แปรรูปเปลือก‘จักจั่นทะเล’เป็นอาหารเลี้ยงปลา
"จักจั่นทะเล" สัตว์น้ำกลุ่มดียวกับกุ้ง และปู เมื่อรับประทานแล้วจะเหลือกระดองหรือเปลือกทิ้งนำมาแปรรูปเป็นอาหารเลี้ยงปลาช่อนทะเลได้
ชุมชนบ้านไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต นับเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ “จักจั่นทะเล” สัตว์ทะเลเฉพาะถิ่นที่อยู่คู่กับหาดไม้ขาวมายาวนาน มีลักษณะคล้ายแมลงจักจั่นแต่อาศัยอยู่ในทะเล
จักจั่นทะเล เป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับกุ้ง และปู ซึ่งชาวบ้านนิยมจับนำไปประกอบอาหาร โดยขายสดหรือนำไปนึ่งสุกและจะแกะส่วนของกระดองหรือเปลือกทิ้ง เนื่องจากเป็นส่วนที่ค่อนข้างแข็งและมีทรายปน ทำให้มีเปลือกจักจั่นเหลือทิ้งจำนวนมาก
ขณะเดียวกันในพื้นที่ยังมี “ผักลิ้นห่าน” ผักพื้นเมืองหายาก พบตามชายฝั่ง เป็นพืชอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่มีรสชาติอร่อย โดยมีจุดเด่นที่ความกรอบและรสชาติขม ทั้งนี้เมื่อชาวบ้านเก็บขายจะมีเศษผักเหลือทิ้งจากการตัดแต่งเกือบครึ่งเช่นเดียวกัน
แปรรูปจักจั่นทะเล
เพื่อนำทรัพยากรเหลือทิ้งในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า ผศ.กรรนิการ์ กาญจนชาตรี คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตภูเก็ต ได้จัดทำโครงการนำวัสดุเหลือใช้จากเมนูอาหารยอดฮิตจักจั่นทะเลสู่การแปรรูปเป็นอาหารเลี้ยงปลาช่อนทะเล ภายใต้การสนับสนุนโปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ผศ.กรรนิการ์ กล่าวว่า เดิมทีคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มีการทำงานเป็นเครือข่ายระหว่างวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาช่อนทะเลและประมงพื้นบ้านแหลมทราย วิสาหกิจชุมชนจักจั่นทะเล และวิสาหกิจชุมชนผักลิ้นห่านในพื้นที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเห็นถึงปัญหาการพัฒนาผลิตภัณฑ์และพยายามเชื่อมโยงทรัพยากรที่มีในชุมชนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้จุดเริ่มต้นการทำโครงการฯ มาจากทางกลุ่มผู้เลี้ยงปลาช่อนทะเลพบอุปสรรคในเรื่องของต้นทุนอาหารปลาที่มีราคาแพงมาก จึงพยายามหาวิธีช่วยลดค่าอาหารปลาช่อนทะเล และพบว่าบ้านไม้ขาวชุมชนส่วนหนึ่งประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรรม
“ปลาช่อนทะเลกินอาหารเม็ดแบบลอยน้ำ โดยสูตรอาหารเดิมจะมีส่วนผสมของปลาป่นกับหญ้าเนเปียซึ่งปลาป่นต้นทุนค่อนข้างสูง
ส่วนหญ้าเนเปียเริ่มหายากในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เราเห็นว่าบ้านไม้ขาวมีหยวกกล้วยและแกลบที่ชาวบ้านทิ้ง รวมทั้งยังมีเศษผักลิ้นห่านเหลือจำนวนมาก เพราะปกติเวลาชาวบ้านเก็บผักลิ้นห่านจะตัดส่วนที่ไม่ได้ใช้ทิ้ง
คือถ้าเก็บผัก 5 กิโลกรัม จะมีการตัดแต่งผักส่งขายได้เพียง 3 กิโลกรัม และจะเหลือเศษผักมากถึง 2 กิโลกรัม ขณะเดียวกันก็ยังมีเปลือกจักจั่นทะเลที่ถูกทิ้งอย่างสูญเปล่าจำนวนมาก เราจึงมีแนวคิดนำมาทดลองพัฒนาสูตรอาหารปลาช่อนทะเลด้วยการใช้ผักลิ้นห่านบดแทนหญ้าเนเปีย
และนำเครื่องในปลามาผสมกับรำที่สีจากแกลบหมักทิ้งไว้ 1 อาทิตย์ เพื่อให้เกิดกลิ่นดึงดูดปลาแทนการใช้ปลาป่น จากนั้นนำมาผสมกับเปลือกจักจั่นทะเลบดแห้ง และส่วนผสมอื่นๆ”
วัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมในสูตรอาหารไม่ได้เพียงมีคุณสมบัติที่ช่วยสร้างอาหารเม็ดลอยน้ำที่ลดต้นทุนได้เท่านั้น แต่ทั้งผักลิ้นห่านและเปลือกจักจั่นทะเลล้วนมีคุณค่าทางสารอาหารสูง
“เศษผักลิ้นห่านพบคุณประโยชน์ทั้ง วิตามินเอ โอเมก้า 3 โอเมก้า 6 วิตามินบี 3 และวิตามินบี 9 ส่วนเปลือกของจักจั่นทะเลเมื่อส่งไปวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ พบว่ามีคุณค่าทางสารอาหารมากกว่าส่วนที่เป็นตัวของจักจั่นที่ใช้รับประทานเสียอีก
โดยเฉพาะมีไขมันสูงมาก อีกทั้งยังมีแคลเซียม แมกนีเซียม แมงกานีส เหล็ก และสารอาหารอื่นๆ การนำของเหลือใช้ในชุมชนมาบดผสมเป็นอาหารเม็ด ทำให้มีต้นทุนของอาหารปลาเพียง 7 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่สูตรทั่วไปต้นทุน 12 บาทต่อกิโลกรัม
ปัจจุบันมีการนำอาหารเม็ดจากเปลือกจักจั่นทะเลและผักลิ้นห่านไปใช้เลี้ยงปลาช่อนทะเลที่ชุมชนบ้านแหลมทราย จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งยังใช้เลี้ยงปลาดุกที่ชุมชนไม้ขาวด้วย
หากแต่ว่าแม้ปลาช่อนทะเลจะสามารถกินอาหารเม็ดได้ปกติ แต่ก็ยังต้องมีการปรับปรุงพัฒนาสูตรอาหารเพิ่มเติม เพื่อให้ได้อัตราแลกเนื้อของปลาที่เหมาะสมมากขึ้น”
สร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรเหลือทิ้ง
ความพยายามของ ผศ.กรรนิการ์ กาญจนชาตรี ในการนำทรัพยากรเหลือทิ้งมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาลดต้นทุนการเพาะเลี้ยงปลาให้แก่เกษตรกร แต่ยังช่วยลดปริมาณขยะ และที่สำคัญคือการสร้างโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มให้แก่ชุมชน ยิ่งเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19
ผศ.กรรนิการ์ กล่าวว่า ขณะนี้เปลือกจักจั่นทะเลที่ถูกทิ้งอยู่ตามต้นไม้เพื่อรอการย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ชาวบ้านก็สามารถนำมาขายได้ โดยมีการรับซื้อเปลือกจักจั่นทะเลตากแห้งกิโลกรัมละ 30 บาท ขณะที่หยวกกล้วย แกลบ รวมถึงเศษผักลิ้นห่านที่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่าก็นำมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการพัฒนาอาหารปลาได้
ด้าน วิโรจน์ ประเสริฐ ตัวแทนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักจั่นทะเล เล่าว่า การนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ ช่วยให้เกิดการพัฒนาหมู่บ้าน และสุพรรณ แพทย์ปฐม ตัวแทนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวว่า โครงการฯ ช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมที่นอกเหนือจากการทำเกษตรตามวิถีชีวิตเดิม
ขณะที่ ชุติมา เพ็ชรรณรงค์ ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักลิ้นห่าน เล่าว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 สร้างผลกระทบกับคนในพื้นที่อย่างมาก แต่เดิมตนทำงานในโรงแรม พอมีการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยว โรงแรมถูกปิด ขาดรายได้
"เมื่อมีโครงการฯ นี้เข้ามา ทำให้เราสนใจเข้าร่วมวิสาหกิจชุมชนเพื่อปลูกผักลิ้นห่าน ซึ่งทำให้มีอาชีพและรายได้สำหรับนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตอนนี้มีรายได้ 3,000-5,000 บาท อีกทั้งยังช่วยเปลี่ยนวิถีชุมชนจากเดิมที่เคยต่างคนต่างอยู่ก็เกิดเป็นเครือข่าย มีความสามัคคีกันภายในชุมชนมากขึ้น