10 ข้อวัยเกษียณ ป้องกันโควิดขั้นสูงสุด

10 ข้อวัยเกษียณ ป้องกันโควิดขั้นสูงสุด

กรมอนามัย แนะผู้เกษียณอายุราชการปรับตัวตามแนวทางวิถีชีวิตใหม่   (New Normal) ใช้ 10 หลักปฏิบัติ เพื่อดูแลสุขภาพตนเองขั้นสูงสุดแบบครอบจักรวาล Universal Prevention ป้องกันโควิด-19

นพ.สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ประชาชนก็ยังคงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้เกษียณอายุที่ก้าวสู่วัยผู้สูงอายุ ควรมีการปรับตัวตามแนวทางวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ภายใต้การป้องกันตนเองขั้นสูงสุดแบบครอบจักรวาล Universal Prevention ป้องกันโควิด-19 ตามหลัก    
       10 ข้อปฏิบัติดังนี้ 1) ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น 2) เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ทุกสถานที่ 3) สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งนอกบ้านและในบ้านและเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น 4) ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 5) หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากาก ใบหน้า ตา ปาก จมูก

    6) ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังให้เลี่ยงออกนอกบ้าน 7) ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวที่สัมผัสบ่อย ๆ  8) แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น 9) งดกินข้าวร่วมกันและเลือกกินอาหารที่ร้อนหรือ  ปรุงสุกใหม่ และ 10) หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรตรวจด้วย ATK หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
      นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า  ด้านการดูแลสุขภาพผู้เกษียณควรมีการเตรียมตัวหรือการวางแผน เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ที่หลากหลาย ไม่จำเจ เลือกกิน  ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ เพื่อให้ได้วิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร กินผักและผลไม้เป็นประจำ เพื่อให้ได้รับวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เค็มจัด และกินอาหารสะอาด ปราศจากการปนเปื้อน

     รวมทั้ง ดื่มนมเป็นประจำวันละ 1 แก้ว เพื่อให้ได้รับแคลเซียม และวิตามินต่าง ๆ อย่างเพียงพอ หากมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก ควรดัดแปลงอาหารให้อ่อนนิ่ม หรือมีขนาดเล็ก และควร   ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที มากกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ ไม่ควรออกกำลังกาย  ที่ใช้แรงกระแทก โดยเฉพาะข้อเข่าเพราะจะทำให้เข่ารับน้ำหนักมากขึ้นจนเป็นสาเหตุของข้อเข่าเสื่อม
     “ต้องให้ความสำคัญกับด้านจิตใจและสังคมสำหรับการดูแลวัยเกษียณด้วย เพราะทุกอย่างล้วนเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลกันส่งผลให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมองเห็นคุณค่าของตนเองอย่างภาคภูมิใจ มีการเตรียมความพร้อมของที่อยู่อาศัย จัดบ้านและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัย   เพื่อลดอุบัติเหตุและอันตรายต่างๆ เช่น ใช้วัสดุกันลื่นในห้องน้ำ มีราวจับ ใช้โถส้วมแบบนั่งราบ จัดบ้านให้โล่ง และอากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมถึงการเตรียมสะสมเงินสำรองไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ และประมาณการรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน จะช่วยลดปัญหาและภาวะเครียดจากค่าใช้จ่ายที่ไม่พอใช้ได้ ส่วนลูกหลาน  และญาติ ควรหาเวลาเพื่อพบปะหรือโทรศัพท์ถามทุกข์สุข ก็จะช่วยให้ผู้เกษียณไม่เหงาและป้องกันภาวะซึมเศร้าได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว