คำแนะนำของแพทย์ การฉีดวัคซีนป้องกัน "โควิด" ในเด็ก

คำแนะนำของแพทย์ การฉีดวัคซีนป้องกัน "โควิด" ในเด็ก

ถึงเวลาที่เด็กๆ ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด แต่ก็ยังข้อถกเถียงว่า วัคซีนชนิดไหนเหมาะสม จึงมีคำแนะนำจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (RCPedT.) ได้มีประกาศคำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ออกมาเผยแพร่ให้ทราบในวงกว้างผ่านทางโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ดังนี้

การฉีดวัคซีนในเด็ก

คำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ขึ้นไป (ฉบับที่ 3) วันที่ 22 กันยายน 2564 มีว่า

การให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่น

ในระยะแรกของการให้วัคซีนในเด็กและวัยรุ่น กำหนดให้ผู้มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้ เป็นผู้มีความเร่งด่วนอันดับต้นให้ได้รับวัคซีนชนิด mRNA ของบริษัท Pfizer BioNTech จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ขึ้นไป ได้แก่

คำแนะนำของแพทย์ การฉีดวัคซีนป้องกัน \"โควิด\" ในเด็ก

-เด็กและวัยรุ่นอายุ 16 -18 ปี ทุกรายที่ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน

-เด็กอายุ 12 -16 ปี ที่เป็น กลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว ที่อาจเกิดโรคโควิด -19 รุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้แก่

1) บุคคลที่มี โรคอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 35กิโลกรัมต่อตารางเมต หรือมีน้ำหนัก 70 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 12-13 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 13-15 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 15-18 ปีหรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น)

2) โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง

3) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง

4) โรคไตวายเรื้อรัง

5) โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

6) โรคเบาหวาน

7) กลุ่มโรคพันธุกรรมทั้งกลุ่มอาการดาวน์, เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง, เด็กที่มีพัฒนาการช้า

อ่านข่าว : โฆษกรัฐบาล ย้ำ 4 ต.ค. ดีเดย์ฉีดไฟเซอร์ให้นักเรีย

ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ติดตามข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ในเด็กและวัยุร่นเพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์ทางด้านสุขภาพของเด็กเป็นสำคัญดังนี้

-เด็กและวัยรุ่นที่มีสุขภาพดี อายุ 12 -16 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีน ชนิด mRNA ของบริษัท Pfizer BioNTech โดย

-เด็กและวัยรุ่นชาย รับวัคซีน เข็มที่ 1 และ ชะลอการให้เข็มที่ 2 ไปก่อน จนกว่าจะมาคำแนะนำเพิ่มเติม (เนื่องจากการฉีดเข็ม 2 ในเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าเข็มแรก จากกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ)

-เด็กและวัยรุ่นหญิง สามารถรับวัคซีน 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์

คำแนะนำของแพทย์ การฉีดวัคซีนป้องกัน \"โควิด\" ในเด็ก ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า

ตั้งแต่ 1 เมษายนถึง 15 กันยายน 2564 มีรายงานโรคโควิด-19 ในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี รวม 184,225 ราย มีรายงานการเสียชีวิต 31 ราย โดยพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในเด็ก ทุกกลุ่มอายุ แต่พบจำนวนผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 12 ปี-18 ปี

ในช่วงระหว่างวันที่ 9 ถึง15กันยายน 2564 พบรายงานผู้ป่วยเด็กทั้งหมด 16,427 ราย ในจำนวนนี้มีเด็กอายุ 1 เดือน-1 ปี เสียชีวิต 1 รายและอายุ 12 ปี-18 ปีเสียชีวิต 3ราย

แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยโรคโควิด-19ในเด็กจะต่ำ แต่พบมีรายงานผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกายที่สัมพันธ์กับการติดโรคโควิด-19 (Multisystem inflammatory syndrome in children, MIS-C) ในเด็กจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรง แม้ว่าเป็นเด็กที่ปกติแข็งแรงดี

ชนิดของวัคซีนที่ควรฉีด

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย มีคำแนะนำเพิ่มเติม สำหรับ เด็กและวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป ดังนี้

-แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยา(อย.) ให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งในขณะนี้ (22กันยายน2564) มีวัคซีนชนิดเดียวที่มีในประเทศไทยคือ ชนิด mRNA ของบริษัท Pfizer BioNTech

และเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 วัคซีนชนิด mRNA ของ Moderna ได้รับการรับรองเพิ่มเติม (แต่ยังไม่มีวัคซีนนี้ในประเทศไทย)

-สำหรับวัคซีนชนิดเชื้อตายของ Sinopham และ Sinovac อยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อมูลเรื่องการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในเด็ก และขณะนี้ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่น

-แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ได้รับการรับรองโดย อย. 2 เข็มห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ในเด็กและวัยรุ่นทุกคนที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป และเด็กและวัยรุ่นทุกคนที่อายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด-19 รุนแรง ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ให้ไว้ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2564

คำแนะนำของแพทย์ การฉีดวัคซีนป้องกัน \"โควิด\" ในเด็ก อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

จากข้อมูลของ Vaccine Adverse Event Reporting System (VAERS) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึง 18 มิถุนายน 2564 ในสหรัฐอเมริกา รายงานว่า พบอัตราการเกิดอาการข้างเคียงของระบบหัวใจใน เด็กและวัยรุ่นชายในกลุ่มอายุ 12-16 ปี ว่ามีอัตรา 162.2 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มสองหนึ่งล้านโดส

ขณะที่รายงานอัตราอาการข้างเคียงของระบบหัวใจใน เด็กและวัยรุ่นหญิงกลุ่มอายุเดียวกัน พบในอัตราต่ำกว่ามากคือ 13 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มสองหนึ่งล้านโดส

แล้วยังรายงานว่า การฉีดวัคซีน ชนิด mRNA ของบริษัท Pfizer BioNTech 1 เข็ม และ 2 เข็มมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 จากสายพันธุ์เดลต้าได้ร้อยละ 36 และ 88 และป้องกันการติดโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้สูงถึงร้อยละ 94 และ 96 ตามลำดับ

-แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ใน เด็กอายุตั้งแต่ 12 -16 ปี ที่อาศัยร่วมบ้านกับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

-แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่ครูและบุคลากรทุกระดับในโรงเรียนและสถานศึกษาทุกคน และสมาชิกร่วมบ้านของบุคลากรทุกคน และแนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่ผู้ปกครองและสมาชิกในครอบครัวของเด็กทุกคน

-ส่งเสริมให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัดในโรงเรียนและสถานศึกษาตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค

การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ควรเป็นความสมัครใจ

-การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นเป็นความสมัครใจของตัวเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งควรได้รับการยอมรับ เด็กและวัยรุ่นทุกคน ควรได้ไปโรงเรียนและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าเด็กและวัยรุ่นจะได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่ หรือได้รับวัคซีนขนิดใด

-แนะนำให้งดออกกำลังกายอย่างหนักหรือทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ภายหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 ชนิด mRNA เนื่องจากมีรายการการเกิดผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ถึงแม้จะพบในอัตราต่ำ แต่ควรหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ในเวลาดังกล่าวนี้ หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย หรือหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์ หากแพทย์สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ควรพิจารณาตรวจค้นเพิ่มเติม

.........................

ติดตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยได้ที่ www.thaipediatrics.org