เหตุผลสำคัญ!หญิงตั้งครรภ์ฉีดโควิดวัคซีน ลดรุนแรง-ภูมิต้านทานส่งถึงทารก
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุหญิงตั้งครรภ์ฉีดโควิดวัคซีนเร็ว ภูมิต้านทานส่งผ่านสะดือถึงทารกยิ่งสูงมากขึ้น รผยติดโควิด-19 มีโอกาสเสี่ยงเข้าไอซียูมากกว่าทั่วไป 5 เท่า แถมทารกมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด-เกิดภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่อายุน้อย
เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2564 ในการแถลงข่าวรณรงค์หญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 1เดือน 1 แสนราย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก (SICRES) คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวในการเสวนา “สร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกรักด้วยวัคซีน”ว่า โรคโควิด-19 ไม่มีกลิ่น ไม่มีสีจึงไม่รู้ว่าจะได้รับเชื้อเมื่อไหร่ และไม่เลือกว่าตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้น มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สายพันธุ์เดลตาแพร่เชื้อค่อนข้างเร็ว ขนาดที่ต่างประเทศ ออกคำแนะนำว่าในที่สุดแล้วทุกคนในโลกมนุษย์คงจะได้มีโอกาสติดเชื้อแน่นอนในวันใดวันหนึ่ง จึงเป็นโรคที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน แต่เมื่อติดเชื้อแล้วจะทำอย่างไร เมื่อเข้าสู่ร่างกายถูกสกัดกั้นไม่ให้ป่วย ซึ่งวิธีเดียวคือต้องสร้างภูมิต้านทาน วิธีที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีน
ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์จึงต้องฉีดวัคซีน และต้องไม่เป็นโรค เพราะถ้าเป็นแล้วจะหนักกว่าคนไม่ตั้งครรภ์ มีโอกาสเข้าไอซียูสูงกว่าคนไม่ตั้งครรภ์ 5 เท่า และถ้าหากเทียบระหว่างตั้งครรภ์ด้วยกัน คนที่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อและตั้งครรภ์แล้วไม่ติดเชื้อ มีโอกาเสียชีวิตสูงกว่ามาก แถมทารกที่ออกมามีโอกาสคลอดก่อนกำหนด และมีโอกาสที่ทารกจะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตั้งแต่อายุน้อย แรกเกิดใหม่ๆ เพราะฉะนั้น ดีที่สุดคือหญิงตั้งครรภ์ต้องไม่ติดเชื้อหรือถ้าได้รับเชื้อจะต้องทำให้อาการน้อย อ่อนที่สุด จะต้องมีภูมิต้านทานป้องกันทั้งตัวแม่และลูก
ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวอีกว่า วัคซีนมีความปลอดภัยสูง มีการศึกษามาระดับหนึ่ง ทำให้เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่ายอมเสี่ยงติดเชื้อ และอาการข้างเคียงจากวัคซีนของหญิงตั้งครรภ์โดยทั่วไปจะน้อยกว่าหญิงไม่ตั้งครรภ์ด้วย เพราะว่าภาวะตั้งครรภ์ทำให้ปฏิกิริยาต่อวัคซีนลดน้อยลงด้วยซ้ำไป แต่การปฏิบัติก่อนไปรับวัคซีน ต้องทำตัวให้พร้อม พักผ่อนนอหลับให้เพียงพอ และไปรับวัคซีน รับเร็วก็จะดี เพราะภูมิต้านทานเกิดขึ้นเร็ว ฉีดก่อนป้องกันก่อน
“ถ้าฉีดวัคซีนป้องกันได้เร็ว ภูมิต้านทานผ่านสายสะดือที่จะส่งไปถึงทารกในครรภ์จะยิ่งสูงมากขึ้น และภูมิต้านทานจะออกในน้ำนมแม่ด้วย เพราะฉะนั้น ลูกออกมาก็กินนมแม่ ก็ได้รับภูมิต้านทานด้วย เป็นการป้องกันทั้งแม่และลูก”ศ.พญ.กุลกัญญากล่าว
ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวอีกว่า คุณแม่ทุกคนทั้งก่อน-หลังคลอด ควรได้รับภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีน แต่หากเป็นการตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์แรก อยากให้เลี่ยงการฉีดวัคซีนช่วงนี้ ซึ่งเป็นคำแนะนำจากราชวิทยาสูตินรีเวชแพทย์ ไม่อยากให้ฉีดวัคซีนใน 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งการที่พยายามหลีกเลี่ยง 12 สัปดาห์แรก เพราะช่วง 12 สัปดาห์จะมีการแท้งโดยธรรมชาติได้ง่าย ดังนั้น จึงพยายามหลีกเลี่ยง แต่ส่วนใหญ่เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครภ์ ก็ตั้งครรภ์ไปแล้วเกือบพ้นไตรมาสแรกแล้ว ส่วนใหญ่ใกล้ 12 สัปดาห์แล้ว แต่บางคนฉีดแล้วรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ซึ่งในต่างประเทศแนะนำให้ฉีดได้ไม่ว่าจะอายุครรภ์เท่าไหร่ แต่ในประเทศไทย สูตินรีแพทย์มีความระมัดระวัง ดังนั้น ถ้าเลี่ยงช่วงก่อน12สัปดาห์ได้ก็เลี่ยง แต่ฉีดแล้วรู้ตัวทีหลังว่าตั้งครรภ์ ก็ไม่ต้องกังวลใจเพราะวัคซีนมีข้อมูลว่าไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ หรือการตั้งครรภ์ผิดปกติ
สำหรับวัคซีนที่ฉีดในหญิงมีครรภ์ที่ได้รับการศึกษามากที่สุด คือ วัคซีนตระกูลmRNA ประเทศไทยที่มีให้บริการโดยกระทรวงสาธารศวุข คือ ของไฟเซอร์ ฉีดห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ระหว่างเข็มที่1และ 2 อย่างไรก็ดี วัคซีนตัวอื่นทั้งของแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ทางองค์การอนามัยโลกก็ให้คำรับรองว่าสามารถใช้ได้ถ้ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าเพราะไม่คุ้มที่จะให้ไปติดเชื้อ และในการฉีดสลับไขว้ ซิโนแวคและแอสตร้าฯ ก็เป็นสูตรที่สามารถใช้กับหญิงตั้งครรภ์ได้ด้วย ดังนั้น หากมีวัคซีนไฟเซอร์ก็จัดสรรให้ก่อน แต่ถ้าสถานพยายาลไม่มีไฟเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนของแอสตร้าฯ ซิโนแวคก็สามารถใช้ได้ เพราะฉะนั้น วัคซีนทุกตัวที่ใช้ในคนทั่วไปก็สามารถใช้ในหญิงครรภ์ได้ทุกชนิด