้น
1. โรคตับแข็งระยะท้ายและผู้ได้รับยากดภูมิต้านทาน ระบบภูมิต้านทานของร่างกาย จะมีความบกพร่องทำให้ติดเชื้อง่าย แม้ว่าโอกาสตอบสนองหรือผลของวัคซีนจะลดลง แต่ก็ควรเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง
2. ผู้ป่วยโรคตับแข็งที่มีภาวะตับวายร่วมด้วย ผู้ป่วยโรคตับที่อายุมากผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับที่เป็นเบาหวาน และผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิของตับที่ต้องได้รับยากดภูมิต้านทาน สามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ทุกชนิด โดยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามปกติของวัคซีนแต่ละชนิดได้
3. ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังระยะที่ยังไม่ถึงระยะตับแข็ง สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ทุกชนิด
ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2564
ที่มา : รศ. ดร. นพ.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์
........................
การเตรียมตัวสำหรับผู้ป่วยโรคไต
ผู้ป่วยโรคไตมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ง่าย เนื่องจากไตทำงานผิดปกติ โดยเมื่อติดเชื้อมักจะมีอาการรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น
สิ่งที่ควรระวังคือ ผู้ป่วยโรคไตวายที่จำเป็นต้องเดินทางไปฟอกไตที่โรงพยาบาลหลายครั้งต่อสัปดาห์ อาจทำให้เสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคโควิด-19 ได้มากขึ้น ควรเคร่งครัดตามมาตรการการป้องกันตนเอง เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยครั้ง และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตที่ควรได้รับวัคซีนโควิด
1. ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
2. ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต โดยรักษาด้วยการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม และล้างไตทางช่องท้อง
3. ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต
โดยผู้ป่วยโรคไตที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรืออยู่ในระหว่างการได้รับยากดภูมิคุ้มกันขนาดสูง สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนฉีดวัคซีน
ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2564
ที่มา : รศ. ดร. นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์
.............................
ก่อนฉีดวัคซีน ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ต้องเช็คอะไรบ้าง
1. ยาชนิดรับประทาน สามารถใช้ต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่งได้ทุกชนิด
2. ยาชนิดฉีดใต้ผิวหนังทุก 6 เดือน
– ควรเว้นระยะห่างก่อนหรือหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นาน 4-7 วัน
– หากจำเป็นต้องฉีดวันเดียวกัน ให้ฉีดในตำแหน่งที่แตกต่างกัน เช่น ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ต้นแขนแต่ฉีดยารักษาโรคกระดูกพรุนที่หน้าท้อง
3. ยาชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด ทุก 1 ปี ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 7 วัน เพื่อสังเกตอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด ทั้งจากวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และจากยาฉีด
4. ยาชนิดฉีดทุกวัน แนะนำให้ฉีดอย่างต่อเนื่องตามปกติ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนสามารถรับประทานแคลเซียมและวิตามินดีตามที่แพทย์สั่งได้อย่างต่อเนื่อง
ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2564
ที่มา : รศ. พญ.ลลิตา วัฒนะจรรยา
................................
วัคซีนโควิดกับผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับยากดภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไป จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคโควิด-19 และมีอาการป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้นผู้ปลูกถ่ายอวัยวะที่มีอาการคงที่ และได้รับยากดภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง ควรรีบฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19เร็วที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องหยุดยาก่อนฉีดและหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
ผู้รอการปลูกถ่ายอวัยวะ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก่อนเข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะอย่างน้อย 1 เดือน โดยปกติผู้ที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะมักจะมีโรคประจำตัวอยู่ เช่น โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคตับแข็ง โรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งจะเพิ่มความรุนแรงเมื่อติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้
คำแนะนำจากแพทย์
ผู้ป่วยที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ หรือได้รับการรักษาภาวะปฏิเสธอวัยวะ และได้รับยากดภูมิคุ้มกันในขนาดสูง ให้เว้นการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เดือนและควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
ครอบครัวและบุคคลใกล้ตัวของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อและแพร่เชื้อสู่ผู้ป่วย
ข้อมูล ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2564
ที่มา : รศ. นพ.ณัฐวุฒิ โตวนำชัย
...................
ที่มา : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย