'งดเหล้าเข้าพรรษา' กับ ‘สื่อรักให้พักเหล้า’ พลังสื่อเล็กๆ แต่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ ‘ไม่เล็ก’
“งดเหล้าเข้าพรรษา” ปีนี้มีธีมภายใต้แนวคิด “สื่อรักให้พักเหล้า ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” เป็นสื่อขับเคลื่อนให้คนไทยงดดื่มเหล้าตลอด 3 เดือน
นับเป็นเวลา 18 ปี ที่ชื่อของ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ถูกพูดถึงในสังคมไทย เป็นประจำในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี
ซึ่งเกิดจากความสำเร็จของการนำทุนทางศาสนามาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างค่านิยมใหม่ให้กับสังคมไทย ให้หันมาลด ละ เลิก จากการดื่ม ลดอบายมุข เพื่อดูแลสุขภาพให้ห่างไกลแอลกอฮอล์ เป็นเวลาอย่างน้อยปีละ 3 เดือน
ปัจจุบันได้กลายเป็นกิจกรรมหลักที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ และมีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้นทุกปี และแม้ปีนี้ งดเหล้าเข้าพรรษา จะยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้า เพราะมีการปรับธีมปีนี้ให้เข้ากับสถานการณ์ ด้วยแนวคิด “สื่อรักให้พักเหล้า ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” ที่เป็นการนำทุนสังคมอีกรูปแบบมาเป็นสื่อขับเคลื่อนให้คนไทยงดดื่มเหล้าได้ตลอด 3 เดือน
โดย สื่อรักให้พักเหล้า เป็นการต่อยอดจากแนวคิดโครงการ “โพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า” โครงการที่เล็งเห็นว่า “เด็กและเยาวชน” เปรียบเสมือนเป็นสื่อสีขาวที่มีพลังในการชักจูงใจพ่อแม่ได้เป็นอย่างดี ปีนี้โครงการจึงเน้นการพัฒนาแกนนำรุ่นเล็ก มาเป็นแม่เหล็กในการขับเคลื่อน
ลดโรค ลดเสี่ยง สร้างความรัก
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การทำงานรณรงค์งดดื่มแอลกอฮอล์ของ สสส. ที่ผ่านมา เป็นการขับเคลื่อนงานในเชิงวัฒนธรรม งานเชิงความคิดและทัศนคติ ควบคู่ไปกับการผลักดันด้านนโยบายและกฎหมาย เพื่อเป็นการปลูกฝังแนวคิดใหม่ให้สังคมให้มีค่านิยมด้านสุขภาพเชิงบวก
โดยเป้าหมายหลักของกิจกรรมปีนี้คือ การเปลี่ยนจากเด็กที่เคยเป็นเหยื่อหรือผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์มาเป็นผู้ทำหน้าที่เสมือนสื่อกลางที่คอยส่งเสริมให้ผู้ปกครองลด ละ เลิกเหล้า แทน
“เรามุ่งเน้นไปที่กลุ่มสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากในช่วงสถานการณ์โควิด 19 เป็นช่วงที่เด็กต้องอยู่บ้านมากขึ้น และได้เห็นผู้ใหญ่ดื่มมากขึ้น เราอยากมุ่งความสนใจไปที่ผลกระทบจากการดื่มสามารถส่งผลเสียต่อครอบครัวมากมาย ที่สำคัญโครงการปีนี้ นอกจากลดปัจจัยเสี่ยงในครอบครัวแล้ว ยังเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ และภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชนในการที่จะเติบโตไปผู้ใหญ่ได้อีกด้วย”
ดังนั้น งานส่วนหนึ่งคือการให้เยาวชนมีส่วนร่วมในกระบวนการ ลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหานี้ เพราะจะทำให้เกิดความยั่งยืนกว่า
“เรามองว่าพลังของคลื่นลูกใหม่มีความสำคัญ เขาจะเป็นหน่ออ่อน ที่เราสามารถสร้างพฤติกรรมตั้งต้นให้กับเยาวชนไทย ปลูกฝังค่านิยมวัฒนธรรมความเชื่อที่สามารถส่งผลต่อพฤติกรรมในอนาคต และยังเป็นเกราะป้องกันด้านต่าง ๆ ไม่เพียงปัญหาสุขภาพกาย แต่ยังรวมถึงมิติอื่นๆ ด้วย” ผู้จัดการ สสส.เอ่ย
งดเหล้า ลดเสี่ยง ลดกระจาย ลดรายจ่าย
“ในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 เราเชื่อว่าการจัดรณรงค์งดดื่มในโครงการนี้ จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยลดความเสี่ยง และช่วยลดภาระของระบบการแพทย์การรักษาที่กำลังแบกรับภาระหนักอย่างยิ่งได้อีกทาง”
คำบอกเล่าของ ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.กล่าวถึงเป้าหมายการทำงานปีนี้
งดเหล้าเข้าพรรษา เป็นโครงการที่ได้ริเริ่มโดย สคล. และ สสส. ตลอดจนภาคีเครือข่ายหลากหลาย ที่ร่วมกันพัฒนา ขยายนวัตกรรมการรณรงค์งดดื่มในหลากหลายรูปแบบ และจากการรณรงค์ งดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2563 ที่ผ่านมา กับภาคีเครือข่ายชุมชน 392 แห่งทั่วประเทศ ช่วยให้สามารถทำให้ประหยัดเงินได้ถึง 21 ล้านบาท พร้อมอีกผลสำเร็จที่เกิดขึ้นคือครอบครัวชุมชนมีความสุขมากขึ้น
ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว แห่งศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เผยถึงข้อมูลจากการสำรวจการดำเนินโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาที่ผ่านมา โดยมีการประมาณการณ์ว่าปีที่แล้วมีผู้ดื่ม 24 ล้านคน มีคนงดเหล้าเข้าพรรษาได้ 50.4% ตอบเข้าร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา และงดได้จนครบมีประมาณ 30% จากผู้ดื่มทั้งหมดหรืองดได้ตลอดเทศกาล ซึ่งเหตุผลที่เลือกงดเหล้า 30% ระบุว่า เป็นกิจกรรมที่ทำเป็นกิจวัตรในช่วงเข้าพรรษาอยู่แล้ว นอกจากนั้น ยังมองว่าการพักดื่มจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพ หรือบางรายครอบครัวขอให้งด เพื่อนชวนสังคม และบ้างกลัวโควิด 19
“จากการสำรวจพบว่ามี 40% ตั้งใจจะงดต่อ เพราะรู้สึกว่าหลังงดเหล้าแล้วรู้สึกว่ามีสุขภาพดีขึ้น ลดรายจ่าย ลดปัญหาในครอบครัว ซึ่งโดยเฉพาะสามารถประหยัดเงินได้ 500-5,000 บาท ในช่วงสามเดือน บางรายสูงถึงสองหมื่นบาท”ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
สำหรับการขยายผลมาสู่ “สื่อรักให้พักเหล้า” กิจกรรมตอบรับชีวิตวิถีใหม่สไตล์นิวนอร์มอลในปีนี้เป็นการกระตุ้นเตือนใจให้เลิกดื่มเพื่อคนที่รัก
“ปีนี้ เราปรับแนวทางกิจกรรม โดยเน้นที่การทำงานกับคนกลุ่มเล็ก หรือคนในครอบครัว จึงนำแนวคิดโครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอให้พ่อแม่เลิกเหล้า ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกับเครือข่ายด้านการศึกษา นั่นคือ โรงเรียนที่จะหนุนเสริมให้เด็ก ๆ เขียนจดหมายเชิญชวนพ่อแม่ให้เลิกเหล้า โดยช่วงเข้าพรรษาปีที่ผ่านมาพบว่ามี โรงเรียนมากกว่าพันห้าร้อยแห่งที่เข้าร่วมโครงการ” ธีระเอ่ย
ธีระเชื่อว่า การรณรงค์ครั้งนี้จะทำให้ได้ประโยชน์หลายระดับ เพราะทั้งประโยชน์แก่เด็กเองที่ได้สร้างภูมิคุ้นกัน ประโยชน์ต่อครอบครัวที่จะใช้โอกาสนี้ในการสร้างความสุขในครอบครัว และประโยชน์ในการสร้างลดความเสี่ยงทางสุขภาพของคนในสังคมได้
อย่าดื่มให้ลูกเห็น
เมื่อมีการวิจัยชี้ชัดว่า ครอบครัวที่มีคนดื่มจะทำให้เด็กเริ่มดื่มเร็วกว่าครอบครัวที่ไม่ดื่ม ซึ่งในเรื่องนี้ รศ.พญ.รัศมน กัลป์ยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุรา และการเสพติดทางโทรศัพท์ 1413 อธิบายถึงสถิติการเพิ่มขึ้นนักดื่มหน้าใหม่วัย 15-19 ปี ว่ามีแนวโน้มดื่มสุราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2550 พบว่ามีเริ่มดื่ม 12.9% แต่ในปี 2558 เพิ่มถึง 19.4% ซึ่งยังมีแนวโน้มผันตัวเป็นผู้ดื่มประจำ
“ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังระบุว่าสาเหตุของการเริ่มแม้ส่วนใหญ่จะดื่มตามเพื่อนหรือสังคม ตลอดจนสื่อการตลาดต่าง ๆ แต่อีกประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือการดื่มในครอบครัว”
รศ.พญ.รัศมน เผยถึงข้อมูลการวิจัยในออสเตรเลีย ที่พบว่า กลุ่มที่เข้าถึงสุรา มีครอบครัวหรือผู้ปกครองเป็นคนเริ่มให้เด็ก และพบว่า เด็กเหล่านี้มีโอกาสดื่มหนักในคราวเดียวสูง และมีโอกาสเพิ่มที่จะติดสุรา 2-2.5 เท่า ส่วนในสหรัฐพบว่า การมีผู้ใหญ่ในบ้านที่ดื่มเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เด็กมีแนวโน้มเริ่มการดื่มและดื่มหนัก รวมถึงการใช้บุหรี่และสารเสพติด ขณะที่ในอังกฤษมีงานวิจัยระบุว่า การที่ผู้ปกครองมีฐานะทางสังคมต่ำ การศึกษามารดาต่ำ หรือใช้สารเสพติด จะสัมพันธ์อย่างยิ่งที่เด็กมีการใช้แอลกอฮอล์ในอนาคต
“สำหรับในไทย มีการเก็บข้อมูลโดยการสุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในไทยควบคู่กับผู้ปกครอง 15,578 คน หรือ 7,789 คู่ ในปี 2561-2562 ต่อเนื่องสองปี พบว่าเด็กอายุประมาณ 12 ปี เริ่มมีการดื่มหรือทดลองแอลกอฮอล์ถึง 32% และจากการติดตามในปีที่ 2 ปรากฏว่า เราพบเด็กกลุ่มเดิมมีประสบการณ์ดื่มเพิ่มขึ้น ถึง 47% แสดงว่าหนึ่งปีผ่านไป เราได้เพิ่มนักดื่มหน้าใหม่อีกในด้านปริมาณความถี่ก็เพิ่มเช่นเดียวกัน”
“ผู้ปกครอง” จึงมีอิทธิพลไม่น้อย แม้จะอยู่ในระดับอ่อน เพราะแม้สื่อและการโฆษณาต่างๆ มีส่วนส่งเสริมมากกว่าคือในระดับกลาง แต่หากได้รับอิทธิพลจากทั้งสองแหล่งขึ้นไปจะส่งผลมีโอกาสติดสุราขึ้นในระดับรุนแรง
