‘ภาษีบุหรี่’ จุดอ่อนอันดับหนึ่งของ ‘การรณรงค์ลดการสูบบุหรี่’ ในประเทศไทย
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวถึงระบบ “ภาษีบุหรี่” ที่ใช้อยู่ขณะนี้ยังมีจุดอ่อน ได้คะแนนในระดับที่ “สอบตก” โดยได้ 1.75 จากคะแนนเต็ม 5 ตามเกณฑ์การประเมินผลของศูนย์ภาษียาสูบ มหาวิทยาลัยชิคาโก
หลักฐานจากประเทศต่างๆ ปรากฏตรงกันว่า การที่จะทำให้ประชากรสูบบุหรี่ลดลงคือ การขึ้นภาษีเป็นมาตรการสำคัญที่สุด โดยภาษีจะมีส่วนทำให้การสูบบุหรี่ลดลงประมาณ 50% อีก 50% จะเป็นผลจากมาตรการอื่นๆ ทั้งหมดรวมกัน เช่น การห้ามโฆษณา ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ การรณรงค์ การรักษาให้เลิกสูบบุหรี่ ฯลฯ
เมื่อใกล้กำหนดที่จะมีการประกาศกำหนดอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ของกระทรวงการคลัง จึงมีข่าวในสื่อถี่มากเกี่ยวกับโครงสร้างและอัตราภาษียาสูบที่กระทรวงการคลังจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ เพื่อประกาศบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้ แทนระบบภาษีที่ใช้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560
ระบบภาษีที่ใช้อยู่ขณะนี้ ได้คะแนนในระดับที่ “สอบตก” โดยได้ 1.75 จากคะแนนเต็ม 5 ตามเกณฑ์การประเมินผลของศูนย์ภาษียาสูบ มหาวิทยาลัยชิคาโก
จุดอ่อนของภาษียาสูบที่ใช้อยู่
ภาษีบุหรี่ ซิกาแรตใช้ระบบ 2 อัตรา เปิดโอกาสให้บริษัทบุหรี่ลดราคาลงมาเพื่อจะได้เสียภาษีน้องลงทำให้ราคาขายปลีกเฉลี่ยลดลง รัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลง
ขณะที่ ภาษียาเส้น เก็บในอัตราที่ต่ำมากๆ ทำให้ราคาขายปลีกบุหรี่ยาเส้นซองต่อซอง ต่ำกว่าบุหรี่ซิกาแรต 6-7 เท่า คือ ราคายาเส้นซองละ 10-12 บาท เทียบกับบุหรี่ซิกาแรตราคาถูกที่สุดซองละ 60 บาท
ความแตกต่างของราคาบุหรี่ยาเส้นกับบุหรี่ซิกาแรต ทำให้เวลาขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรตมีราคาแพงขึ้น คนสูบบุหรี่จะหันไปสูบยาเส้นราคาถูกๆ แทนที่จะเลิกสูบ ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของภาษียาสูบ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุด ที่จะทำให้ คนเลิกสูบ หรือ สูบน้อยลง และป้องกันไม่ให้เด็กเข้ามาเสพติดบุหรี่ ราคายาเส้นที่ถูกมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ เข้ามาติดบุหรี่
ระบบภาษียาสูบที่ใช้อยู่ ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายควบคุมยาสูบโลก ที่แนะนำให้ใช้ภาษีอัตราเดียว และยาสูบต่างชนิดกันต้องมีระดับภาษีที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ราคาขายไม่แตกต่างกันมากระบบภาษียาสูบที่กระทรวงการคลังใช้อยู่ จึงไม่ได้ทำให้เก็บภาษีได้มากเท่าที่ควรจะเก็บได้ และการสูบบุหรี่ก็ไม่ได้ลดลง ขณะที่รัฐบาลก็ต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลคนไทยที่ป่วยจากการสูบบุหรี่ยาเส้น ไม่แตกต่างกันกับคนที่ป่วยจากบุหรี่ซิกาแรต ตัวเลขที่บ่งบอกถึงขนาดของปัญหายาเส้นคือ ในจำนวนคนสูบบุหรี่ 10 ล้านคน เกือบ 5 ล้านคนสูบบุหรี่ยาเส้น
ในอิสราเอล สมาคมมะเร็งและองค์กรควบคุมยาสูบได้ฟ้องศาล ขอให้ศาลสั่งการให้กระทรวงการคลังขึ้นภาษียาเส้นให้ใกล้เคียงกับภาษีบุหรี่ซิกาแรต และศาลสูงตัดสินให้กระทรวงการคลังต้องดำเนินการตามฟ้อง ทั้งที่อิสราเอลเก็บภาษีซิกาแรตสูงกว่าภาษียาเส้นต่างกัน 3 เท่า เทียบกับของเราที่ต่างกัน 6-8 เท่า
ในอังกฤษเก็บภาษีบุหรี่ซิกาแรตซองละ 8 ปอนด์เศษ และภาษียาเส้น ซองละเกือบ 6 ปอนด์ ระบบภาษีของอังกฤษได้คะแนน เกือบ 5 จาก 5 คะแนนเต็ม
จึงหวังว่า การปรับโครงสร้างภาษีของไทยครั้งใหม่นี้ จะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ทำให้ได้นโยบาย วินวิน คือ จะช่วยชีวิตคนไทยนับหมื่นนับแสนคนจากการที่เลิกสูบบุหรี่ได้ และป้องกันเด็กนับแสนคนจากการเสพติดบุหรี่ (วิน) นอกเหนือจากการที่กระทรวงการคลังจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น (วิน)
บริษัทบุหรี่คิดอย่างไรกับภาษีบุหรี่?
เอกสารลับของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่บันทึกไว้ตั้งแต่ ค.ศ.1985 ว่า “สิ่งที่เรากลัวมากที่สุดคือการขึ้นภาษี ในประสบการณ์ของเรา ภาษีทำให้การสูบบุหรี่ลดลงมากที่สุด ภาษีจึงเป็นเรื่องที่อยู่ใจกลางความคิดของเราเรื่องยาสูบและสุขภาพ และเป็นเรื่องที่เราทุ่มเททรัพยากรมากที่สุดตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา” บริษัทบุหรี่ข้ามชาติเดียวกันนี้ทำธุรกิจขายบุหรี่ในประเทศไทยอยู่ขณะนี้ คงไม่ยากที่จะคิดต่อได้ว่าเขาทุ่มเททรัพยากรไปทำอะไรเกี่ยวกับการกำหนดภาษียาสูบของประเทศต่างๆ ให้เอื้อต่อผลกำไรของเขา ซึ่งเมื่อไรที่บริษัทบุหรี่ได้ ก็คือสังคมไทยเสีย ตรงไปตรงมา