“การเห็นผู้ปกครองดื่มทำให้เด็กรู้สึกว่าการดื่มเป็นเรื่องธรมดา ดังนั้น แม้เด็กอยู่ในบ้านก็รับความเสี่ยงได้ ดังนั้น การส่งเสริมให้เด็กปฏิเสธที่จะดื่มในบ้านเป็นสิ่งที่ควรทำ” รศ.พญ.รัศมน กล่าว
แต่อีกข้อมูลที่คาดไม่ถึงคือ บุคคลแรกที่หยิบยื่นแก้วแรกให้เด็กเริ่มดื่มคือ ผู้ใหญ่ในครอบครัวนั่นเอง
“เด็กจะรู้สึกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ที่เขาไว้ใจหยิบยื่นให้ จึงเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ปกติหรือถูกต้อง กลายเป็นสิ่งที่เขาคิดว่าต้องใช้แอลกอฮอล์เวลาเขาอยากดื่ม” รศ.พญ.รัศมนเอ่ย
รู้จัก “โพธิสัตว์น้อย”
โครงการ โพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า เป็นการใช้เครื่องมือสำคัญคือ กิจกรรมต่างๆ อาทิ “พี่สอนน้อง” และใช้ลูกหรือเยาวชนมาเป็นพลังสำคัญให้พ่อแม่เลิกเหล้า อาทิ การเขียนจดหมายสื่อรัก ปลูกผักให้ของขวัญจากใจพ่อแม่ เป็นต้น
ผศ.ดร.มนตา ตุลย์เมธาการ ภาควิชาการวัดผลและวิจัยการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครรินทรวิโรฒ ให้ข้อมูลว่า แนวคิดการจัดกิจกรรมนี้มีหัวใจหลักคือการให้เด็กทำความดีแลกกับการที่พ่อแม่ไม่ดื่มเหล้า ซึ่งผลจากการดำเนินงาน พบว่า กิจกรรมมีพ่อแม่ผู้ปกครองลดจนถึงงดดื่มไปเลย โดย 84% ยอมรับว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว และเด็กเยาวชนแกนนำเหล่านี้ยังขยายผลจิตอาสาไปช่วยระดับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ช่วยเหลือผู้อื่น
“โครงการนี้คือความภูมิใจในตัวเองของเด็ก และส่งผลต่อการเรียนที่ดี รวมถึงภาพลักษณ์โรงเรียนดีขึ้น นอกเหนือจากสุขภาพร่างกายดีขึ้น และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีกับครูและผู้ปกครอง”
กาญจนา สิริรัตน์ชัยกุล คุณครูโรงเรียนวัดโสมนัส กรุงเทพมหานคร เป็นอีกหนึ่งต้นแบบที่เห็นพลังจากการขับเคลื่อนโครงการนี้ ซึ่งแรงบันดาลใจสำคัญเกิดจากได้ทราบสถานการณ์นักเรียนของเธอเอง
“เราถามเด็กตอนเคารพธงชาติตอนเช้าว่าผู้ปกครองคนไหนดื่มเหล้าบ้าง พบว่ามีเกือบ 70-80% ทีเดียว เราก็ตกใจว่าลูกศิษย์เรามีพ่อแม่ดื่มเหล้าเยอะขนาดนี้เลย พอให้เขาออกมาเล่าหน้าเสาธง เขาก็เล่าว่าครอบครัวมีทั้งทะเลาะกันถึงขั้นรุนแรง บางรายผู้ปกครองก็ประสบอุบัติเหตุเพราะดื่มเหล้า”
หลังจากอ่านคู่มือเธอมองว่าน่าจะทำได้ง่าย เพราะมีคู่มือวิธีการบอกให้หมด จึงเริ่มลงมือทำ
“กิจกรรมที่ประทับใจคือการเขียนจดหมาย เราได้เข้าไปมีส่วนร่วม ได้ไปบ้านผู้ปกครองเลย เห็นเขาส่งจดหมายให้พ่อ เขาก็กอดลูกบอกว่าจะเลิก ซึ่งช่วงเปิดเทอมมาครูก็ถามนักเรียนเขา ก็บอกว่าหลังจากนั้นพ่อไม่ดื่มอีกเลย”
ลงมือทำคือคำตอบ
หากถามถึงความสำเร็จ น่าจะกล่าวได้ว่าสิ่งที่โครงการนี้พิสูจน์ให้เห็นคือ พลังแห่งความรักสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
“ไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่รักลูก” เสียงจากครูตา พนารัตน์ ครูโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ เธอเป็นแกนนำที่ผลักดันโครงการต่อเนื่อง ครูตาเฉลยถึงเคล็ดลับความสำเร็จของโครงการที่เธอทำมาตลอด 5 ปีว่า โรงเรียนที่เธอสอนเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เมื่อมีความคิดริเริ่มโครงการนี้ด้วยตัวเอง จึงเริ่มจากการส่งเสริมให้เด็ก ป.1 ในโรงเรียน เป็นสื่อให้กับพี่วัยมัธยมที่เริ่มกำลังจะเข้าสู่วงการนักดื่ม ด้วยการเป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดโทษและพิษภัยจากการดื่มเหล้า
“เราเริ่มดำเนินโครงการพี่สอนน้อง ทำขั้นตอนตามคู่มือ โดยให้พี่ๆ มัธยมเป็นคนไปสอนน้อง ป.1 ซึ่งทำให้เขาเรียนรู้ ซึมซับจากเรื่องที่เขาสอนไป และสุดท้ายเขาประกาศว่าจะไม่ดื่มอีก ส่วนน้อง ป.1 ก็จะมีหน้าที่ไปถ่ายทอดให้พ่อแม่ผู้ปกครองเลิกดื่มต่ออีกที”
“เราจะบอกเด็กว่า การจะเลิกดื่มได้มันเป็นเรื่องยากนะ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของลูกที่จะช่วยให้กำลังใจพ่อแม่ เด็กเขาก็จะมีวิธีของเขาที่ไม่เหมือนกันในการที่จะจูงใจพ่อแม่ ซึ่งเรามองว่าสุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้จากกิจกรรมนี้คือ คุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนเราที่ดีขึ้น และพ่อแม่บางรายจากที่ไม่เคยสนใจ ไม่เคยสอนการบ้าน ไม่ทำอาหารเช้าก็เปลี่ยนเป็นใส่ใจมากขึ้น ทำให้เราเชื่อว่ามันเปลี่ยนได้ ซึ่งคำตอบคือ การลงมือทำ”
ด้านตัวแทนพ่อผู้ยอมแพ้ใจลูกสาวเมื่อขอร้องให้เลิกเหล้า “คุณพ่อหนุ่ม” เอ่ยถึงความรู้สึก หลังลูกสาว “น้องแอปเปิ้ล” เขียนจดหมายมาขอให้เลิกดื่มว่า
“เรารู้สึกสงสารเขา เลยตัดสินใจเลิก นี่ไม่ได้กินมาสี่เดือนแล้วครับ ข้อดีประหยัดค่าเหล้าไปได้วันละ 120 บาท ส่วนที่บ้านก็ดีใจกันมากทุกคนที่เราเลิกได้ แล้วสุขภาพก็ดีขึ้น”
ส่วนเสียงสะท้อนจากเหล่ายุวทูตโพธิสัตว์น้อย อย่าง ดช.ไตรวุฒิ สุดใจ นักเรียนชั้น ป.6 เล่าว่าที่สนใจโครงการนี้ เพราะอยากให้พ่อแม่เลิกเหล้า
“ผมเขียนจดหมายให้พ่อแม่ เขาก็อ่าน แล้วบอกอยากเลิก แม้วันนี้จะยังเลิกไม่เด็ดขาด แต่ก็เลิกกินน้อยลงเยอะมาก ตอนนี้พ่อแม่เอาเงินที่กินเหล้าออมเงินได้ถึงสองพันกว่าบาทครับ”
เช่นเดียวกับ สามเณรธน ยุทธ์ คุณยศยิ่ง ที่บอกกับเราว่า ตอนเรียนอยู่ชั้น ประถมปีที่ 3 ทางบ้านมีปัญหาทางการเงิน เพราะพ่อติดเหล้ามาก และพ่อแม่ทะเลาะกันตลอด แต่พอได้มีโอกาสรู้จักกิจกรรมนี้จึงเข้าร่วม
“ตอนแรกผมไม่รู้ว่าจดหมายที่เราเขียนไปถึงบ้านตอนไหน กลับไปถึงบ้านพ่อแม่นั่งรอ เขาถามเราว่าอยากให้เลิกเหล้าหรือ เราก็บอกใช่ เขาก็รับปากบอกจะเลิก ซึ่งเราดีใจมาก”เขากล่าวพร้อมรอยยิ้ม